แห่ชื่นชม สาวแชร์ฮาวทู แผนใช้เงินค่ากิน แค่เดือนละ 1,600 บาท กินกัน 2 คน ให้อยู่รอด เคล็ดไม่ลับรักษาของไม่ให้เสีย กินอย่างราชาทุกวัน

ต้องบอกว่า ยุคนี้เป็นยุคข้าวยากหมากแพง อะไรประหยัดได้ก็หยัด โดยเฉพาะค่าอาหาร ที่หลายร้านขึ้นราคารัว ๆ

งานนี้ ถ้าหากวางแผนไม่ดี ก็อาจจะส่งผลกับชีวิตประจำวัน ไลฟ์สไตล์ที่เคยอยู่ดีกินดีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยล่าสุด ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Amphika Chaikoed” ออกมามาแชร์ทริกเกี่ยวกับแผนการใช้เงิน โดยใช้เงินเพียง 1,600 บาท เป็นค่าอาหาร 2 คนต่อเดือน

เธอเขียนรีวิวไว้ว่า ได้ซื้อของสด อาหาร เช่น หมู ไก่ เนื้อ ลูกชิ้น ไข่ไก่ไซซ์ S เครื่องแก้ว เส้นแก้ว วุ้นเส้น เส้นหมี่ เส้นสปาเกตตี นม น้ำหวาน ผลไม้ ที่ห้างโลตัส โดยจะไปรอในช่วง 20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ทางห้างเคลียร์ของ และจะเริ่มแปะป้ายเหลือง ลดประมาณ 50-80%

เมื่อได้เนื้อสดมาแล้ว เธอเลือกที่จะหั่นใส่ถุงให้พอดีกับที่กิน และเอาถุงใส่กล่องแยกเอาไว้และแช่ช่องฟรีซ เมื่อจะกินก็เอาออกมาละลายน้ำแข็ง เพื่อลดของเสียไว

“รีวิว เงิน 1,600 ค่ากิน 2 คนใน 1 เดือนนนนนนนนน ฉบับคนมีตู้เย็นและเครื่องกรองน้ำ #แบบไม่กดดันตัวเอง ใน กทม. ที่อยู่ระแวก ม.ศรีปทุม ม.เกริก ม. ราชภัฏพระนคร

เราซื้อ หมู ไก่ เนื้อ ปลา ลูกชิ้น ไข่ไก่ไซต์s หรือเรียกง่ายๆว่าอาหารสด เครื่องเทศ เส้นแก้ว วุ้นเส้น เส้นหมี่ เส้นสปาเกตตี้ นม น้ำหวาน ผลไม้ ที่โลตัส เราไปช่วง 20.00 พวกอาหารสด มักจะได้ป้ายเหลือง ราคาลดไปได้เยอะมากกกกก 50% 80%

ข้าว เราดูตามโปรโมชั่น กับเทียบราคาร้านขายส่ง อันไหนข้าวดีถูกกว่า ก็จะเลือกอันนั้น เฉลี่ยเดือนละ 5 กิโล #บ้านเราข้าวเหลือตลอดเพราะมีกินอย่างอื่นด้วย (พวกเส้นเเห้งจะอยู่ได้นาน ซื้อมาเหลือเหมือนกัน)

ส่วนผัก ไปซื้อที่ #ตลาดยิ่งเจริญ ราคาถูกมาก ผักเป็นกำ 3กำ10บาท เป็นถุง20 = 3 ถุง50 ถ้าไปเจอตอนใกล้เก็บร้าน 18.30- 19.00 เหลือถุงละ10บาท ผักสลัดซื้อมาครึ่งโล (ถุงใหญ่มาก) กิโลละ50 ครึ่งโล25 บาทได้มาถุงเบิ้อเริ่ม ตอนค่ำแม่ค้าขยันแถมสุดๆ ได้ผักมาเยอะแยะหลากหลายมาก ๆ

นั่ง รถเมล์แดงเที่ยวละ 8 บาท นั่งรถเมล์แอร์ 15 บาท bts สายเขียวเที่ยวละ 15 บาท

#เมนูอาหาร มี2 แบบ หม้อใหญ่ กับทำเฉพาะเมนู
รายการอาหารส่วนมากของเราจะซ้ำๆเพราะ เลือกกินเลือกทำแค่อันที่ชอบ”

 

ในส่วนของเมนูอาหาร จะแบ่งออกเป็น 2 อย่าง ซึ่ง เธอยังได้แชร์เมนูทั่วไป ที่ทำกินเป็นครั้ง ๆ อีกด้วย เพื่อทั้งเดือนสลับกันไปในแต่ละวันไม่มีเบื่ออย่างแน่นอน ดังนี้

1. ประเภทที่เป็นเมนูหม้อใหญ่และอาหารที่ทำกินเป็นครั้ง ๆ ทั้งนี้เมนูแบบหม้อใหญ่ ทำครั้งเดียวกินได้หลายครั้ง ตักแบ่งใส่ตู้เย็น คือ

1. พะโล้

2. แกงส้ม (ตอนจะกินให้ทอดไข่เจียวหรือใส่เนื้อสัตว์ ก่อนเวฟหรือก่อนอุ่น)

3. ต้มจับฉ่าย

4. ต้มซุปไก่

5. มัสมั่น

6. แกงกะหรี่

7. ต้มข่าไก่

8. ต้มแซ่บ/เล้ง (ตอนจะกินค่อยเอามาปรุง)

9. ไก่ต้มน้ำปลา

10. ต้มจืด

11. น้ำพริกกะปิ (ใส่กล่องเล็ก ๆ)

 

เมนูทั่วไป ที่ทำกินเป็นครั้ง ๆ

1. ยำวุ้นเส้น/เส้นแก้ว/ลาบเส้นแก้วใส่เห็ด

2. สุกี้/ชาบูน้ำดำ

3. ผัดกะเพรา

4. กุ้งทอดกระเทียม ไก่ทอดกระเทียม หมูทอดกระเทียม (เปลี่ยนทุกอย่างตามความอยากกิน)

5. ทำน้ำซุปไว้ทำข้าวต้ม เมื่อจะกินแค่เอาของสดและข้าวลงไป

6. ข้าวตุ๋น ใส่ทุกอยากที่เหลือลงไปต้มให้นัว

7. สลัด จะโรล จะยำได้หมดเอาตามชอบ ส่วนมากเธอจะโรลกับลูกชิ้น ถ้ายำกินกับผลไม้

8. ข้าวน้ำพริกกะปิ ผักต้ม ผักทอด ไข่เจียว ไข่ต้มก็ได้ ถ้าเหลือน้ำพริกเยอะช่วงสิ้นเดือน เอาไปทำแกงรัญจวน

9. ปลาทอดราดน้ำปลา ปลานึ่งก็อร่อย ตำน้ำจิ้มแซ่บ ๆ

10. ข้าวไข่ดาว/ไข่ต้ม/ไข่เจียวราดซอส

11. ถ้าไข่ต้มเหลือเยอะ เอาไปทำไข่ลูกเขย

12. ยำไข่ดาว/ลาบไข่ดาว

13. ข้าวผัดไข่/ผัดหมู

14. ข้าวไข่ข้น

15. ข้าวไก่ทอด ทงคัตสึ/ไก่ทอดเทอริยากิ

16. ข้าวหน้าหมู/ไก่ (ต้มไข่ลวก)

17. ไข่ตุ๋น

18. ไข่กระทะ

19. ไข่น้ำ

20. ไก่ทอด เอามากินคู่กับน้ำจิ้มแจ่ว

21. ไก่ใต้น้ำ

22. เมี่ยงหมูสามชั้น

อย่างไรก็ดี เมื่อเผยแพร่ออกไป ก็กลายเป็นไวรัลทันที หลายคนเข้ามาชื่นชมถึงการวางแผนการจัดการเงินอย่างดีเยี่ยม แถมยังกินอยู่อย่างสบายอีกด้วย

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน