งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 มีนัดกันที่ “บูธมติชน J47”

ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-8 เมษายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7

ปีนี้มีหนังสือออกใหม่รวม 10 ปก ประกอบด้วย

The Lost Forest : ประวัติศาสตร์(การทำลาย)สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร

ผู้เขียน : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ คำนิยม : นิ้วกลม

เล่าถึงประวัติศาสตร์ของการทำลายสิ่งแวดล้อมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันในแง่มุมที่ผู้เขียนสนใจ โดยผสมผสานระหว่างการเล่าเรื่องแบบสารคดีที่ผู้เขียนเคยลงไปสัมผัสปัญหาในพื้นที่มากับข้อมูลจากงานศึกษาต่างๆ รวมทั้งบทสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญและคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม

เนื้อหาแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นใหญ่ เริ่มจากการทำลายธรรมชาติที่เกิดขึ้นมายาวนานนับแต่อดีต การแย่งชิงทรัพยากร ปัญหาจากการเติบโตของระบบอุตสาหกรรม มาจนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมยุคใหม่ที่เป็นความท้าทายสำคัญที่มนุษย์ต้องรับมือในอนาคต

บุ๊กสโตร์ - 10 หนังสือใหม่ ‘สำนักพิมพ์มติชน’ ใน ‘งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ’








Advertisement

อำนาจนำพระนั่งเกล้าฯ

: การเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์

ผู้เขียน : ปวีณา หมู่อุบล

ความสามารถในงานราชการและความมั่งคั่งซึ่งสั่งสมมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ขึ้นครองราชเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

แม้ว่าการขึ้นมาครองราชสมบัติจะได้รับการสนับสนุนจากขุนนางผู้ใหญ่หลายท่าน แต่ขณะเดียวกันก็มีชนชั้นนำบางกลุ่มไม่เห็นชอบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสิทธิธรรมต่ำกว่าเจ้าฟ้า โดยเฉพาะเจ้าฟ้ามงกุฎ หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ พยายามทำให้ตนเองมีความเป็นเลิศในทุกด้าน เพื่อสร้างและรักษาไว้ซึ่งพระราชอำนาจของพระองค์ ผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ โดยเฉพาะการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ศิลปกรรมทั้งหลายภายในวัดได้กลายเป็นสื่อซึ่งนำเสนอความเป็นกษัตริย์ที่ดี เพื่อเสริมสร้างอำนาจและความชอบธรรมบนราชบัลลังก์ของพระองค์

บุ๊กสโตร์ - 10 หนังสือใหม่ ‘สำนักพิมพ์มติชน’ ใน ‘งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ’

The Museum of Other People :

From Colonial Acquisition to Cosmopolitan Exhibition

พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น :

จากวัตถุที่จัดหาและได้มาในยุคอาณานิคม สู่นิทรรศการที่โอบรับคนทุกวัฒนธรรม

ผู้เขียน : Adam Kuper ผู้แปล : วรรณพร เรียนแจ้ง

อดัม คูเปอร์ นักมานุษยวิทยาสังคมชาวแอฟริกาใต้ พาผู้อ่านย้อนประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสิ่งที่เรียกว่า “พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น” – พิพิธภัณฑ์ว่าด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของ “ชนดั้งเดิม” (primitive peoples) หรือ “อนารยชน” (barbarians) กลุ่มต่างๆ ซึ่งอยู่พ้นไปจาก “ยุโรปที่เป็นอารยะแล้ว” – โดยไล่เรียงตั้งแต่ต้นกำเนิดของมันในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงตำแหน่งแห่งที่ของมันในยุคปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่นเริ่มต้นจากการเป็น “ห้องสารภัณฑ์” (Cabinet of Curiosities) ในคฤหาสน์ของชนชั้นสูง ไม่ก็พระคลังสมบัติตามปราสาทราชวังต่างๆ ห้องสารภัณฑ์เก็บสะสมและจัดแสดงสิ่งของหายาก โบราณวัตถุจากยุคคลาสสิค ศิลปวัตถุจากต่างแดน ตัวอย่างพืชและสัตว์ (botanical & zoological specimen) ที่รวบรวมมาได้จากการออกเดินทางสำรวจของนักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

Everything is Washable

ขจัดปัญหาชีวิต ง่ายนิดเดียว

ผู้เขียน : Sali Hughes

ผู้แปล : เพียงขวัญ ลักษณ์แสงวิไล

เมื่อเราต้องใช้ชีวิตอยู่ในยุคที่ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็วและฉับไว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความยุ่งเหยิงจะประดังมาหาคุณจากทุกสารทิศ จริงอยู่ที่เราเอาแน่เอานอนกับชีวิตไม่ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องใช้ชีวิตตามน้ำไปเรื่อยๆ ต้องคอยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเวลา

สิ่งเหล่านี้มีแต่จะทำให้ปวดหัวและเสียแรงกายแรงใจเปล่าๆ ขจัดปัญหาชีวิต ง่ายนิดเดียว จึงจะมาช่วยให้คุณจัดระเบียบชีวิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม โยนขยะและเรื่องไม่จำเป็นทิ้งจากชีวิต หมั่นปรุงสุขร่วมกับคนในครอบครัว โดยที่ไม่ลืมรักษาซ่อมแซมเซฟโซนที่ชื่อว่าบ้านและความสัมพันธ์ ควบคู่ไปกับการเพิ่มอิสระและเสริมสร้างพลังบวกให้กับตัวเอง

ซาลี่ ฮิวจ์ส นักข่าว พรีเซ็นเตอร์ และคอลัมนิสต์ด้านความงามของ The Guardian ได้คัดสรรประสบการณ์และบทเรียนชีวิตของตัวเองมาบอกเล่าให้สาวๆ ทั้งวัยรุ่น working women และบรรดาแม่บ้านยุคใหม่ได้ฟังอย่างน่าสนใจ

บุ๊กสโตร์ - 10 หนังสือใหม่ ‘สำนักพิมพ์มติชน’ ใน ‘งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ’

Twists and Turns

คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม

ผู้เขียน : สันติธาร เสถียรไทย

สันติธาร เสถียรไทย จะพาผู้อ่านสำรวจเทรนด์โลกที่ “หักมุม” (Twists) อย่างเหนือคาดทั้งในภาคเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลั่นประสบการณ์จากการทำงานในโลกกว้างมากลั่นเป็นคู่มือเบื้องต้นว่าเราควร “หัน” อย่างไรในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม โดยเป็นการรวม 20 บทความ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ

I Twists ข้อเขียนว่าด้วยเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลระยะยาวในระดับมหภาคโดยจะพูดถึง 3 สายงานหลักๆ ที่นักเขียนลงไปคลุกคลี ได้แก่ ภาคเทคโนโลยี โดยเฉพาะการพัฒนาของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่นับวันรุดหน้ามากขึ้น โดยเอไอนี้มีทั้งข้อดีทั้งในภาคชีวิตการทำงานที่จะมาเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกสบายให้กับมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันก็จำต้องใช้อย่างพึงระวัง เพราะเอไออาจพัฒนาจนสามารถมีความรู้สึกนึกคิดอย่างมนุษย์ได้

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นวาระเร่งด่วนคือ ภาคสิ่งแวดล้อม ซึ่งสัมพันธ์กับภาคธุรกิจอย่างแนบแน่น เพราะปัญหาโลกร้อนกลายมาเป็นเกณฑ์สำคัญกับธุรกิจทุกรูปแบบ กระแสสีเขียว (green) ทั้งในภาคการลงทุนและการท่องเที่ยวจึงเป็นกระแสที่กำลังมาซึ่งรัฐควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

Sex Appear เพศสะพรั่ง

ผู้เขียน : ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

ในสังคมมักจะมีเรื่องที่ถูกปกปิดหรือถูกทำให้เลือนหาย “เรื่องเพศ” เป็นหนึ่งในเรื่องพวกนั้น โดยเฉพาะในสังคมไทยนี้ที่คนมักจะตีตราว่า “เรื่องเพศ” ต้องเป็น “เรื่องอย่างว่า” เท่านั้น…แต่ในความเป็นจริง เรื่องเพศเป็นสิ่งซึ่งอยู่ในชีวิตของเราทุกคน ซึ่งในนั้นมีทั้งตัวตน ความสัมพันธ์ และการเมือง

Sex Appear เพศสะพรั่ง โดยศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เป็นงานเขียนสไตล์ความเรียงกึ่งเรื่องเล่า เป็นเรื่องราวจริงจากคนใกล้ตัวของนักเขียนมาฉายเล่าโดยจะใช้ตัวละครดำเนินเรื่อง ประเด็นในเรื่องจะเกี่ยวกับเพศในหัวข้อต่างๆ โดยเล่าอย่างมีน้ำเสียงและจิตวิญญาณเสมือนเราอ่านนิยายเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งนี้เป็นเรื่องจริง

หัวข้อที่นำเสนอจะมีตั้งแต่สิทธิการแต่งกาย มายาคติว่าด้วยความเป็นชายหญิงแบบที่สังคมคาดหวัง ความรุนแรงในความสัมพันธ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ประเด็นทางเพศใหม่ๆ บนสื่อโซเชี่ยลอย่าง “เฟมินิสต์ประสาทแดก” และ “ชายแท้” รสนิยมทางเพศที่ลื่นไหล

เรื่องเพศควรกลายเป็นเรื่องที่ “ปรากฏ” อย่าง “สะพรั่ง” เพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนควรตระหนักและร่วมกันหาทางออก

จิ้มก้องและกำไร : การค้าไทย-จีน

2195-2396/1652-1853

ผู้เขียน สารสิน วีระผล ผู้แปล พรรณงาม เง่าธรรมสาร, รังษี ฮั่นโสภา, สมาพร แลคโซ

บรรณาธิการ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และกัณฐิกา ศรีอุดม

การค้าไทย-จีน เป็นตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคจารีตที่ไม่เพียงเป็นเรื่องปกติ แต่ยังมีความสำคัญอย่างมากในประวัติศาสตร์ไทย

ความเข้าใจต่อประเด็นการค้าทางทะเลยุคจารีตในประวัติศาสตร์ไทยมักมุ่งเน้นไปที่การค้ากับตะวันตกเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าอำนาจทางการเดินเรือและทางทหารทำให้ตะวันตกมีอิทธิพลอย่างมากในการค้าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ไทยกับจีน ผูกสัมพันธ์การค้ามาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่อดีตกาล ความเก่าแก่นี้อาจย้อนกลับไปถึงสมัยต้นอยุธยา อย่างไรก็ดี การค้าที่เป็นระบบและมีอิทธิพลเกิดขึ้นในช่วงอยุธยาตอนปลายตรงกับจีนในสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งมีการสนับสนุนการค้าและเปิดเมืองท่าการค้าหลายแห่ง สำคัญที่สุดคือจีนมีระบบการค้า-การทูต “จิ้มก้อง” ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทำให้ไทยและรัฐอื่นๆ ทำการค้ากับจีนอย่างเป็นทางการกับราชสำนักจีน

ความเติบโตทางการค้าไทย-จีน ต่อเนื่องยาวนาน ถึงต้นรัตนโกสินทร์ แต่ความเปลี่ยนแปลงของการเมืองโลก โดยเฉพาะเมื่อตะวันตกเริ่มพัฒนาอย่างก้าวกระโดด มีอำนาจทางการทหารมากขึ้น และเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เสด็จพ่อ ร.5 วีรบุรุษในวัฒนธรรมไทย และประชาชนในรัฐนาฏกรรม

ผู้เขียน : นิธิ เอียวศรีวงศ์ คำนำเสนอ: ประจักษ์ ก้องกีรติ

บรรณาธิการต้นฉบับ : ธนาพล อิ๋วสกุล

บทความรวมเล่มของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ถูกนำมาตีพิมพ์รวมไว้ในเล่มนี้คือ งานวิชาการชั้นดีที่อ่านสนุก เปรียบเสมือนบทบันทึกรอยต่อและจุดหักเลี้ยวของยุคสมัย โดยงานแต่ละชิ้นคือ การขบคิดใคร่ครวญประเด็นสำคัญหลายประเด็นที่ไม่เพียงเป็นการทบทวนอดีต แต่คือการชี้ให้เห็นว่าการมองย้อนกลับไปในอดีตช่วยส่องสะท้อนให้เราเข้าใจสังคมการเมืองไทยร่วมสมัยได้อย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการเมืองของประเพณีและพิธีกรรม ความคิดเรื่องวีรบุรุษที่เลื่อนไหลแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ความตึงเครียดระหว่างการสร้างสถาบันให้เข้มแข็งกับการเชิดชูตัวบุคคล บทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ปมปัญหาเรื่องการถ่ายโอนอำนาจแลการสืบทอดอำนาจ บทบาทของปัญญาชนในสังคมไทย ความขัดแย้งภายในหมู่ชนชั้นนำ ที่ทางของประชาชนในรัฐราชการไทย อำนาจนำทางศีลธรรมที่เสื่อมคลาย และจิตสำนึกใหม่ของประชาชนที่กำลังก่อตัว

บุ๊กสโตร์ - 10 หนังสือใหม่ ‘สำนักพิมพ์มติชน’ ใน ‘งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ’

Siamese Cat

สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว

ผู้เขียน : กำพล จำปาพันธ์

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางของเรื่องแต่ประการใด มีเพียงแมวเป็นตัวเอกและสรรพสัตว์ (ประกอบเรื่องบางครั้งเท่านั้น) เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ไทยในมุมใหม่ที่มีสัตว์เป็นแกนกลางตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงทศวรรษ 2500

‘ไซมีสแคท’ ราวสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวอังกฤษได้นำเอาแมวคู่หนึ่งจากสยามกลับไปยังประเทศของตน และได้นำไปประกวดแมว แมวที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ ไซมีสแคท ช่วงเวลาของห้วงสุดท้ายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ด้วยความโด่งดังของแมวขาวและแมววิเชียรมาศ จึงมีการเชิญวิฬาร์ในฐานะเครื่องมงคลในพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 7

ท้ายเล่มการกลับมาของความเป็นอนุรักษนิยมและกษัตริย์นิยมในการเมืองช่วงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดภาพลักษณ์ของแมวสยามขึ้นมาอีกประเภทหนึ่งในนามของไซมีสแคทแทนแมววิเชียรมาศนั้นก็คือ แมวสีสวาดหรือแมวโคราช ในอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมานั้นเอง

ทั้งหมดนี้เป็นเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และสังคมวัฒนธรรมที่นำมาสู่แมวในฐานะ “ไอดอลสี่ขา” และคนรักแมวในฐานะ “ทาสแมว” ในปัจจุบัน

ลอกคราบพุทธเเท้ : ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทยร่วมสมัย

ผู้เขียน : อาสา คำภา บรรณาธิการ : สายชล สัตยานุรักษ์

พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทย เป็นหนังสือที่มีการปรับปรุงมาจากงานวิจัยเรื่อง พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทย ทศวรรษ 2500-2550 ว่าด้วยประวัติศาสตร์ ปรากฏการณ์สังคม จริต และอารมณ์ความรู้สึก เมื่อ พ.ศ.2564 นับตั้งแต่อดีตกรอบคิดเรื่อง กฎแห่งกรรม เป็นสิ่งที่แฝงฝังอยู่ในโครงสร้างทางวัฒนธรรม ทำให้ผู้คนเชื่อเรื่องการสั่งสมบุญ เริ่มทำความดีตั้งแต่ชาตินี้เพื่อให้เกิดความสบายในชาติหน้า และมีนิพพานในฐานะสิ่งยอดปรารถนา ขณะเดียวกันพระพุทธศาสนาในห้วงเวลานั้นยังแยกไม่ขาดจากศาสนาผีและฮินดู

อาสา คำภา ได้อธิบายตัวแทนปรากฏพุทธศาสนาแบบปัญญาชน แบบชาวบ้าน การโหยหาเนื้อนาบุญหรือพระอรหันต์ การใช้เรื่องเล่าพุทธศาสนากับประวัติศาสตร์ไทยฉบับทางการ

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พื้นที่แห่งสามัญชนทางพุทธศาสนาก็ผุดขึ้นอย่างมากมาย รวมถึงการปรากฏตัวของบุคคล คณะบุคคล องค์กรทางพุทธศาสนาซึ่งเป็นผู้นำความคิดทางพุทธศาสนาหลากหลาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน