“ถ้าคุณเลิกใช้สารเคมีโดยสิ้นเชิง สิ่งที่ได้กลับมาคือชีวิตของคนที่คุณรัก”

คำกล่าวจากเกษตรกรรายหนึ่ง ที่สามารถประสบผลสำเร็จจากการทำเกษตรอินทรีย์ ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไป ทั้งในเรื่องของสุขภาพที่ดีขึ้นจากการเลิกใช้สารเคมีและมีรายได้ที่สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้

เมื่อเร็วๆนี้ เลมอนฟาร์ม ร่วมกับ สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส. จัดพิธีให้คำปฏิญญา ของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ PGS น่าน มุ่งแสดงเจตจำนงทำการผลิตพืชผักเกษตรอินทรีย์อย่างซื่อตรงต่อผู้บริโภคตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

การดำเนินการดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาในการใช้ห่วงโซ่เกษตรอินทรีย์ทั้งระบบเพื่อสร้างอาหารที่สะอาดแก่ผู้บริโภค และสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในการเลี้ยงชีพให้สามารถหยุดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีเข้มข้นไปสู่เกษตรอินทรีย์ มีรายได้ ลดหนี้ และจะเป็นรูปแบบหนึ่งในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนสารเคมีของ จ.น่าน และแก้ปัญหาสุขภาพของคนเมืองน่าน

พื้นที่ส่วนใหญ่ใน จ.น่าน เป็นไร่ข้าวโพด เกษตรกรนิยมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใช้สารเคมีเข้มข้นเป็นตัวกระตุ้นให้ได้ผลผลิตที่ดี โดยจะมีโรงงานเข้ามารับซื้อ หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเกษตรกรจะเผ่าและไถกลบเพื่อเตรียมปลูกข้าวโพดในปีต่อไป ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ

นางสุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ กรรมการผู้จัดการ เลมอนฟาร์ม ให้รายละเอียดงานว่า การพัฒนารูปแบบกรณีศึกษาการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ โดยใช้ Lemon Farm PGS Model เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและดำเนินการตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ตลาดจนถึงการผลิตของเกษตรกรรายย่อย โดยเริ่มต้นในปี 2559 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 18 เดือน ให้เกษตรกรหยุดการใช้สารเคมีโดยสิ้นเชิง หยุดการปลูกข้าวโพด หยุดการบุกรุกป่า โดยเปลี่ยนมาสู่การฟื้นฟูดินในวิถีเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันมีสมาชิก 53 ราย ผ่านการรับรอง Organic PGS แล้ว 18 ราย

นางสุวรรณา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเกษตรกรสามารถส่งผลผลิตเกษตรอินทรีย์ PGS จำหน่ายใน จ.น่าน และในระบบตลาดของเลมอนฟาร์มแล้ว โดยกรณีศึกษาเบื้องต้นเกษตรกรบางรายมีรายได้ดีกว่าปลูกพืชสารเคมีเชิงเดี่ยว 7 เท่า นอกจากการดำเนินการในจังหวัด ยังมีการดำเนินการกับเกษตรกรรายย่อย 11 กลุ่ม ใน 8 จังหวัด ภายใต้โครงการจัดการระบบการตลาดและการผลิตอาหารอินทรีย์อย่างยั่งยืนเพื่อสุขภาพผู้บริโภค ผู้ผลิต ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ สุพรรณบุรี อุบลราชธานี ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ ยโสธร และน่าน ความสำคัญอยู่ที่การดำเนินการทั้งห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่การตลาด การจัดการ และการผลิต

ขณะที่ ดร.ธัญศิภรณ์ จันทร์หอม อาจารย์ประจำสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับภาคี ภาครัฐ และเลมอนฟาร์ม มีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาต้นแบบเกษตรอินทรีย์ในจ.น่าน โดยใช้ Organic PGS Model เพื่อสร้างรายได้ยั่งยืนแก่เกษตรกร ทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมี ลดการใช้สารเคมีเกษตรลง รวมทั้งการแก้ปัญหาป่าน่านที่เสื่อมโทรมลง จากการเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปัญหาหมอกควันจากการเผา และมุ่งหวังให้สร้างอาหารดีให้แก่คนเมืองน่านเพื่อสร้างสุขภาพ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์ต่อไป

สำหรับขั้นตอนของการดำเนินการของระบบ Lemon farm Organic PGS Model คือ สำรวจการผลิตของสมาชิกกลุ่ม ร่วมกันกำหนดมาตรฐานและบทลงโทษของผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง หรือมีการแอบใช้สารเคมีในการทำเกษตร ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผู้ที่ทำผิดจะต้องถูกพิจารณาให้ออกจากกลุ่มหรือพักการส่งสินค้ามาขายที่บริษัท ในการตรวจสอบจะใช้เป็นแบบที่ให้แต่ละกลุ่มตรวจสอบกันเอง โดยที่ห้ามตรวจของตนเอง เกษตรกรที่เป็นสมาชิกได้ทำเกษตรอินทรีย์ต่างมีความพอใจในผลตอบรับที่ได้

ด้าน นางศุภลักษณ์ สุวรรณ หรือพี่พลับพลึง กลุ่มเกษตรอินทรีย์พีจีเอส จาก จ.น่าน เล่าว่า จากเดิมเคยมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เพราะทำงานอยู่กับสารเคมีตลอดจนเกือบเสียลูกในท้องไป จึงตัดสินใจลาออกจากงาน และหันมาทำเกษตรอินทรีย์แทน เริ่มจากการไปเช่าที่เพื่อทำเกษตร ปลูกผักขายเหมือนชาวบ้านทั่วๆไป คือปลูกผักขายตามฤดูกาล ขายในราคาถูกไม่ได้คิดกำไร ไม่ได้คิดค่าแรง คือปลูกผักขายตามตลาดใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ใช้เวลาเก็บเงินประมาณ 3 ปี สามารถซื้อที่ตรงนี้ในราคาประมาน 250,000 บาท แต่ปัจจุบันเทศบาลให้ราคาที่ตรงนี้ในราคา 2,500,000 บาท

พี่พลับพลึง เล่าต่อว่า หลังจากที่ได้มารู้จักกับทีมวิจัยจากจุฬาฯ และบริษัทเลมอนฟาร์ม ก็เริ่มมาคิดละว่า จะทำไงให้ได้ผลผลิตครบตามออเดอร์ที่รับมา ทางจุฬาฯ และเลมอนฟาร์มได้เข้ามาสอนให้เลือกปลูกผัก และผลไม้ให้เหมาะสมกับฤดูกาล คำนวณต้นทุนบวกค่าแรง สอนให้เราสามารถคำนวณอายุของพืช เพราะแต่ละชนิดจะมีอายุไม่เท่ากัน เมื่อเรารู้จักอายุของพืชแต่ละชนิดแล้ว เราสามารถจัดสรรได้ว่าจะปลูกพืชชนิดไหนไว้ด้วยกันได้บ้าง และยังมีการเพาะเมล็ดพันธุ์เอง ผสมพันธุ์พืชเอง ขายให้กับเกษตรกรรายอื่นที่สนใจ

นายกฤต อินต๊ะนาม หรือ ลุงทัย อายุ 53 ปี กลุ่มเกษตรอีนทรีย์พีจีเอส จาก จ.น่าน เล่าว่า เดิมมีที่ดินทั้งหมด 53 ไร่ คืนให้ป่าไม้ไป 16 ไร่ ที่เหลือก็ทำไร่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพียงอย่างเดียว โดยใช้สารเคมีในการทำการเกษตรมาตลอด ต่อมาเริ่มสังเกตคนรอบข้างว่าป่วยด้วยโรคมะเร็งและโรคอื่นๆกันเยอะ เกิดจากการที่ใช้สารเคมีในการทำการเกษตร จึงเลิกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เปลี่ยนมาปลูกผักแทน แต่ด้วยความที่ใช้สารเคมีมาตลอด ทำให้ดินในพื้นที่ตาย ไม่สามารถปลูกอะไรได้

ลุงทัย เล่าต่อว่า หลังจากเข้าร่วมเป็นสมาชิก ฝ่ายส่งเสริมของเลมอน ฟาร์ม ลงพื้นที่มาให้ความรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูดิน ช่วยให้ดินที่ตามแล้วกลับมาปลูกพืชผลได้อีก พื้นที่ที่ใช้ทดลองทำเกษตรอินทรีย์ 2 ไร่ เริ่มจากการปลูกมะนอย (บวบเล็ก) เป็นการปรับหน้าดิน ปัจจุบันได้ปลูกพืชชนิดอื่นๆเพิ่มด้วย ทั้งมะเขือยาว ผักสลัด ฟักทองญี่ปุ่น และสตรอว์เบอรี่ ทั้งหมดนี้ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีเลย ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ ตอนนี้สามารถเก็บพืชในสวนขายได้ ที่สำคัญไม่ต้องเหนื่อยไปนั่งขายที่ตลาด แต่ขายทางออนไลน์ ในแต่ละวันจะเก็บผักชนิดต่างๆ ถ่ายรูปละโพสต์ขายทางเฟส ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นชาวบ้านในพื้นที่ ตอนเย็นก็จะขับรถไปส่งของตามบ้าน ตอนนี้กำลังคิดที่จะขยายพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ เป็นการเพิ่มผลผลิตเพื่อจะส่งไปขายที่เลมอนฟาร์มต่อไป

ด้าน นายปัญญา ใคร่ครวญ กลุ่มเกษตรอีนทรีย์พีจีเอส จาก จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า จากเดิมผมทำไร่ปลูกอ้อย เจอปัญหาเยอะ ทั้งการตัด การหาโรงงาน หรือการขนอ้อยไม่หมด ทำให้เกิดความเสียหาย รู้สึกท้อจึงเลิกทำไร่อ้อยเปลี่ยนมาขับรถไถรับจ้างแทน ทำอยู่สักพักคิดว่ามันไม่แน่นอน ไม่ใช่อาชีพที่จะหาเลี้ยงตนเองได้ตลอด จึงกลับมาอยู่บ้านเปิดร้านขายของชำ และทำนาไปด้วย ผ่านไปประมาน 5-6 ปี ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมในโครงการเกษตรยั่งยืน ทำให้คิดขึ้นมาได้ว่า การทำเกษตรแบบไม่ต้องใช้สารเคมียังมีอยู่ พร้อมกับได้เห็นงานของคนที่ทำสำเร็จแล้ว ทำให้มีแรงกระตุ้นที่จะกลับมาปรับใช้กับนาของตนเอง แต่ยังไม่ได้เลิกใช้สารเคมีเด็ดขาดเลย ยังมีใช้อยู่บ้างแต่ไม่เยอะ

ปัญญา เล่าต่อว่า จนได้มารู้จักกับเลมอนฟาร์ม ได้เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ที่ถูกต้อง จึงนำมาใช้กับสวนของตนเอง จากที่ทำนาอย่างเดียว ทำได้ปีละครั้งก็เปลี่ยนมาทำนาด้วยและปลูกผักผลไม้ด้วย เป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีกทาง จากเดิมที่ต้องรอรายได้จากการทำนาอย่างเดียว แต่ตอนนี้มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 8,000 บาท จากการขายผักและผลไม้ ที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่จะส่งขายที่เลมอนฟาร์ม และอีกส่วนหนึ่งจะขายในตลาดชุมชนหรือไม่ก็มีคนมาซื้อถึงสวน

จะเห็นได้ว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมกลุ่มมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก ที่การทำเกษตรอินทรีย์สามารถสร้างรายได้ ทั้งยังส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรเอง และผู้บริโภค

นงนุช แพพุดซา / รายงาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน