“เสถียร จันทิมาธร”

กระบวนท่าของขงเบ้งต่อจิวยี่ครั้งนี้ “ยาขอบ” อ่านทะลุ โดยระบุว่า ขงเบ้งผู้รอบรู้ในภูมิประเทศสำคัญๆ แทบทั่วประเทศจีน จนอาจตั้งรับและรุกโดยใช้ภูมิประเทศเอาเปรียบข้าศึกได้เป็นเนืองนิตย์

ขงเบ้งผู้รอบรู้ชีวประวัติและงานของคนสำคัญที่มีชีวิตในพงศาวดารก่อนตน

ฉะนั้น เรื่องที่ว่าขงเบ้งงัดโคลงขึ้นมาว่าอย่างป้ำๆ เป๋อๆ โดยไม่รู้ว่านางเกียวก๊กโล่เป็นแม่ยายของใคร และไม่รู้ว่านางสองเกี้ยวคือ ไต้เกี้ยว กับ เสียวเกี้ยว เป็นเมียใครนั้น

ย่อมจะเป็นไปไม่ได้เป็นอันขาดทีเดียว

จะเรียกว่าขงเบ้ง “จุดไต้ตำตอ” ก็ได้ แต่จะได้เพราะความเซ่อซ่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้นหามิได้ หากเป็นการตำชนิดที่มองแล้วเพ่งเล่าว่า นี่คือตอสำคัญอันนั้นแน่ ไม่ผิดละนะ แล้วจึงลงมือเอาไต้ในมือตำโครมลงไปที่ตอนั้น

ก็แหละความขุ่นแค้นสำหรับชายที่หยิ่งด้วยเกียรติยศของชายนั้นในโลกนี้อันใดเล่าจะยิ่งใหญ่เสมอเหมือนกับที่ได้ยินข้อความล่วงเกินมาถึงหญิงอันเป็นสุดที่รักสุดเคารพของตน

โคลงที่จิวยี่ได้ยินกับหูอยู่บัดนี้แจ้งชัดกับใจเป็นอันแม่นยำแล้วว่า 2 หญิงที่โจโฉมาดหมายอยากจะได้ไปบำเรอกามารมณ์ที่แท้ก็คือ เมียตนและเมียนายตน น้ำมันที่ลอยดูสงบแน่นิ่งกระทบเปลวเพลิงเข้าแล้ว มันไม่อาจแน่นิ่งสงบอยู่ต่อไปได้

ยามเมื่อไฟโกรธลุกพึ่บขึ้นในอกกระนี้ จิวยี่ก็หมดความยับยั้งชั่งใจอย่างอื่น

ดังนั้น ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ทางการทูตจึงได้แก่เล่าปี่ อภินิหารของลิ้น 3 นิ้ว

แต่เป็นลิ้นปอง ทำให้เหตุการณ์ผันแปร โอละพ่อ หน้ามือเป็นหลังมือไปหมด

เป็นความสมหวังของขงเบ้งอย่างแน่นอน แต่ด้วยปัจจัยเพียงแค่การยั่วยุเท่านี้หรือ

บทสรุปของ “ยาขอบ” ใกล้เคียงเป็นอย่างมากกับการวิเคราะห์และสรุปของ “เลียวเจี่ย” ในหนังสืออันบุญศักดิ์ แสงระวี แปลเรียบเรียงมาเป็น “ขุดกรุสามก๊ก”

ขงเบ้งใช้วิธีดังต่อไปนี้

ประการ 1 จงใจพูดตรงข้ามเพื่อยั่วยุจิวยี่ ซึ่งจะทำให้ทัศนะที่ซ่อนเร้นของจิวยี่เผย ออกมาเร็วขึ้น สร้างผลสะเทือนอย่างกว้างขวางแก่ซุนกวนและคนอื่นๆ

ประการ 1 เน้นว่าเล่าปี่สู้รบอย่างโดดเดี่ยว ไม่กลัวความลำบาก และหาก ง่อก๊กยอมจำนนก็เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของตนเพียงฝ่ายเดียว ขงเบ้งอาศัยเรื่องเหล่านี้ตีกระทบถึงความหยิ่งในตัวเอง ของจิวยี่

ประการ 1 เสนอให้เกียวก๊กโล่ส่งลูกสาว 2 คนไปให้โจโฉอันเป็นการหยามน้ำหน้าจิวยี่โดยตรงจนตัดสินใจจะรบจนถึงที่สุด

ประการ 1 รักษาหน้าของจิวยี่ไว้ ปล่อยให้จิวยี่วิเคราะห์ปัจจัยในการรบชนะโจโฉด้วยตนเอง ในขณะเดียวกัน ยังเป็นการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเหล่าขุนนางทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊ของซุนกวน

คำถามอันมาจาก “เลี่ยวเจี่ย” คือ

การโต้แย้งกันคราวนี้เหตุใดขงเบ้งจึงไม่ยกเหตุผลเรื่องรบแล้วชนะมาพูดกลับหันไปพูดเรื่องที่ชวนให้เกิดความท้อแท้ทั้งนั้นเล่า

ประเด็นนี้สอดคล้องกับกรณี “ความขัดแย้งแตกต่างกันต้องใช้วิธีที่แตกต่างกันไปแก้ไข”

ลักษณะพิเศษของจิวยี่คนนี้ คือ เหี้ยมหาญ ทระนง ไม่ยอมจำนนต่อคนอื่น เขารู้ดีว่าการยอมจำนนโจโฉนั้นอัปยศ ไร้เกียรติ

จิวยี่เป็นถึงแม่ทัพผู้บัญชาการทหาร เมื่อเผชิญข้าศึกเกรียงไกร ใหญ่โตเช่นนี้จะต้องพิจารณาด้วยความสุขุมรอบคอบ ทำความเข้าใจความเห็นจากหลายๆ ฝ่ายให้แจ่มชัด รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกัน สุดท้ายจึงจะเผยความคิดของตนออกมา

ความขัดแย้งในโลกนี้มีความแตกต่างกันร้อยสีพันอย่าง แต่ละอย่างก็มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างกันออกไป ถ้าหากไม่ค้นคว้าลักษณะพิเศษดังกล่าวใช้วิธีแก้ไขความขัดแย้งแบบเดียวกันทั้งหมดก็มักจะต้องหัวชนกำแพง

ถ้าหากประสงค์จะทำงานให้ประสบความสำเร็จ ราบรื่น ต้องใช้รูปแบบแตกต่างกันต่อลักษณะพิเศษซึ่งแตกต่างกัน ดังคำพังเพยที่ว่า “ลูกกุญแจดอกไหนก็ใช้ไขแม่กุญแจดอกนั้น”

จะได้ไม่ต้องเดินบนหนทางคดเคี้ยว เสียเวลาเปล่า

เหมือนกับการวางทุกกลยุทธ์ยังความสำเร็จให้กับขงเบ้ง ยังประโยชน์ให้กับเล่าปี่ ครบถ้วนอย่างงดงาม เพราะในที่สุดทุกอย่างก็เดินไปสู่การทำศึกกับโจโฉ

ถามว่าความต้องการนี้เป็นของเล่าปี่ เป็นของขงเบ้งเท่านั้นละหรือ

คำตอบก็คือ มิได้เป็น “เป้าหมาย” ที่ขงเบ้งและเล่าปี่มีความต้องการ หากแท้จริงแล้วก็ต้องยอมรับว่า ซุนกวน และจิวยี่ก็คิดเหมือนกัน

ยิ่งโลซกยิ่งคิดและมีความแน่วแน่อย่างเป็นพิเศษ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน