ตลอด 12 ปี ที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปีค.ศ.2011 จนถึงปัจจุบัน “มติชนอวอร์ด” ยังคงเป็นเวทีปลุกปั้น สร้างนักคิด นักเขียน หน้าใหม่ๆ เข้าสู่วงการจนได้รับความนิยมในระดับประเทศมาเป็นจำนวนมาก

ในปี 2024 นี้ เครือมติชนยังคงยืนหยัดที่จะเปิดพื้นที่สนับสนุน เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สะท้อนภาพสังคมและการเมือง ผ่านเรื่องราวในรูปแบบของเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และในปีนี้ได้ขยายไปสู่การ์ตูนสะท้อนสังคม-การเมืองด้วย

หลาก&หลาย - เปิดเวที ‘มติชนอวอร์ด2024’ เขียน คิด พลิกโลก สะท้อนสังคม-การเมือง

ปานบัว บุนปาน

 

คุณปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เผยถึงวัตถุประสงค์การจัดมติชนอวอร์ด 2024 ว่า เป็นการกลับมาในรอบ 2 ปี ตั้งแต่ปี 2022 ซึ่งครั้งนี้เครือมติชนมีความตั้งใจที่จะจัดกิจกรรมให้ใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น พื้นฐานของมติชนยังคงยึดโยงกับโครงสร้างของสังคมไทย ที่สะท้อนออกมาในทุกรูปแบบ

“ประเทศนี้ยังมีปัญหา ซึ่งปัญหาก็คล้ายเดิม เพียงแต่เรื่องเล่าจะเปลี่ยนแปลงไป จึงยังมีเรื่องราวให้เขียนถึงเสมอ และคุณภาพชีวิต คงความเหลื่อมล้ำ ทั้งการเงิน กฎหมาย และการศึกษา ฉะนั้นเวทีนี้ย่อมมี คอนเทนต์ ที่อัดอั้นและพร้อมจะถ่ายทอดออกมาผ่านการเขียนและการเล่าเรื่อง”

คุณปานบัวย้ำว่า เวทีมติชนอวอร์ดอยากเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เปล่งเสียงออกมา เปิดโอกาสให้คนตัวเล็กตัวน้อยได้มีโอกาสพูดในสิ่งที่พวกเขาเชื่อและอยากนำเสนอ และหากเราอยู่ในสังคมที่ดี เสียงของคนเหล่านี้จะเป็นเสียงที่ต้องรับฟัง และถือเป็นบทบาทหน้าที่ที่ถูกต้องของเครือมติชนที่จะเปิดเวทีฟังเสียงสะท้อนต่างๆ ในทุกๆ มิติเพื่อดึงขึ้นมาในวงกว้าง

ส่วนความพิเศษในปีนี้ คุณปานบัวบอกว่า เดิมการประกวดมติชนอวอร์ดจะมีการประกวดเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ แต่ปีนี้จะเพิ่มการประกวดการ์ตูนสะท้อนสังคม-การเมือง อีกสาขาหนึ่งด้วย เพราะมองว่าในบางครั้งการ์ตูนการเมืองแหลมคมกว่าภาษาเขียนเสียอีก








Advertisement

เชื่อว่าตอนนี้เยาวชนไทยหรือประชาชนทั่วไป คงมีอารมณ์ความรู้สึกทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งควรปล่อยผ่านการเขียนการ์ตูนสะท้อนสังคม-การเมืองในเวทีนี้

“การ์ตูนการเมืองมีลักษณะทีเล่นทีจริง และมีประวัติศาสตร์มายาวนาน ในช่วงก่อน 2475 การ์ตูนการเมืองถูกนำเสนออย่างหลากหลายและแหลมคม เรียกว่าการ์ตูนการเมืองในปัจจุบันอาจสู้ไม่ได้ อีกทั้งการ์ตูนการเมืองได้กำเนิดมาในสื่อสิ่งพิมพ์ตั้งแต่ต้น ฉะนั้นโมเดลในการประกวดครั้งนี้คือโมเดลดั้งเดิมที่เกิดขึ้นในยุคแรกของการทำหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย” คุณปานบัวเผย

องค์ประกอบของสื่อในยุคก่อน ไม่ใช่แค่การ เขียนข่าว แต่คือการสะท้อนสังคม ผ่านเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และการ์ตูนการเมือง ผ่านความแยบยลของการเล่าเรื่องโดยไม่ต้องมีความปะทะขัดแย้ง ซึ่งการประกวดมติชนอวอร์ดมีวัตถุประสงค์แบบนี้ ที่ต้องการให้คนทั่วไปได้ถ่ายทอดความคิดและความรู้สึกของพวกเขาออกมา

หลาก&หลาย - เปิดเวที ‘มติชนอวอร์ด2024’ เขียน คิด พลิกโลก สะท้อนสังคม-การเมือง

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

 

ด้านนายสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ กล่าวถึงรายละเอียดของการประกวด ว่า มติชนอวอร์ดเป็นความร่วมมือของสื่อและองค์กรในเครือบริษัทมติชนทั้ง 5 หน่วยงาน นำโดย มติชนสุดสัปดาห์ มติชนรายวัน ศิลปวัฒนธรรม สำนักพิมพ์ มติชน และศูนย์ข้อมูลมติชน ที่จะร่วมดำเนินการ เพื่อความยิ่งใหญ่และมีมาตรฐานเป็นที่เชื่อถือ

“การประกวดปีนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการเมืองเท่านั้น สามารถส่งเสียงหรือเรื่องเล่าในทุกเรื่องราวไม่ว่าจะเป็นชีวิต เซ็กซ์ เพศ ความเท่าเทียม เทคโนโลยี เช่นเดียวกับกวี เรายินดีต้อนรับแนวทางที่ยึดมั่นฉันทลักษณ์โดยเคร่งครัด และกลอนเปล่าที่ไร้รูปแบบ รวมทั้งการ์ตูนสะท้อนสังคมการเมือง ที่เปิดโอกาสความหลากหลายของความคิดสร้างสรรค์ เชื่อว่าการประกวดมติชนอวอร์ดจะเป็นเวทีที่จูงใจให้นักเขียน กวี ศิลปิน ส่งประกวดกันเป็นจำนวนมาก” นายสุวพงศ์กล่าวชักชวน

หลาก&หลาย - เปิดเวที ‘มติชนอวอร์ด2024’ เขียน คิด พลิกโลก สะท้อนสังคม-การเมือง

ที่สำคัญจะมีการเพิ่มเงินรางวัลทุกประเภทการประกวด ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรางวัลมากที่สุดตั้งแต่เคยมีการประกวดมา รวมมูลค่ากว่า 410,000 บาท และที่สำคัญจะมีรางวัลพิเศษ เงินรางวัล 100,000 บาท คือ “รางวัลมติชนเกียรติยศ” เพื่อเป็นเกียรติแก่นักเขียนคอลัมนิสต์ นักหนังสือพิมพ์ ที่มีผลงานและมีคุณูปการต่อแวดวงหนังสือและวรรณกรรม

โดยจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัล พร้อมกับการประกาศผลผู้ที่ได้รางวัลมติชนอวอร์ดในช่วงปลายปี 2567

ส่วนการคัดเลือก เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และการ์ตูนสะท้อนสังคม-การเมือง ที่เข้ารอบ เพื่อตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ระหว่างเดือนเม.ย.-พ.ย. 2567 จากนั้นจะมีการตัดสินผลในรอบสุดท้ายในช่วงปลายปี 2567

สำหรับกติกาประกวดประเภทเรื่องสั้น ไม่จำกัดรูปแบบและเนื้อหา พิมพ์เป็นภาษาไทย ความยาวไม่เกิน 6 หน้ากระดาษ A4 (ขนาดตัวหนังสือ 16 pt)

กติกาประกวดประเภทกวีนิพนธ์ ไม่จำกัดรูปแบบ และเนื้อหา จะมีฉันทลักษณ์หรือไม่มีฉันทลักษณ์ก็ได้ พิมพ์เป็นความยาวไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4 (ขนาดตัวหนังสือ 16 pt)

กติกาประกวดประเภทการ์ตูนสะท้อนสังคม-การเมือง ขนาดผลงาน 1 หน้ากระดาษ A4 ไม่จำกัดรูปแบบ เนื้อหา และเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงาน

โดยการประกวดทั้ง 3 ประเภทต้องเป็นผลงานใหม่ ไม่ลอกเลียน แปล หรือดัดแปลง มาจากผู้อื่น รวมทั้งไม่เคยเผยแพร่ในสื่อรูปแบบใดมาก่อน ไม่จำกัดคุณสมบัติผู้ส่งงานเข้าประกวด ทั้ง อายุ วัย เพศ ระดับการศึกษา และภูมิลำเนา ผู้ส่งเข้าประกวด สามารถส่งได้ไม่เกิน 1 คนต่อ 1 เรื่อง

ผู้ส่งเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และการ์ตูนสะท้อนสังคม-การเมือง ที่เข้าประกวดต้องระบุนามปากกา, ชื่อจริง และที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้โดยสะดวก โทรศัพท์ และอีเมล มายังกองบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์ เลขที่ 12 เทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. 10900 (วงเล็บประเภทการประกวด), [email protected]

สำหรับการเปิดรับส่งผลงานเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ การ์ตูนสะท้อนสังคม-การเมือง เริ่มแล้วระหว่างวันที่ 1 ก.พ.-30 เม.ย.2567 จึงเหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือนเท่านั้น

ทั้งนี้จะมีงานเปิดตัวกรรมการและเชิญชวนนักอ่าน นักเขียน มาพบกัน ที่เวทีเสวนา เขียน คิด พลิก โลก ที่เวทีกลางงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ร่วมเสวนา โดย กล้า สมุทวณิช, เอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร (นายทิวา) และ ประกิต กอบกิจวัฒนา

หลาก&หลาย - เปิดเวที ‘มติชนอวอร์ด2024’ เขียน คิด พลิกโลก สะท้อนสังคม-การเมือง

ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ที่จะมาร่วมถ่ายทอดพลังแห่ง “การเขียนเรื่อง แต่งคำวาดสังคม” ตั้งแต่เวลา 19.00-19.50 น. วันที่ 7 เม.ย.2567

“มติชนอวอร์ด 2024” จึงเป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ ที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สะท้อนเสียงออกมา ให้สังคมได้รับรู้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน