ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของ จ.ยะลา ในปี 2566 มีพื้นที่ปลูก 96,234 ไร่ ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวน 89,661 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 6,600 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นมูลค่าส่งออก 54% จำหน่ายในประเทศ 46%

ในปี 2567 มีพื้นที่ปลูกเพิ่มเป็น 105,400 ไร่ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาทุเรียนยะลาถูกตรวจพบการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ทำให้ผู้ส่งออกถูกตีกลับสินค้า ส่งผลให้ทุเรียน จ.ยะลา ราคาตกต่ำ ทำให้เกษตรกรเสียโอกาสสร้างรายได้จากการจำหน่ายทุเรียน

กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา จึงดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับทุเรียน จ.ยะลา ให้เป็นที่ยอมรับ จัดทำแปลงต้นแบบการใช้แสงไฟไล่และล่อแมลงในสวนทุเรียน ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอ ของ จ.ยะลา รวม 377 แปลง

และปี 2567 ได้ขยายผลแปลงต้นแบบเพิ่มในพื้นที่กลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งมีการปลูกทุเรียน ได้แก่ จ.นราธิวาส และจ.ปัตตานี

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เพื่อให้การป้องกันหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเห็นผลเป็นรูปธรรม เกษตรกรในพื้นที่เกิดการขยายผลการใช้แสงไฟสีขาวและสีเหลืองส้มไล่แมลงผีเสื้อกลางคืน และใช้ไฟสีม่วงล่อแมลงผีเสื้อกลางคืน ไม่ให้วางไข่ที่ผลทุเรียน








Advertisement

เนื่องจากผีเสื้อกลางคืนมีหลายชนิด แต่ละชนิดวางไข่และสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทุเรียนแต่ละระยะต่างกัน เช่น หนอนกินดอก หนอนเจาะผล (Fruit borer) หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน (Durian seed borer)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เมื่อระบาดจะสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตทุเรียน และภาพลักษณ์ของทุเรียน ทำให้ทุเรียนยะลาไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและผู้ส่งออก

กรมส่งเสริมการเกษตรโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลาจึงจัดกิจกรรม “แสงแรกแห่งฤดูทุเรียนยะลา ปี 2567” ขึ้น ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีการใช้แสงไฟจัดการกับหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน มาตั้งแต่ปี 2558

ด้าน นายอุทัย หงส์เพชร เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนอำเภอบันนังสตา ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบ ผู้ริเริ่มการใช้แสงไฟจัดการกับหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เผยว่า หนอนเจาะเมล็ดเป็นปัญหาใหญ่ของชาวสวนทุเรียน

ทุกปีจะมีผลผลิตทุเรียนได้รับความเสียหายจากการถูกหนอนเจาะ หรือที่เรียกกันว่า “ทุเรียนรู” ประมาณ 15-20% ของผลผลิตที่ได้ เมื่อผลทุเรียนเสียหาย เกษตรกรก็จะต้องทิ้ง หรือจำหน่ายในราคาต่ำ ทำให้สูญเสียรายได้ไปไม่น้อย

เมื่อเป็นดังนั้น เกษตรกรจึงพยายามป้องกันปัญหาโดยการฉีดพ่นยาและสารเคมี แต่ผลที่ได้ไม่เป็นไปตามแผน ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นและเกษตรกรเองก็ไม่ปลอดภัย ประกอบกับพื้นที่ปลูกทุเรียนเป็นพื้นที่สูงบนภูเขา ต้นทุเรียนอายุมาก ลำต้นสูง การฉีดพ่นทำได้ยาก

ที่สำคัญสวนทุเรียนตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำของชุมชน ไม่สามารถใช้สารเคมีได้ เพราะจะเป็นอันตรายกับชาวบ้านที่ใช้น้ำ

นายอุทัยยังเล่าถึงที่มาการเปิดไฟแก้ปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ว่า เนื่องจากตนเองสังเกตต้นทุเรียนที่อยู่ใกล้เสาไฟฟ้าริมถนน ผลผลิตมีความเสียหายจากหนอนเจาะเมล็ดน้อยมาก จึงคิดว่าแสงไฟน่าจะมีผลต่อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน

โดยที่มาของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน คือ “ผีเสื้อกลางคืน” ซึ่งจะบินจากพื้นดินขึ้นไปวางไข่ที่ผลทุเรียนในตอนกลางคืน

ดังนั้น เมื่อต้นทุเรียนอยู่ในที่ที่มีแสงสว่าง การวางไข่ของผีเสื้อกลางคืนจึงน้อยกว่าในสวนทั่วไปซึ่งอยู่ในที่มืด ไม่มีแสงสว่าง จากข้อสันนิษฐานดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2558 จึงได้เริ่มทดลองติดหลอดไฟที่ต้นทุเรียน ก่อนจะพบว่าปัญหา “ทุเรียนรู” ลดลง

ตนเองจึงเพิ่มพื้นที่ใช้แสงไฟในสวนทุเรียนทั้งหมด 15 ไร่ กระทั่งปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง ได้หันมาใช้แสงไฟไล่ผีเสื้อกลางคืนเพิ่มขึ้น ประมาณ 500 ไร่

“เปรียบเทียบต้นทุนการป้องกันปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในพื้นที่ 15 ไร่ โดยวิธีการใช้แสงไฟ พบว่ามีค่าใช้จ่ายเพียง 12,000 บาทต่อปี แต่หากใช้การฉีดพ่นสารเคมี จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 125,000 บาทต่อปี” นายอุทัยกล่าว

สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการเปิดไฟไล่ผีเสื้อกลางคืนไม่ให้มาวางไข่ คือ ต้องเปิดเมื่อฟ้าเริ่มมืด หรือหมดแสงสว่างของวัน ไปจนถึงเริ่มมีแสงสว่างของวันใหม่ เวลาโดยประมาณคือเริ่มตั้งแต่ 6 โมงเย็นไปจนถึง 6 โมงเช้าวันรุ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงระยะการเติบโตของผลทุเรียน โดยเกษตรกรต้องเปิดไฟไล่ตั้งแต่ช่วงผลยังเล็ก ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่ อ.บันนังสตา ส่วนใหญ่เริ่มเปิดไฟตั้งแต่ช่วงดอกระยะมะเขือพวงเพื่อป้องกันหนอนเจาะดอกด้วย และเปิดไปจนถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต

นอกจากนี้ การใช้แสงไฟให้ได้ผลดีต้องคำนึงถึงความทั่วถึงของแสง เพราะหากมีพื้นที่ที่แสงสว่างไปไม่ถึง เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีเงาจากทรงพุ่ม หรือเงาจากสิ่งอื่นๆ มาบังแสง ผลผลิตก็จะเสียหายได้

สำหรับหลอดไฟที่เกษตรกรใช้ไล่แมลงผีเสื้อกลางคืน จะใช้หลอดไส้ แสงสีขาวหรือแสงสีเหลืองส้ม ซึ่งประสิทธิภาพในการป้องกันไม่แตกต่างกัน

นอกจากจะช่วยให้ประหยัดแล้วยังเป็นการลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายอีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน