สำนักข่าวเสียงเด็กที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำงานด้านการสื่อสารชุมชนกับคนในอำเภอขนอม โดยฝึกให้เด็กและเยาวชนทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารสาธารณะได้ด้วยตัวเอง ชวนเด็กๆ มาเรียนรู้กระบวนการ ลับคมมุมมองประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่บ้านเกิดของตนเอง

ขนอมเป็นเมืองที่มีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลาย ครบครันทั้งภูเขา ทะเล ป่าชายเลน ป่าพรุ พื้นที่ชุ่มน้ำ และชายฝั่งทะเลที่ยาวกว่า 10 กิโลเมตร จึงมีประเด็นที่น่าหยิบยกมาเรียนรู้มากมาย กิจกรรมที่เพิ่งผ่านไปหลักๆ คือการสำรวจอ่าวดินเลนและสัตว์ทะเลชายฝั่ง

โฟกัส ด.ญ.ณิชกานต์ กนกแก้ว

มีเด็กและเยาวชนจากหลากหลายโรงเรียนในอำเภอขนอมร่วมเรียนรู้ เป้าหมายคือเมื่อรู้แล้วนำไปเผยแพร่ให้เพื่อนๆ ผู้ปกครองและสมาชิกชุมชนชาวขนอมตระหนักถึงสถานการณ์ ความเป็นไป จนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ทางธรรมชาติซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำมาหากินดำรงชีพของทุกๆ คนในอำเภอขนอม

ในอ่าวดินเลนที่ดูเหมือนไม่มีอะไรในสายตาเด็กๆ พอลงสำรวจกลับพบว่ามีอะไรมากกว่าที่คิด รู้ว่าใครบ้างเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากอ่าวดินเลนนี้ ใครกินใคร ใครเป็นอาหารของใคร

ธิชา ด.ญ.กันธิชา เจสตี้

โฟกัส ด.ญ.ณิชกานต์ กนกแก้ว บอกว่าปูปลาที่ตัวเองชอบไปตกแถวชายฝั่งมีอ่าวดินเลนเป็นแหล่งฟูมฟักที่สำคัญ “ในอ่าวดินเลนมีสัตว์ทะเล พวกกุ้ง หอย ปู ปลา ได้เห็นว่าสัตว์ต่างๆ มันกินกันเองด้วย เช่น หอยกินหอย นกกินปลา นกกินหอย แล้วใครเป็นผู้ที่อยู่สูงสุดของห่วงโซ่อาหาร ก็คนเรานี่แหละค่ะ”

ด.ญ.กันธิชา เจสตี้ หรือ ธิชา กล่าวว่า “ใต้เลนมีสัตว์ที่น่าทึ่งอยู่มากค่ะ ดินเลนนุ่มมาก ขนาดหนูนั่งทับแมงดาไปไม่รู้ตัว เวลาเดินไปเท้าก็เหยียบหอยเต็มไปหมด ไม่รู้ตั้งกี่ชนิด”

วิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาจากมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย คือ คุณวิชา นรังศรี มาแนะนำเทคนิควิธีการเก็บตัวอย่างสัตว์หน้าดินเลนที่ถูกต้อง ในครั้งต่อไปเด็กๆ ขนอมต้องช่วยกันเก็บข้อมูลอีกหลายครั้งเพื่อเป็นฐานข้อมูลทรัพยากรชุมชน ทำซ้ำบ่อยๆ จนคุ้นเคยชำนาญและเข้าใจ

ตัดต่อคลิปลงโซเชียลมีเดีย

เด็กๆ เรียนรู้เร็วและสนุกสนานในการเก็บตัวอย่าง เล่นไปเรียนรู้ไป แต่ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและนำไปอ้างอิงได้

โฟกัสเรียนรู้สิ่งใหม่หลายอย่าง “มีนกหลายชนิดมาหากินตอนน้ำลง บางตัวปากสั้น บางตัวปากยาว ยาวมากๆ ถึง 20 เซ็นต์ก็มี มันเอาปากจิ้มหาอาหารในดินเลน เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องขุดลึกลงไปถึง 20 เซ็นต์ ก็เพราะใต้นั้นมีอาหารค่ะ”

บางทีอาหารนก อาหารคน ก็เป็นสิ่งเดียวกัน แต่โฟกัสกับธิชาบอกว่า “เราไม่กินครูของเรา” ดังนั้นสัตว์ที่เก็บตัวอย่างมาเรียนรู้แล้วไปไหนต่อ “ปล่อยคืนทะเลค่ะ เราไม่เอาไปเป็นอาหาร เพราะเขาเป็นครูของเรา แต่บางตัวบอบบาง ตายไปก็มี เช่นพวกหนอน เพราะมันตัวเล็กมากๆ ค่ะ”

อ่าวดินเลนบ้านเขาออกวันน้ำลง

เด็กๆ ได้มาเรียนรู้ว่าทรัพยากรในอ่าวดินเลนหน้าบ้านผูกโยงกับชีวิตคนในครอบครัว คนที่หาอยู่หากินกับทะเลรวมถึงตัวเองอย่างไรบ้าง วิถีชีวิต เศรษฐกิจชุมชน ความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นตรงนี้

หากวันข้างหน้าอ่าวดินเลนที่อุดมสมบูรณ์ของขนอมจะเปลี่ยนสภาพไปในนามของการพัฒนาคงน่าเสียดาย มดลูกของทะเลอันเป็นแหล่งกำเนิดบ่มเพาะสัตว์ทะเลต่างๆ คือความมั่นคงทางอาหารที่ทุกคนควรช่วยกันรักษาเอาไว้

มารู้จักเพื่อนตัวจิ๋วในอ่าวดินเลนในกิจกรรมรักษ์ทะเล Play&Learn เรื่องราวจากขนอม นครศรีธรรมราช ในรายการทุ่งแสงตะวัน เสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2566 ทางช่อง 3 กดหมายเลข 33 เวลา 05.05 น. และทางเพจเฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน ยูทูบ payai TV เวลา 07.30 น.

ลูกแมงดาตัวผู้

ปูก้านตายาว

หอยที่เด็กๆ ไม่รู้จัก ต้องนำไปศึกษาต่อ

พบหอยหลากหลายชนิด

สำรวจ เล่นและเรียนรู้

Play & Learn เรื่องราวจากขนอม นครศรีธรรมราช

 

————————————————————————————————————-
วสวัณณ์ รองเดช รายงาน
————————————————————————————————————-

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน