ด้วยสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงแห้งแล้งกันดาร ขาดแหล่งน้ำ ชาวบ้านมีทางเลือกเดียว คือ ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นอาชีพหลัก ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง และยางพารา
แต่ทว่า ปัญหาหนี้สินก็พอกพูนขึ้นทุกวันสำหรับสมาชิกกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลา ตำบลท่าศาลา อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย
กระทั่งปี 2563 กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเลย เข้าไปช่วยเหลือดำเนินการสนับสนุน ขุดสระน้ำเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และพัฒนาอาชีพให้กับสมาชิกสหกรณ์ ตามนโยบายของกรมส่งเสริมสหกรณ์
จากนั้นคณะกรรมการกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลา หารือร่วมกับทีมงานเจ้าหน้าที่สหกรณ์จังหวัดเลย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนได้ข้อสรุปว่า จะส่งเสริมอาชีพปลูกกุหลาบตัดดอกให้กับสมาชิก เนื่องจากเป็นไม้ดอกปลูกง่าย ไร้โรคแมลงรบกวน ที่สำคัญ ความต้องการของตลาดสูงมาก
จึงเป็นที่มาของแปลงนำร่องต้นแบบปลูกกุหลาบตัดดอก สายพันธุ์ฮอลแลนด์และฮังการี ของนายอัศวิน ศรีบุรินทร์ เลขานุการกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลา บนเนื้อที่ 4 ไร่ ไร่ละ 1,000 ต้น เมื่อปลายปี 2563 ปัจจุบันเก็บเกี่ยวผลผลิตตัดดอกทุกวัน
โดยมีพ่อค้าทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัดมารับซื้อถึงแปลงปลูก สร้างรายได้เฉลี่ยวันละ 5,000-20,000 บาท
น.ส.วิไลพร พานกระดึง นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเลย เล่าถึงโครงการปลูกกุหลาบตัดดอกของกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลา ในฐานะหัวหน้าโครงการที่ดูแลกลุ่มนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นปี 2563 ว่า
ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสมทั้งสภาพพื้นที่ และภูมิอากาศ เป็นไม้ดอกซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ให้ผลตอบแทนเร็ว มีอายุการเก็บเกี่ยวยาวนานถึง 5 ปี และสามารถคืนทุนภายใน 1 ปี
จึงได้ปรึกษาทางเกษตรจังหวัดและเกษตรที่สูง ผู้มีความรู้ ต่างเห็นตรงกันว่าปลูกกุหลาบตัดดอก น่าจะเป็นอาชีพเสริมรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มเป็นอย่างดี เนื่องจากในพื้นที่อำเภอภูเรือยังไม่มีใครปลูกมาก่อน จะมีก็เพียงกุหลาบหนู ซึ่งจำหน่ายแบบทั้งต้นทั้งดอกเท่านั้น
“กุหลาบตัดดอกส่วนใหญ่จะมีแต่โซนภาคเหนือ ที่อำเภอภูเรือมีกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่ปลูกกุหลาบตัดดอกขาย ส่วนการตลาดจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงแปลงปลูก ทั้งพ่อค้ารับซื้อไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่ และจากต่างจังหวัด อุดรฯ ขอนแก่น หนองคาย พ่อค้ากลุ่มนี้จะมีออร์เดอร์แจ้งมาก่อน ตอนนี้กุหลาบตัดไม่พอขาย ราคาเฉลี่ย 2-5 บาทต่อดอก”
หลังประสบความสำเร็จในการส่งเสริมอาชีพแก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลา ปลูกกุหลาบตัดดอกเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้แล้ว ในอนาคตจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาชมสวนดอกกุหลาบ ถ่ายรูปเช็กอิน สร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนด้วย ส่วนกลุ่มตกเกรดก็จะไม่ทิ้ง แต่จะนำมาแปรรูปเป็นถุงหอม จำหน่ายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
“กุหลาบตกเกรด เราจะไม่มีทิ้งเลย นำมาแปรรูปขายได้หมด ตอนนี้จะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในกระทรวงเกษตรฯ เองและหน่วยงานภายนอก มาถ่ายทอดองค์ความรู้เพิ่มเติม เพราะขณะนี้สมาชิกเกษตรกรในพื้นที่เห็นแล้วว่า ปลูกกุหลาบตัดดอกสามารถปลดหนี้ได้จริง”
ขณะที่ นายอภิไท มังธานี สหกรณ์จังหวัดเลย เผยว่า ในจังหวัดเลยมีสหกรณ์การเกษตรทั้งหมด 108 แห่ง มีหนี้คงค้างประมาณหนึ่ง แต่เราได้ดำเนินการแก้ไขมาตั้งแต่ปี 2562 เริ่มจากแก้หนี้สหกรณ์ใหญ่ๆ ก่อน จากนั้นก็ขยายผลไปที่สหกรณ์ขนาดย่อม
“ผมย้ำเจ้าหน้าที่อยู่ตลอดว่า การแก้ไขหนี้ คือ การสร้างรายได้ การสร้างรายได้ก็มาจากการส่งเสริมอาชีพ เช่น เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เป็นต้น เพราะการส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มอาชีพเหล่านี้ให้มีรายได้ย่อมนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระต่อไป โดยใช้หลักตลาดนำการผลิต” นายอภิไทกล่าว
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ กลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลา ที่ทางกลุ่มสนับสนุนให้สมาชิกปลูกกุหลาบตัดดอก แม้จะเป็นอาชีพเสริม แต่ก็สามารถทำรายได้หลักให้กับตัวสมาชิก จนสามารถนำเงินมาชำระหนี้คงค้างได้ 100% ในวันนี้
จากนี้ก็จะขยายผลไปยังสมาชิกสหกรณ์กลุ่มอื่นต่อไป เนื่องจากกุหลาบเป็นไม้ดอกที่ทำเงิน และมีรายได้จากการตัดดอกขายได้ทุกวัน
“อำเภอภูเรืออยู่ในหุบเขาอากาศเย็นสบายทั้งปี กุหลาบชอบอากาศเย็น เพียงแต่ที่ผ่านมาขาดน้ำ พอดีมีโครงการสนับสนุนสินเชื่อระบบน้ำ เกษตรกรเขาก็ตอบรับทันที ตอนนี้ปรากฏว่าอาชีพเสริมมาแรงกว่าอาชีพหลัก อย่างยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง เพราะรายได้ดีกว่า ส่วนตัวอื่นกำลังหารือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เพื่อมาวิจัยตลาดไม้ดอกไม้ประดับตัวอื่นด้วย แต่ตอนนี้ขอกุหลาบเป็นไม้ดอกนำร่องก่อน” นายอภิไทกล่าว
สำหรับโครงการส่งเสริมอาชีพการปลูกกุหลาบให้กับสมาชิกกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลา ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเลยนั้น เป็นโครงการจัดทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิกเป็นเป้าหมายหลัก
ในปี 2564 มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 31 ราย รวมมูลหนี้ทั้งสิ้น 844,522 บาท จนปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 1 มี.ค. 2567) กลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลาสามารถเก็บหนี้ค้างชำระได้เต็มจำนวนคิดเป็น 100% ของหนี้ค้างชำระทั้งหมด
ส่งผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลาได้และยังมีรายได้ มีเงินออมเพิ่มขึ้น
ส่งผลให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น