รายงานพิเศษ

การดื่มแอลกอฮอล์นั้นนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งความรุนแรงในครอบครัว และอุบัติเหตุทางถนน แม้ที่ผ่านมาจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาควบคุมดูแลก็ยังมีตัวเลขการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์ที่สูงอยู่

โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าวและในฐานะกระทรวงหลักที่ดูแลในเรื่องแอลกอฮอล์จึงจัดงาน “1 ทศวรรษ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551”

โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้แทนแพทยสมาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย มาร่วมงาน

การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขที่ถือเป็นปัญหาระดับชาติและเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องช่วยกันแก้ไข โดย พ.ร.บ.ดังกล่าว จะครบรอบ 10 ปี ในวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา

ซึ่งได้สร้างมาตรการในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดปัญหาและ ผลกระทบด้านสังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนไทยให้ห่างไกล รู้เท่าทัน รวมถึงตระหนักถึงพิษภัยของ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ให้เข้าถึงได้โดยง่าย เช่น ห้ามจำหน่ายในสถานที่ราชการ สถานศึกษาและสถานีขนส่ง เป็นต้น

ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน เวลาอื่น นอกจากเวลา 11.00?14.00 น. และ 17.00?24.00 น.

หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี บริบูรณ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จำกัดสถานที่ห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย และห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อ เครื่องหมายของเครื่องดื่ม อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ ชักจูงให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า เรื่องแอลกอฮอล์นั้นเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่มุ่งหวังจะแก้ไขปัญหาให้ได้โดยเร็ว เนื่องจากที่ผ่านมาทั้งการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ล้วนมีสาเหตุมาจากการดื่มเหล้าทั้งสิ้น เราควรอย่างยิ่งที่จะสร้างทัศนคติ เปลี่ยนความคิดให้คนรุ่นใหม่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ คนรุ่นเก่าเองก็สามารถช่วยได้โดยการเป็นต้นแบบให้คนรุ่นใหม่ด้วย เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรใดองค์กรหนึ่งแต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะช่วยกัน เมื่อได้ความร่วมมือจากทุกคนเรื่องนี้จึงจะประสบความสำเร็จ อีกทั้งพ.ร.บ.ตัวเดิมที่มีอยู่แล้วก็ยังดีอยู่ เพียงแต่ต้องพยายามทำให้เกิดผล

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เรื่องของการตลาดที่พัฒนามีการหาช่องทางใหม่ๆ เพื่อการโฆษณานั้น เราก็ต้องตามการตลาดให้ทัน ส่วนเรื่องของโลโก้ที่มีการใช้เหมือนกันในหลายสินค้านั้น ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายกำลังตรวจสอบอยู่ รวมไปถึงการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เครื่องขายอัตโนมัติ เคยตรวจพบด้วย กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาร้านค้าปลีกที่มีการขายในรูปแบบ ดังกล่าวอยู่

ปัญหาเรื่องแอลกอฮอล์นั้นหากทุกส่วนร่วมใจช่วยกันแก้ปัญหา ตัวเลขของการเกิดอุบัติเหตุ ยอดผู้บาดเจ็บและยอดผู้เสียชีวิตก็จะ ลดลงไปด้วย

ถือเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั้งสิ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน