การทำประมงชายฝั่งใช้อุปกรณ์หลากหลายตามชนิดของสัตว์น้ำหรือสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ฤดูไหนเมื่อไรจะใช้อะไร วิธีการใด ที่ไหน เป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมเรียนรู้ต่อกันมา และแน่นอนส่วนหนึ่งมาจากการสังเกตธรรมชาติ

ชายฝั่งทะเลขนอม นครศรีธรรมราช ความยาวกว่า 10 กิโลเมตร เต็มไปด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายเป็นอย่างยิ่ง ชุมชนประมงชายฝั่งขนอมมีวิธีการหาอยู่หากินสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต ที่น่าสนใจคือการชักเฮ่

ชักเฮ่ เป็นภาษาถิ่นสำเนียงใต้ เป็นวิธีการทำประมงชายฝั่งด้วยการใช้อวนล้อมจับปลาริมชายหาด ในสมัยก่อน เฮ่หรืออวนมีขนาดใหญ่ เพื่อนบ้าน คนในชุมชนจะมาช่วยกันชักเฮ่ ชักครั้งเดียวได้ปลามากพอแบ่งปันกันทั่วหน้า และเพราะน้ำหนักปลาในอวนเมื่อลากผ่านน้ำมันหนัก จึงต้องเปล่งเสียง เฮ่ๆๆ เรียกพละกำลังทั้งกายและใจ เป็นที่มาของคำว่าชักเฮ่ อีกนัยยะหนึ่ง

ชักเฮ่ หรืออวนเข็น ในภาษากลาง หมายถึงอวนทับตลิ่ง ในปัจจุบันอวนทับตลิ่งเป็นการทำประมงที่ถูกบัญญัติว่าผิดกฎหมาย หากแต่ในวิถีชีวิตจริงไม่มีใครชักเฮ่เป็นอาชีพ ไม่มีใครชักเฮ่เพื่อการค้า มีแต่การชักเฮ่พอมื้อพอแกง ช่วยกันชักและแบ่งปันกันไปในแต่ละมื้ออาหาร ความรุ่มรวยของทรัพยากรท้องทะเลไม่ได้ทำให้คนขนอมกอบโกยจากการชักเฮ่

นอกเหนือจากนั้น การชักเฮ่ยังแฝงไว้ด้วยความร่วมไม้ร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจ ความสามัคคี เอื้ออาทร แบ่งปันกันในชุมชน ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีงามต่อกัน

จะเชื่อหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยตาตัวเองว่าทะเลขนอมนั้นมากมายไปด้วยทรัพยากร สัตว์น้ำ สมดังเป็นมดลูกของทะเล ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ นายกอบต. ครู ชาวบ้าน เจ้าของ รีสอร์ต ชาวประมง ชาวสวน พ่อบ้าน แม่บ้าน ใครก็ตาม ถือเฮ่ลงไปชายหาดในวันที่น้ำทะเลเป็นใจ ล้อมเฮ่เข้าฝั่งอีกทีมีปลากระบอกตัวโตๆ ติดมาตลอดแนวเฮ่ นอกจากปลากระบอกที่มักได้จากชายฝั่งยังมีปลาอื่นๆ หลากหลายชนิด มีหมึก กุ้ง ปู ติดมาอย่างว่าง่าย

วายุ ด.ช.อภิมงคล กำแพงเพชร กับตั้ล ด.ช.กันตวิชญ์ แซ่เดี่ยว ชอบตามมาชักเฮ่กับผู้ใหญ่เพราะสนุกที่ได้คอยลุ้นว่าจะได้ปลาอะไร กี่มากน้อย

“ยืนริมชายหาดแบบนี้ กวาดตามองไปในทะเล ถ้าเห็นก้อนอะไรดำๆ ที่ผิวน้ำ ลงเฮ่เลยครับ เราจะได้ปลากระบอก” เด็กชายป.5 บอกอย่างนั้น เด็กๆ กำลังเรียนรู้วิถีประมงพื้นบ้านที่พอเพียงจากรุ่นใหญ่

วายุยังบอกอีกว่า “ชักเฮ่ก็สนุก แต่ผมก็ชอบตกปลาด้วย ผมนี่เวลาไม่หวังมักจะตกได้ แต่ถ้าวันไหนอยากตกได้ปลาจริงๆ มักจะไม่สมหวัง” วายุพูดติดตลก โชคชะตาก็มีส่วน คนตกปลาใช่ว่าจะได้ปลากินทุกครั้งไป

สิ่งสำคัญคือ “ถ้ามีปลาตัวเล็กๆ ติดอวนมา เราจะปล่อยลงทะเล เลือกเอาเฉพาะขนาดพอกินเท่านั้นครับ” ด.ช.ตั้ล บอกอย่างนี้ ลูกปลาเล็กปลาน้อยจึงมีโอกาสเติบโตต่อไป แหล่งอาหารของคนขนอมจึงยังอุดมสมบูรณ์ เป็นตู้กับข้าว เป็นคลังอาหารที่ยั่งยืน

วิถีการชักเฮ่ คือการทำประมงแบบพอเพียงและ แบ่งปัน การชักเฮ่ไม่ได้ทำได้ในทุกๆ วัน หากเป็นเวลาที่ทะเลไม่มีคลื่นและเป็นช่วงน้ำเริ่มขึ้น ชาวบ้านเรียกว่าเป็นช่วงที่น้ำดีและน้ำเดิน จะมีกุ้งปลาปูหอยมากเป็นพิเศษ จึงเหมาะสมแก่การชวนกันมาชักเฮ่ ภูมิปัญญาเหล่านี้เป็นวิถีที่เด็กๆ ชาวขนอมจะต้องฝึกหัดเรียนรู้กันต่อไป

พบการชักเฮ่ ลงน้ำ รอลุ้น วิถีประมงชายฝั่งอ่าวไทย ในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน ชักเฮ่ วันเสาร์ที่ 23 กันยายน 2566 เวลา 05.05 น. ทางช่อง 3 กดหมายเลข 33 และ 07.30 น. ทางเพจเฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน และยูทูบ

วสวัณณ์ รองเดช

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน