กินข้าวห่อ งานประเพณีคู่ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์แห่งหุบเขาตะนาวศรี บ้านห้วยผาก อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ภาพความครื้นเครง สนุกสนาน กลมเกลียว เกิดขึ้นเช่นนี้ทุกปีเมื่อย่างเข้าสู่เดือนเก้า

พี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยง “โปว์” หรือ “โผล่ว” มีความเชื่อว่าเดือนเก้าเป็นเดือนที่ไม่ดี เป็นช่วงเวลาหากินของเหล่าวิญญาณชั่วร้าย ทำให้พบเจอเหตุการณ์ร้ายๆ เจ็บไข้ได้ป่วย ขวัญเสียกระเจิดกระเจิงหนีหาย จึงต้องมีพิธีเรียกขวัญ

น้องเนย

ขวัญ คือสิ่งที่อยู่ประจำตัวทุกคนมาตั้งแต่เกิด ถ้าขวัญอยู่กับตัวก็จะอยู่เย็นเป็นสุข หากผจญภัย ทุกข์ยาก ไปทำงานต่างหมู่บ้านต่างถิ่นก็ควรกลับบ้านมาสู่ขวัญ แต่ละหมู่บ้านนัดหมายวันจัดไม่ให้ตรงกันเพื่อจะได้มีโอกาสเยี่ยมเยือนญาติต่างหมู่บ้าน

“อั้งแปลว่ากิน ส่วนหมี่ถ่องแปลว่าข้าวห่อ อั้งหมี่ถ่องก็แปลว่ากินข้าวห่อค่ะ” น้องเนย ภาวินี ทองคล้าย เด็กหญิงชั้นป.5 มาร่วมงานกินข้าวห่อทุกปี ส่วนใหญ่เด็กๆ จะได้รับมอบหมายให้ช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ แต่ปีนี้ผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมประเพณีตั้งแต่เริ่มเตรียมงาน

“งานกินข้าวห่อมี 3 วันค่ะ วันแรกจะเป็นวันห่อข้าว คนทั้งหมู่บ้านจะมาช่วยกัน วิธีการห่อข้าวก็ใช้ใบตองมาห่อเป็นกรวยค่ะ ใส่ข้าวเหนียวแล้วมัดปิดด้วยเส้นตอก ต้องมัดให้แน่นที่สุด ไม่เช่นนั้นตอนต้มข้าวจะหลุดออกหมด”

ฝึกห่อข้าวกับยายๆ

2 วันก่อนงานกินข้าวห่อ คือวันห่อ และวันต้ม กลุ่มผู้ใหญ่จะมาช่วยกันจัดเตรียมงาน เตรียมใบตอง ข้าวเหนียว เส้นตอก พร้อมระดมแรงช่วยกันห่อคนละไม้คนละมือ เมื่อห่อเสร็จจะแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืนก่อนนำมาต้ม

กล้วย ด.ญ.กานต์สินี ทุมะ ชั้นป.6 บอกว่า “กว่าจะสุกต้องต้มกันนาน 3 – 5 ชั่วโมงเลยค่ะ ต้มเสร็จ อีกอย่างที่ต้องเตรียมคือน้ำจิ้มค่ะ มีมะพร้าวขูด น้ำตาลปี๊บ ช่วยกันเคี่ยวจนได้ที่ น้ำจิ้มมีรสชาติหวานมัน กินกับข้าวห่ออร่อยมากค่ะ”

การได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ถือเป็นนาทีทองที่จะช่วยปลูกความรักความภาคภูมิใจในคุณค่าสิ่งที่มีในชุมชนให้งอกงามลงในใจเด็กๆ กล้วยและเพื่อนๆ บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าปีนี้ไม่เหมือนปีไหนๆ เพราะได้ทดลองลงมือทำน้ำจิ้มด้วยตัวเอง เห็นกระบวนการตั้งแต่เริ่มเตรียมฟืน เตรียมไม้ระกำสำหรับเคี่ยว ปอกขูดมะพร้าว ก่อนลงแรงช่วยกันเคี่ยววนจนเหนียวเป็นหน้ากระฉีก

หน้าตาข้าวห่อกะเหรี่ยง

“ขั้นตอนนี้ต้องอดทนมากๆ ค่ะ เพราะร้อนมาก น้ำตาไหลเลย ไม่ใช่เพราะซึ้งนะคะ แต่ควันเข้าตา”
เมื่อวันกินข้าวห่อมาถึง ภาพทุกคนในหมู่บ้านพร้อมใจกันใส่เสื้อกะเหรี่ยงสีสดสวยและโสร่งสีสะดุดตา ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กน้อยตัวเล็ก ลูกหลานครอบครัวล้อมวงเพื่อผูกด้ายแดงรับขวัญจากพ่อเฒ่าแม่เฒ่า เมื่อขวัญกลับมาอยู่กับตัวแล้วก็ถึงเวลากินข้าวห่อ

“ก่อนผูกข้อมือเขาจะเคาะเรียกขวัญก่อนครับ ตอนที่ยายผูกยายจะพูดว่าขวัญเอ๋ย ขวัญมา มาอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา มาอยู่กับครอบครัว คนแถวๆ บ้านก็จะมาให้ยายผูกมือเรียกขวัญกันครับ บางคนไปทำงานข้างนอกไกลๆ ก็ได้กลับบ้านมาวันนี้ครับ”

เด็กหญิงกล้วย

ด.ช.เจตน์ เจริญสุข ชั้นประถม 6 บอกเล่าขณะร่วมวงกินข้าวห่อพร้อมกับน้องชายน้องสาวในชายคาบ้านหลังอุ่น ก่อนจะกล่าวทิ้งท้ายว่า “อยากให้มีทุกปีครับ จะได้กินข้าวห่อ มันอร่อย”

3 วัน 3 คืน ของงานกินข้าวห่อ ประเพณีดั้งเดิมของคนกะเหรี่ยงโปว์ในแถบตะวันตกคือราชบุรี เพชรบุรี ภาพอันสวยงามและน่าประทับใจนี้มีเพียงปีละครั้ง ทุ่งแสงตะวันบันทึกภาพมาให้ชมกันในเช้าวันเสาร์ที่ 16 กันยายน เวลา 05.05 น. ทางช่อง 3 กด 33 และเวลา 07.30 น. ทางเพจเฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน และยูทูบ payaiTV

เคี่ยวน้ำจิ้ม

ยายผูกข้อมือรับขวัญเจตน์

ขวัญเอ๋ย ขวัญมา

ข้าวห่อ กินแกล้มน้ำจิ้ม

น้องเจตน์

 

————————————————————–
กนกวรรณ อำไพ
————————————————————–

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน