อัสลีมาลา คือคณะดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน รองเง็ง ภาคใต้ อยู่ที่จังหวัดสงขลา

อาจารย์อภิชาติ คัญทะชา นักดนตรีรุ่นก่อตั้ง อธิบายว่าอัสลีมาลาเป็นภาษามลายู แปลว่าความงดงามราวดอกไม้บานของจังหวะดนตรีรองเง็ง “อัสลี” แปลว่า โบราณเก่าแก่ดั้งเดิม “มาลา” เป็นคำภาษาไทยภาษาสันสฤต แปลว่าดอกไม้ รวมกันโดยนัยยะคือดอกไม้เก่า ซึ่งตีความถึงความงดงามของอดีตที่ได้รับการเผยแพร่โดยคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน

คณะอัสลีมาลารวมวงมาเกือบ 20 ปีแล้ว ได้รับความรู้ด้านดนตรีและการแสดงพื้นบ้านรองเง็งจากปรมาจารย์ด้านต่างๆ มาฝึกฝนต่อยอด เรียนรู้ดนตรีรองเง็งจาก ท่านอาจารย์ขาเด เวเด็ง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงดนตรีพื้นบ้าน อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

น้องพริมกับฆ้อง เครื่องดนตรีแรกที่ฝึกตี

การได้เรียนรู้กับนักไวโอลินที่มีความสามารถสูงมากซึ่งถ่ายทอดอารมณ์ของเพลงรองเง็งได้ลึกซึ้งตรึงใจทำให้อัสลีมาลาเป็นที่โดดเด่นทางดนตรีเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ยังมีอาจารย์เซ็ง อาบู ศิลปินแมนโดลินคนสำคัญอีกท่านที่ถ่ายทอดเพลงรองเง็งเก่าแก่ดั้งเดิมให้นักดนตรีรุ่นใหม่ศึกษา แมนโดลินเป็นเครื่องดนตรีที่ให้ท่วงทำนองรองจากไวโอลิน อีกท่านเล่นแอคคอเดี้ยน อาจารย์อาแซ ยะโก๊ะ ศิลปินชาวสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ทุกท่านล้วนแล้วแต่เป็นปูชนียบุคคลในแวดวงดนตรีรองเง็งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ทางด้านศิลปะการแสดง มี ครูบุ่ย กรองเกียรติ สุขะทรานนท์ ศิลปินรองเง็งจังหวัดปัตตานี ถ่ายทอดท่าเต้นรองเง็งในแบบฉบับของ ท่านขุนจารุ วิเศษศึกษากรณ์ ผู้ฟื้นฟูท่าเต้นรองเง็งให้เป็นแบบมาตรฐาน ได้รับการศึกษาและสอนในสถานศึกษาในสมัยนั้นสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

รวมไปถึง ครูเชาว์ จันทรจิต ศิลปินรองเง็งที่มีความสามารถโดดเด่นเรื่องการเต้น นักเต้นของอัสลีมาลามีโอกาสเรียนรู้เทคนิคการเต้นเพลงรองเง็งในท่าต่างๆ จากครู 2 ท่านนี้








Advertisement

คุณพ่ออภิชาติ

หากมองความสำเร็จของอัสลีมาลาในวันนี้จะเห็นภาพครูบาอาจารย์ทุกท่านอยู่เบื้องหลัง
อาจารย์อภิชาติกล่าวอีกว่า “อัสลีมาลาเรานำเอาเรื่องราวในวิถีชีวิต การละเล่นต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดเผยแพร่ผ่านการแสดงที่ผู้ชมรับรู้และเข้าใจได้ง่ายในระยะเวลาสั้นๆ เหมาะกับยุคสมัย”

ไม่เพียงแต่มีชื่อเสียงในจังหวัดสงขลาและสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อัสลีมาลายังมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ โดยเมื่อ 3 ปีที่แล้วคณะอัสลีมาลาได้รับเชิญไปร่วมแสดงที่เมืองเมดัน ประเทศอินโดนีเซียและหลายงานที่ประเทศมาเลเซีย จึงเกิดเครือข่ายศิลปินที่ทำงานเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องการแสดงดนตรีรองเง็งทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเพื่อนบ้านอีกหลายประเทศ

คุณแม่ทัศนียา

คณะอัสลีมาลามีนักดนตรีมาหลายรุ่น จนวันหนึ่งมีดาวดวงน้อยส่องประกาย น้องพริม ด.ญ.ญาณิษชา คัญทะชา ลูกสาวอาจารย์อภิชาติและ อาจารย์ทัศนียา คัญทะชา ผู้ต่อยอดเผยแพร่ดนตรีและการแสดงรองเง็งมาจากครูอาจารย์ทุกท่านที่เอ่ยนามไปแล้ว

น้องพริมเห็นพ่อเล่นดนตรีมาแต่เด็กจึงเริ่มหัดตีฆ้องและรำมะนาจนคล่องมือ ในวันที่เธอโตขึ้นยังมีความสามารถในการขับร้อง ปีนี้เธอรับตำแหน่งนักร้องในวงดนตรีของพ่อ ดอกไม้น้อยผลิบานขึ้นในคณะอัสลีมาลา และเปล่งประกายฉายแสงจนรายการทุ่งแสงตะวันต้องติดตามมาออกอากาศในตอน

“ดอกไม้น้อย อัสลีมาลา” เช้าวันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน 2566 ทางช่อง 3 กด 33 เวลา 05.05 น. และหลังจากนั้นในเวลา 07.30 น. รับชมได้ทางเพจเฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน และยูทูบ

ซ้อมทบทวนก่อนการแสดง

ร้อง เต้น เล่นดนตรีรองเง็ง

ในชุดสวย ตำแหน่งนักร้องนำ

กับพี่ๆ คณะอัสลีมาลาและคุณพ่อ

น้องพริมและคณะอัสลีมาลา

 

———————————————————————————————————
วสวัณณ์ รองเดช รายงาน
———————————————————————————————————

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน