ถ้าพูดถึงเนื้อโคขุนที่เลี้ยงกันหลายพื้นที่ในประเทศไทย โคขุนดอกคำใต้ จ.พะเยา เลื่องชื่อความอร่อยไม่แพ้ที่ใดเช่นกัน

โคขุนดอกคำใต้ เกิดจากการรวมตัวของผู้เลี้ยงวัวฝูง ต.บ้านถ้ำ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา เมื่อปี 2545 จำนวน 18 คน ต่อมาได้ไปศึกษาดูงานจากกลุ่มเลี้ยงจังหวัดยโสธร และสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลางโพนยางคำ จำกัด แล้วนำมาปรับวิธีการเลี้ยงแบบจำกัดพื้นที่

หลาก&หลาย

จากนั้นในปี 2557 นายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาขณะนั้น จัดสรรงบประมาณจำนวน 15 ล้านบาท เพื่อตั้งโรงเชือดโคขุนขึ้นที่ ต.บ้านถ้ำ อ.ดอกคำใต้

และเพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ ทาง “กลุ่มผู้เลี้ยงวัวขุนจังหวัดพะเยา” จึงรวมตัวกันและหาสมาชิกผู้ที่สนใจเข้าร่วมกันจัดตั้ง สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ จำกัด ขึ้นเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2557

หลาก&หลาย

หลาก&หลาย

สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ จำกัด มีสมาชิกแรกตั้ง 78 คน ทุนเรือนหุ้นแรกตั้ง 53,600 บาท เริ่มดำเนินงานเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2557 เป็นต้นมา ปัจจุบันสหกรณ์มีทุนดำเนินงาน 2,811,615.78 บาท

โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในพื้นที่ อ.ดอกคำใต้ จำนวน 4 ตำบล ได้แก่ ต.คือเวียง ต.บ้านปิน ต.บ้านถ้ำ ต.หนองหล่ม ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิก 100 ราย เกษตรกรที่ผลิตโคขุนจำนวน 44 ราย จำนวนโครวม 325 ตัว

เกษตรกรที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกต้องมีความพร้อมในการเลี้ยงโค ได้แก่ มีโรงเรือน แปลงหญ้า มีประสบการณ์ในการเลี้ยงโค โดยสหกรณ์มีเงินทุนให้กู้ยืมรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือให้สหกรณ์จัดหาโคขุนให้ มีเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปขึ้นทะเบียน คอยดูแลติดตามส่งเสริมให้คำแนะนำทุก 2 เดือน และรับซื้อโคขุนคืนจากสมาชิกในราคาตามเกรดเนื้อ

 

หลาก&หลาย

ซึ่งสมาชิกจะได้กำไรเฉลี่ยตัวละ 15,000-18,000 บาท

เกษตรกรที่เป็นสมาชิกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้เลี้ยงโคพ่อแม่พันธุ์ และกลุ่มผู้เลี้ยงโคขุน โดยสหกรณ์จะเป็นผู้ขึ้นทะเบียนโคขุน พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ และลูกโค ของเกษตรกรสมาชิก มีบริการจำหน่ายอาหารสัตว์ กากน้ำตาล ยาเวชภัณฑ์ และถัง ให้แก่สมาชิก และรับซื้อโคขุนคืนจากสมาชิกมาแปรรูป

หลาก&หลาย

หลาก&หลาย

ลักษณะเด่นของโคขุนดอกคำใต้ ใช้โคเนื้อสายพันธุ์ลูกผสมเลือดยุโรป/ญี่ปุ่น ร้อยละ 50-75 เช่น ชาโรเลส์ แองกัส หรือสายพันธุ์ญี่ปุ่น เช่น วากิว เนื่องจากจะให้เนื้อที่มีไขมันแทรกในระดับ 3 ขึ้นไป เนื้อนุ่ม ไม่มีกลิ่นแรง รสชาติอร่อย เป็นที่นิยมนำไปบริโภค เช่น สเต๊ก ชาบู จิ้มแจ่ว เป็นต้น

หลาก&หลาย

โดยเกษตรกรสมาชิกจะเริ่มต้นขุนโคที่น้ำหนักประมาณ 350-400 กิโลกรัม ใช้ระยะเวลาขุนประมาณ 12 เดือน จนให้ได้น้ำหนักสุดท้ายที่ประมาณ 800 กิโลกรัม บางตัวอาจถึง 1 ตันหากเกษตรกรดูแลเอาใจใส่ดีตลอดระยะเวลาการขุน

สหกรณ์จะรับซื้อโคขุนของเกษตรกรสมาชิกให้ราคาตามเกรดเนื้อ โดยเกรดเนื้อจะมีทั้งหมด 5 เกรด เกรดต่ำสุดคือ 1 สูงสุด 5 เทียบตามเปอร์เซ็นต์ไขมันแทรก ซึ่งของดอกคำใต้นั้นอยู่ที่เกรด 3.5-4 ถือว่าเป็นระดับสูงในตลาดเนื้อ

โคขุนแต่ละตัวจะให้เนื้อชิ้นใหญ่อย่างน้อย 36 ชิ้น ราคาที่ขายได้ของเนื้อเกรด 3-4 อยู่ที่ประมาณ 210-250 บาท/กิโลกรัม

ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนจำหน่าย ได้แก่ สันนอก สันใน สันกลาง ทีโบน สันหน้าโหนก ใบพาย โทมาฮอว์ก สันกลางถอดกระดูก เสือร้องไห้ และชุดสำหรับทำเมนูอาหารพื้นเมือง (ชุดส้า ชุดลาบ ชุดแกงอ่อม)

ส่วนเมนูอาหาร ได้แก่ ลูกชิ้นโคขุน สเต๊กเนื้อโคขุนดอกคำใต้ ข้าวหน้าเนื้อ เนื้อย่างจิ้มแจ่ว แก้มโคขุนนึ่งน้ำพริกข่า

หลาก&หลาย

สำหรับสถานที่จำหน่าย ดังนี้ 1.การจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปแช่เย็น แช่แข็ง ราคาแตกต่างกันตามชิ้นส่วน จุดจำหน่าย ณ ร้านชาบูโคขุน ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. หยุดวันจันทร์ ร้านสุขแต๊ อ.เมืองพะเยา สหกรณ์การเกษตรป่าแดด จำกัด อ.ป่าแดด จ.เชียงราย 2.จำหน่ายเนื้อโคขุนเพื่อผลิตลูกชิ้นเนื้อ ร้านก๋วยเตี๋ยวอันเจริญ และ 3.ออกร้าน บูธ ตามเทศกาล งานในพื้นที่ จ.พะเยา

สำหรับรายได้ของกลุ่มในปี 2566 จำนวน 3,716,245.20 บาท โดยในปี 2567 ตั้งเป้าผลิตโคขุน 400 ตัว/ปี ผลผลิตแปรรูป 176 ตัน/ปี

หลาก&หลาย

เกษตรกรตัวอย่าง นายสุริยะ ทองสา เล่าว่า เดิมมีอาชีพเสริม เลี้ยงสุกรขุนชุดละ 10 ตัว จนปี 2540 ประสบปัญหาราคาสุกรตกต่ำ ต้นทุนการเลี้ยงสูงกว่ารายได้ จึงเปลี่ยนเป็นซื้อโคเนื้อมาเลี้ยง โดยมีแนวคิดให้โคกำจัดวัชพืชในสวนด้วย

เริ่มซื้อแม่พันธุ์โค เรดซินดี้ จำนวน 4 ตัว พ่อพันธุ์โค เรดซินดี้ 1 ตัว มาเลี้ยงโดยใช้พ่อคุมฝูง เลี้ยงประมาณ 2 ปี แม่โคเริ่มให้ผลผลิต และสามารถจำหน่ายลูกโคได้ในราคาตัวละ 5,000-6,000 บาท (ราคาในขณะนั้น) โดยขายได้ปีละประมาณ 2 ตัว

จนในปี 2557 เริ่มมีแนวคิดจะผลิตโคขุนคุณภาพ จึงได้รวมกลุ่มสมาชิกในหมู่บ้าน และเพื่อนร่วมงาน เข้าสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ และจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านดอยโตน กับกรมส่งเสริมการเกษตร

หลาก&หลาย

และปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงขุนธรรมดามาเป็นการเลี้ยงขุนแบบยืนโรง โดยเลี้ยงโคลูกผสมยุโรป ลูกผสมชาโรเลส์ จำนวน 4 ตัว ใช้อาหารสำเร็จรูป อาหารหมัก หญ้าสด

จนในปัจจุบันได้เพิ่มจำนวนโคเนื้อขุนยืนโรงเป็น 20 ตัว/ปี โดยแบ่งเป็น 2 รุ่น รุ่นละ 10 ตัว ผลผลิตจากการขุนโค ได้จำหน่ายให้สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้เพื่อเข้าโรงฆ่าแปรรูปเฉลี่ยกิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งส่วนใหญ่จำหน่ายในราคาตามน้ำหนักเปอร์เซ็นต์ซาก ราคากิโลกรัมละ 150 บาท ทำให้ปัจจุบันมีรายได้ 260,000 บาท/รุ่น หรือ ประมาณ 500,000 บาท/ปี

สนใจสอบถามกันได้ที่ สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ โทร. 08-0675-0479

พัทธ์ธีรา วงษ์อัศวกรณ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน