“เสถียร จันทิมาธร”

หลี่ปิงเอี้ยน ซุนจิ้ง ระบุในหนังสือ “กลศึกสามก๊ก” ว่า การช่วงชิงเมืองเกงจิ๋วเป็นการกระทำในเชิงผลประโยชน์ขั้นรากเหง้าระหว่างซุนกวนกับเล่าปี่ หากไม่แก้ไขความขัดแย้งนี้ให้ได้ความเป็นพันธมิตรก็ยากที่จะรักษาให้ดำรงคงอยู่ได้

แต่ถ้าหากจะรักษาความเป็นพันธมิตรโดยมอบเมืองเกงจิ๋วให้แก่ซุนกวนไปเล่าปี่ก็จะสูญเสียพื้นที่ที่จะดำรงอยู่

พิจารณาจากสถานการณ์ในขณะนั้น เกงจิ๋ว ซงหยง ในฐานะที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ กล่าวสำหรับ ซุนกวน เล่าปี่ โจโฉ ทั้ง 3 ฝ่ายแล้วล้วนแต่มีความหมายทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญแก่ทุกฝ่ายเป็นอย่างยิ่งทั้งสิ้น

โจโฉถ้าได้เกงจิ๋วไว้ก็จะสามารถข้ามแม่น้ำเตียงกั๋งลงมาทางใต้

หากซุนกวนประสงค์จะสร้างความเป็นเอกภาพแก่พื้นที่ทางใต้แม่น้ำเตียงกั๋งลงมาเพื่อพัฒนาตนเองสืบไป ก็จำเป็นจะต้องมีเกงจิ๋ว ซงหยงอยู่ในมือก่อนอื่น

ส่วนเล่าปี่เกงจิ๋วก็เป็นฐานที่มั่นในการพัฒนาไปสู่เสฉวน จึงยิ่งมีความจำเป็นที่จะขาดเสียมิได้ในอันที่จะต้องยึดครองเอาเกงจิ๋วไว้ให้แน่น

ไม่ยอมปล่อยมือ

ด้วยเหตุนี้ ศึกเซ็กเพ็กโดยธาตุแท้แล้วจึงเป็นศึกใหญ่เพื่อชิง เกงจิ๋ว ซงหยง มาไว้ในความครอบครอง

เมื่อมองจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เกงจิ๋ว ซงหยง เป็นดินแดนอันเชื่อมต่อระหว่าง วุยก๊ก ง่อก๊กและจกก๊ก (ในกาลข้างหน้า) 3 ฝ่าย

ตำราพิชัยสงครามเรียกว่า “ยุทธภูมิสัญจร”

ดังเห็นได้จากใน “9 ยุทธภูมิ” ของตำราพิชัยสงครามซุนวูกล่าวไว้ว่า “เขตแดนต่อแดน 3 ฝ่าย ใครถึงก่อนจักมีมิตรมากหลายในปฐพี เรียกว่า “ยุทธภูมิสัญจร”

“ไปมาสะดวก เป็นยุทธภูมิสัญจร”

ซุนวูได้เน้นอย่างเป็นพิเศษว่า การใช้ยุทธวิธีต่อยุทธภูมิสัญจรนั้น คือ ช่วงชิงการเป็นฝ่ายกระทำในเชิงการทูต ซึ่งก็คือ “ในยุทธภูมิสัญจรพึงคบมิตร”

ด้วยเหตุนี้มีแต่สมานสามัคคีกับง่อก๊กทางการทูตเท่านั้นฝ่ายเล่าปี่จึงจะสามารถรักษาจุดยุทธศาสตร์เกงจิ๋วไว้ได้ หลี่ปิงเอี้ยน ซุนจิ้ง เห็นว่า ขงเบ้งได้เสนอ “ยืม” เกงจิ๋วโดยยืนอยู่บนพื้นฐานนี้ พยายามใช้มาตรการทางการทูต ช่วงชิงให้ได้มาซึ่งการผันเปลี่ยนทางการต่อสู้การทหาร

ในคำว่า “ยืม” ยังเชื่อมโยงไปด้วยการเจรจา การตกลงและการโต้แย้งกันเป็นกระบวน แม้ซุนกวนกับเล่าปี่ทั้ง 2 ฝ่ายจะมีความขัดแย้งและกระทบกระทั่งกันอยู่แต่ก็ยังมิได้ปะทะทางการทหาร

จึงทำให้เล่าปี่ได้ซึ่งเวลาอย่างมากพอเพียงในการสร้างตัวให้เติบใหญ่ขึ้น

กล่าวสำหรับทางด้านง่อก๊กก็มิใช่ว่าจะปล่อยให้ฝ่ายของเล่าปี่โดยกลอุบายอันออกมาเป็นชุดๆ ของขงเบ้งจะเป็นฝ่ายกระทำอย่างเดียว

ดังที่ปรากฏคำเตือนของจิวยี่ที่ว่า

หากปล่อยให้เล่าปี่ขยายอิทธิพลต่อไปจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของกังตั๋ง จึงมีจดหมายถึงซุนกวนให้ระวังเล่าปี่

“เพราะมีบุคลิกจอมคน ทั้งกวนอูกับเตียวหุยก็ล้วนเป็นขุนพลเก่งกล้า”

อย่างไรก็ตาม โลซกกลับยืนยันในหลักการตามยุทธศาสตร์กังตั๋งอย่างมั่นแน่ว “เราจะแช่เข็งเล่าปี่ไม่ได้อย่างเด็ดขาด เขี้ยวเล็บของโจโฉยังแข็งแรงมาก เราเพิ่งได้เมืองเกงจิ๋วมาครองจิตใจชาวเมืองยังไม่มีความภักดีต่อเรา

“ทำไมไม่ให้เล่าปี่ยืมเกงจิ๋วเสีย หากเป็นเช่นนี้โจโฉจะได้มีศัตรูเพิ่มขึ้น ส่วนเราก็จะมีพันธมิตรเพิ่มขึ้น”

กรณีของ “เกงจิ๋ว” จึงเป็นยุทธภูมิทดสอบอย่างสำคัญ

นักเขียนรุ่นหลังยกเครดิตให้กับความชาญฉลาดของขงเบ้งที่มีเล่าปี่เป็นผู้นำ และเพิกเฉยเครดิตของโลซกไปอย่างเจตนากระทั่งมองเห็นเป็นความอ่อนหัด ไร้เดียงสา

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนี่คือการยืนหยัดในหลักการพันธมิตรอย่าง มั่นแน่ว

นอกเหนือจากกรณีของเกงจิ๋วที่เป็นด่านทดสอบอย่างสำคัญทั้งแนวทางของขงเบ้ง ทั้งแนวทางของโลซก กรณีของ “บังทอง” ก็เป็นอีกตัวอย่าง 1

คล้ายกับว่าบังทองเลือกไปอยู่กับเล่าปี่ เลือกไปอยู่กับขงเบ้ง

คล้ายกับว่าง่อก๊กได้สูญเสียบังทองไปอย่างน่าเสียดาย แต่กรณีของบังทองมากด้วยความสลับซับซ้อน เป็นปัจจัยอันเนื่องแต่ซุนกวน แต่กล่าวสำหรับโลซกเขาก็มีหลักการอันเป็นของตนเองเช่นเดียวกัน

หลักการที่ยึดแนวทางเป็นมิตรกับเล่าปี่เพื่อร่วมกันต่อสู้กับโจโฉ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน