สํานักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงานวันสตรีสากล 8 มีนาคม ประจำปี 2561 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ทีมฟุตบอล บูคู FC นางนุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) นางดารารัตน์ สุเทศ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพังงา และ น.ส.หทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวอาวุโส สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รับผิดชอบงานด้านสิทธิผู้หญิงและกลุ่มเพศสภาพ กล่าวเปิดงานว่าดีใจที่มีโอกาสทำงานในส่วนนี้ มีผู้ร้องเรียนต่างๆ ที่เข้าสู่การพิจารณาของกสม. หลายสิ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่า ทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการป้องกันและยุติการคุกคามทางเพศในการทำงาน แนวทางการตรวจค้นร่างกายผู้หญิงในฐานะผู้ต้องหาหรือนักโทษ การส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการแสวงหามาตรการทางเลือกแทนการกักเด็กและแม่ในครอบครัวผู้ลี้ภัย

“การทำงานด้านปกป้องคุ้มครองสิทธิ ผู้หญิงเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะการปกป้องคุ้มครองหญิงนักปกป้อง สิทธิมนุษยชนที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เพื่อกลั่นแกล้ง เพื่อทำให้เงียบ แต่ความท้าทายที่เลวร้ายที่สุดที่ผู้หญิงนักต่อสู้ต้องเผชิญเหมือนกันคือการถูกคุกคามทางเพศเพื่อทำให้เกิดความหวาดกลัว และเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่

ส่วนเรื่องน่ากังวล คือการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ ถูกนำมาใช้โดยบริษัทขนาดใหญ่ หรือเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงาน ถ้าปล่อยให้มีการฟ้องร้องเช่นนี้มากขึ้นจะทำให้เกิดการสูญเสียคุณค่าที่สำคัญของหลักประชาธิปไตย คือคุณค่าของการคุ้มครองและการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาการใช้กระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อตอบโต้การทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายในการป้องกันปัญหาการฟ้องคดีโดยไม่สุจริต หรือการบัญญัติกฎหมายฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของประชาชน

ในฐานะกสม.กังวลใจมากในการใช้กฎหมายกับ ผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน กฎหมายต้องใช้อย่างถูกต้อง ต้องใช้ปกป้องสาธารณะ ต้องไม่ถูกใช้ในการปิดปากผู้หญิง ขอเรียกร้องให้รัฐบาลรับฟังความเห็นของประชาชน และหามาตรการกรณีทำร้ายนักปกป้องนักสิทธิมนุษยชนด้วย” นางอังคณากล่าว

ด้าน นายวิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านการป้องกันความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ (SOGI) สหประชาชาติ ปาฐกถาเรื่อง “บทบาทผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ปัจจุบัน” ว่า ผู้หญิงที่พิทักษ์สิทธิ์ในบางประเทศถูกเรียกว่าแม่มด ผู้ก้าวร้าวทำให้ครอบครัว สังคมแตกแยก ในปี 1990 เราชอบอ้างความมั่นคงแห่งรัฐมาจำกัดสิทธิสตรีในประเทศไทย สถานการณ์ปัจจุบันนั้นยังน่ากังวนอลเวงอยู่ แต่เรื่องสิทธิสตรีในไทยเราบางอย่างก็ดีขึ้น อย่างเช่นกฎหมายครอบครัวเราก็ปฏิรูป เช่น การฟ้องหย่า แต่ยังเป็นห่วงในหลายเรื่อง เช่น พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ พ.ศ.2558 ซึ่งมีจุดอ่อนคือความมั่นคงแห่งรัฐและศาสนาที่ยังมีข้อยกเว้นในกลุ่มผู้เรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกัน

“เราต้องไม่ลืมว่ามีกระบวนการเยอะแยะที่จำกัดสิทธิเรื่องอื่นที่กระทบสิทธิสตรี เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะพ.ศ.2558 ถึงแม้ปัจจุบันเรามีรัฐธรรมนูญใหม่ใช้แล้ว ดังนั้นขอเรียกร้องว่าต้องใช้รัฐธรรมนูญใหม่โดยไม่ใช้กฎหมายเก่าที่ไม่สมดุลในสถานการณ์ของเราและสิทธิเสรีภาพของประชาชน และขอเรียกร้องให้มีผู้ที่ใช้กฎหมายเป็นผู้หญิงมากขึ้น” นายวิทิตกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน