หลังจาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ไอจี ในบัญชีรายชื่อ tim_pita เป็นภาพตึกเก่าสไตล์ยุโรป พร้อมข้อความภาษาไทยว่า “บ้านเก่าคุณยาย” มาตั้งแต่เดือนพ.ค. ปี พ.ศ.2558 ก่อนจะลบทิ้งภายหลังในเดือนก.พ.2567

หลาก&หลาย - ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง-ปราจีนบุรี

กลายเป็นดราม่าบนโลกโซเชี่ยล เมื่อชาวเน็ตไทยไปสืบค้นลำดับญาติของนายพิธา ว่าเป็นคนไทยหรือคนเขมรกันแน่ พร้อมค้นหาข้อมูลของตึกเก่าในภาพ นั่นคือ “ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เมืองพระตะบอง” ประเทศกัมพูชา และ “ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี”

ตึกทั้ง 2 แห่ง ก่อสร้างโดย “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ผู้ได้รับการยกย่องจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง

หลาก&หลาย - ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง-ปราจีนบุรี

ประวัติความเป็นมา บันทึกว่า ในปี พ.ศ.2452 ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ถนนปราจีนอนุสรณ์ ต.ท่างาม อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี ได้ถูกสร้างขึ้นจากความจงรักภักดี ของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ด้วยประสงค์จะใช้เป็นที่ประทับ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่เสด็จประพาสเมืองปราจีนบุรี แต่สวรรคตเสียก่อน

ตึกหลังนี้จึงได้ใช้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นเป็นมรดกตกทอดมาเป็นของพระยาอภัยวงศ์วรเชษฐ (ช่วง อภัยวงศ์)

ต่อมาพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ซึ่งเป็นหลานของพระยาอภัยวงศ์วรเชษฐ ได้กรรมสิทธิ์ในสิ่งเหล่านี้ จึงได้ประทานตึกหลังนี้แก่มณฑลทหารบกที่ 2 ตั้งเป็นสถานพยาบาล








Advertisement

 

จากนั้น ทางจ.ปราจีนบุรีขอโอนมาเปิดใช้เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดใช้ชื่อว่า “โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2509

เพื่อเป็นเกียรติแห่งคุณความดีของท่านผู้เป็นเจ้าของ หลังจากที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้รับงบประมาณสิ่งก่อสร้างเป็นอาคารผู้ป่วย ตึกหลังนี้จึงมิได้ใช้เป็นสถานที่บริการผู้ป่วย แต่ได้รับการอนุรักษ์ไว้นับแต่นั้นเป็นต้นมา และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติของกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2533

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นโรงพยาบาลศูนย์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2539 มีการปรับปรุงทั้งด้านโครงสร้าง อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทันสมัย มีการจัดหาและพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพในทุกด้าน โดยมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพบริการตั้งแต่ปี 2539 มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งผ่านการรับรองในปี 2553

ปัจจุบันโรงพยาบาลมีพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 65 ไร่ 1 งาน 11.52 ตารางวา มีเตียงรับผู้ป่วยจำนวน 505 เตียง

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นงานสถาปัตยกรรมยุโรปยุคบาโรก ออกแบบและก่อสร้างโดยบริษัทโฮวาร์เออร์สกิน เป็นตึกเดี่ยว 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องลอนเล็ก กลางหลังคาสร้างเป็นรูปโดม เหนือยอดโดมมีเครื่องบอกทิศทางรูปไก่ทำด้วยโลหะ ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมา และมีระเบียงดาดฟ้า

หลาก&หลาย - ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง-ปราจีนบุรี

ภายนอกและภายในอาคารมีลวดลายปูนปั้นฝีมือประณีตบรรจงประดับอยู่ทั่วไป รวมถึงมีการทำช่องลมเป็นแผ่นไม้ฉลุลายอย่างสวยงาม ขณะที่วัสดุส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น กลอนประตู หน้าต่าง กระจกสี กระเบื้องปูพื้น ล้วนสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ

ส่วนบริเวณด้านหน้าอาคารมีรูปเคารพปูนปั้น (ฝีมือช่างพื้นบ้าน) ปั้นเป็นรูปท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ยืนตรงเด่นเป็นสง่าให้ผู้ที่ผ่านไป-มา ได้ทำความเคารพสักการะ ท่ามกลางต้นปาล์มสูง 2 ต้นที่ขึ้นขนาบข้าง

ลวดลายปูนปั้นประดับด้านนอกตึกด้วยความงดงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรทำให้ตึกสไตล์ยุโรปโบราณหลังนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ.2542

ปัจจุบันตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี เป็นส่วนหนึ่งของ “โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ปราจีนบุรี โดยดำรงฐานะเป็น “พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร”

หลาก&หลาย - ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง-ปราจีนบุรี

ภายในมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่และสิ่งน่าสนใจมากมาย โดยแบ่งเป็นส่วนจัดแสดงหลักๆ อาทิ ห้องประวัติศาสตร์ ห้องท้องพระโรง ห้องยาไทย ห้องปูมเมืองปราจีนบุรี ห้องประวัติการพัฒนาสมุนไพรอภัยภูเบศร และร้านขายยาไทย เป็นต้น

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงเป็นตึกที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย

สำหรับ “ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เมืองพระตะบอง” ตั้งในพื้นที่ย่านอาคารราชการดั้งเดิมของเมืองพระตะบอง

จากข้อมูลประวัติการสร้างตึกหลังนี้ที่เขียนโดยนักวิชาการท้องถิ่นของพระตะบองระบุว่า “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)” สร้างตึกหลังนี้ขึ้นในปี พ.ศ.2447 (บ้างก็ว่าสร้างในปี 2448)

โดยว่าจ้างช่างชาวอิตาลีมาเป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง มีลักษณะเป็นตึกเดี่ยว 2 ชั้น หันหน้าออกถนน สร้างด้วยสถาปัตยกรรมยุโรปยุคบาโรก (ประมาณช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17) ตัวอาคารมีลวดลายปูนปั้นประดับสวยงามทั่วบริเวณ มีลวดลายรูปช้างประดับอยู่ด้านบนของตึก

ตึกหลังนี้เคยถูกใช้เป็นศาลากลางของเมืองพระตะบองมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่เมื่อมีการสร้างศาลากลางหลังใหม่ ได้ถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรมเรื่อยมา

กระทั่งเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯทอดพระเนตรปราสาทในเขตเมืองพระตะบอง พระองค์ท่านทรงได้ไปเสวยพระกระยาหารที่ตึกหลังนี้ ในระหว่างนั้นเกิดฝนตกและรั่วลงมา พระองค์ท่านจึงพระราชทานทุนทรัพย์ในการบูรณะให้ 1 ล้านบาท อันเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณะให้กลับคืนสู่ความสวยงามดังเดิม

หลาก&หลาย - ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง-ปราจีนบุรี

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เมืองพระตะบอง สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัย

แต่ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ไม่เคยมีโอกาสได้เข้าพำนักในตึกหลังนี้เลย เพราะจวนหลังนี้ยังสร้างไม่ทันเสร็จ ท่านชุ่ม ผู้เป็นเจ้าของก็ต้องพลัดพรากจากเมืองพระตะบองที่วงศ์ตระกูลตั้งรกรากมากว่า 100 ปี เข้าสู่แผ่นดินสยาม

พร้อมกับวีรกรรมแห่งความจงรักภักดี ที่ต่อมาท่านได้ถูกยกย่องให้เป็น “เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้ปกครองสยาม”

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เมืองพระตะบอง สร้างขึ้นก่อนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี จึงถูกยกให้เป็น “ตึกแฝดพี่-น้อง” พระตะบอง-ปราจีนบุรี

มานิตย์ สนับบุญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน