“เสถียร จันทิมาธร”

ต่อกรณีโลซกแนะนำบังทองให้เล่าปี่นี้ หลี่ปิงเอี้ย ซุนจิ้ง วิเคราะห์ผ่าน “กลศึกสามก๊ก” ตามสำนวนแปลของ บุญศักดิ์ แสงระวี ผ่านตอนที่ 37

ว่าด้วย “โลซกแนะนำบังทองให้เล่าปี่ นักวางแผนต้องเล็งการณ์ไกล”

หลังซุนกวนปฏิเสธบังทองปล่อยบังทองให้หลุดมือไปอย่างน่าเสียดาย แต่ที่น่าคิดเป็นอย่างยิ่งในเรื่องนี้ก็คือ ต่อมาภายหลังโลซกก็เขียนจดหมายแนะนำอัจฉริยะบุคคลผู้นี้ให้กับเล่าปี่โดยมิได้คำนึงว่าหากหงส์น้อยกับมังกรซ่อนตัวอยู่ด้วยกันแล้วจะเกิดผลร้ายแก่ง่อก๊ก อย่างไรหรือไม่

ไม่มีปัญหา

โลซกเป็นคนรักผู้มีสติปัญญาความสามารถ เป็นคนชอบแนะนำผู้มีปัญญาให้ได้ทำงานตามควรแก่ความสามารถของตน การที่เขาเสนอบังทองให้รับตำแหน่งแม่ทัพของง่อก๊ก อย่างสุดความสามารถก็แสดงให้เห็นถึงจิตใจในข้อนี้ของโลซก

แต่ในขณะที่อำนาจ 3 ฝ่ายเผชิญหน้ากันอยู่ต่างก็ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อ “เจ้านาย” ของตนนั้นโลซกกลับเสนอผู้มีความสามารถให้กับเล่าปี่ก็เป็นเรื่องที่ออกจะคิดลำบากอยู่สักหน่อย

กระนั้น ถ้าหากเราพิจารณาปัญหาอย่างรอบด้านก็สามารถจะมองเห็นถึงการเล็งการณ์ไกลทางยุทธศาสตร์ของโลซกไปอีกก้าวหนึ่ง จากกรณีที่โลซกแนะนำบังทองให้แก่เล่าปี่ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับนายตน

การสนทนาระหว่างโลซกกับบังทองหลังซุนกวนปฏิเสธมีความสำคัญ

จากการโต้ตอบของคนทั้ง 2 เห็นได้ว่าโลซกมีนโยบาย 3 อย่างต่อบังทอง สะท้อนให้เห็นของเขตและท่าทีในการขีดเส้นแบ่งระหว่าง 1 เรา 1 มิตร และ 1 ข้าศึกของ โลซกอย่างแจ่มชัด

นโยบายอย่างดีของโลซกก็ย่อมจะเป็นการขอร้องให้บังทองอยู่ในง่อก๊กต่อไปพลางก่อนอย่างอดทน เพื่อจะได้มีโอกาสทำราชการกับซุนกวนในภายหลัง

เมื่อนโยบายนี้ไม่สำเร็จโลซกก็ยอมที่จะมอบบุคลากรไปให้แก่พันธมิตร ยิ่งกว่าจะยอมให้ตกอยู่ในมือของศัตรู นี่คือนโยบายอย่างกลาง

ถ้าหากบังทองไปเข้ากับโจโฉจริงโลซกยังจะปฏิบัติต่อบังทองอย่างน้ำใสใจจริงแบบเดียวกันหรือไม่ หรือว่าจะใช้นโยบายอย่างเลวต่อบังทอง คือใช้กำลังบังคับไม่ให้บังทองไปเข้ากับโจโฉ

เห็นได้ว่า การรักบุคลากรของโลซกนั้นเกี่ยวโยงอยู่ด้วยกันอย่างแน่นแฟ้นกับความมุ่งหมายทางยุทธศาสตร์ของเขา ในข้อนี้เมื่อเทียบกับจิวยี่แล้วนับว่าโลซกยืนได้สูง มองได้ไกลกว่าจิวยี่หลายเท่าตัว

“(การจะไปอยู่กับโจโฉ) นี้คือเอาไข่มุกไปทิ้งลงในปลักควาย ท่านควรจะไปหาเล่าปี่ยังเมืองเกงจิ๋วคงจะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี เมื่อท่านไปช่วยเหลือราชการเล่าปี่แล้วก็คงจะช่วยให้ซุนกวนและเล่าปี่ 2 ฝ่ายนี้

“ไม่เกิดการปะทะซึ่งกันและกัน ร่วมมือกันขจัดโจโฉสืบไป”

หลิ่นปิงเอี้ยน ซุนจิ้ง เอกสารทางประวัติศาสตร์มิได้มีการบันทึกเรื่องโลซกแนะนำบังทองให้กับซุนกวนเลย แต่มีเรื่องราวที่โลซกมีหนังสือให้กับเล่าปี่ยกย่องและแนะนำบังทองให้กับเล่าปี่

ใน “จดหมายเหตุสามก๊ก” “ประวัติบังทอง” เขียนไว้ว่า

“เมื่อเล่าปี่ครองเกงจิ๋วบังทองไปเป็นนายอำเภออยู่เมืองลอยเอี๋ยงแต่ไม่ทำงานจึงถูกปลดออก ขุนพลโลซกของง่อก๊กจึงมีหนังสือถึงเล่าปี่ว่า บังทองมิใช่คนมีความสามารถธรรมดาแต่เป็นผู้มีสติปัญญาเสมอด้วยอัครมหาเสนาบดี จึงจะแสดงความสามารถให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัด”

หลอกว้านจงผู้เขียนตำนานสามก๊กได้นำเอาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มาผสมผสานกับการเสกสรรปั้นแต่งของเขาอย่างแยบยลในการบรรยายถึงลักษณะพิเศษของโลซกซึ่งซื่อตรงและจริงใจ

แสดงให้เห็นถึงความคิดทางยุทธศาสตร์ของโลซกที่คิดลึกซึ้งถึงการณ์ไกลพอสมควร

ความหมายในทางเป็นจริงไม่ว่าหลอกว้านจงจะเจตนาหรือไม่ก็ตามคือ โลซกยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่า “นโยบายบนยี่ภู่” หรือ “ยุทธศาสตร์กังตั๋ง” อันแลกเปลี่ยนกับซุนกวนเมื่อแรกที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาอย่างมั่นแน่ว

ขณะที่ซุนกวนมิได้ยึดกุมอย่างจริงจัง

บทบาทของโลซกในห้วงหลังสงครามเซ็กเพ็ก ห้วงหลังการตายของจิวยี่ จึงเป็นบทบาทอันสัมพันธ์อยู่กับกรณีเมืองเกงจิ๋วอย่างเป็นด้านหลัก

เพราะว่าโลซกคือคนที่สืบทอดตำแหน่งต่อจากจิวยี่

เพราะว่าความหมกมุ่นครุ่นคิดอันดำรงอยู่ในง่อก๊ก โดยเฉพาะที่ดำรงอยู่ของซุนกวน คือต้องการได้เกงจิ๋วคืนจากเล่าปี่ เพราะประเมินว่าแผน “ยืม” เกงจิ๋วจากเล่าปี่ก็เสมอเป็นเพียงการสะสมกำลังเพื่อรอโอกาสที่จะขยายตัว

บทบาทนี้ของโลซกจะดำเนินไปอย่างไรจึงสำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน