“นิชานันท์ นิวาศะบุตร”

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและไปท่องเที่ยวตามที่ต่างๆ มักจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นสาเหตุหลักมาจากอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะช่วง 7 วันอันตราย ที่จะมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

หลายหน่วยงานต่างรณรงค์ทั้งในการเล่นน้ำปลอดภัย และดื่มไม่ขับ เพื่อกระตุ้นเตือนประชาชนให้ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว

ล่าสุดที่พิพิธบางลำพู ถ.พระอาทิตย์ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) จัดงานแถลงข่าวและเสวนา “สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า” เพื่อเตือนเรื่องความปลอดภัยทางถนน และรณรงค์ให้ประชาชนมีพื้นที่ปลอดเหล้าเล่นน้ำสงกรานต์

ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ช่วงสงกรานต์ ปี 2560 พบว่ามีอุบัติเหตุทางถนน 3,690 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 390 ราย มีผู้บาดเจ็บ 3,808 คน สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ เมาสุรา 43.06% รองลงมาคือ ขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด 27.86% รถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 84.91%

ขณะที่ข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิตของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในช่วงเวลาเดียวกัน เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ดื่มสุรา 1,674 ราย หรือ 20.75 เปอร์เซ็นต์

เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ สสส.มุ่งเน้นดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ด้วยการรณรงค์ “ดื่มไม่ขับ”

นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานนโยบายสาธารณะ สคล. กล่าวว่า สคล. ร่วมกับ สสส. ขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุกโดยสนับสนุนการจัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัยปลอดเหล้ามาตั้งแต่ปี 2549 เริ่มจากการทดลอง 4 พื้นที่ ใน 3 จังหวัดและขยายต่อเนื่องจนครบ 77 จังหวัดทั่วไทย ล่าสุดปี 2560 มีพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้ากว่า 3,200 แห่ง ซึ่งเป็นผลมาจากกระทรวงมหาดไทย ได้บรรจุเป็นมาตรการสำคัญให้ทุกจังหวัดต้องจัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าปลอดภัย โดยในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่ สสส.สนับสนุนเพียง 150 แห่ง อาทิ ถนนตระกูลข้าว 50 แห่ง และพื้นที่อื่นอีก 100 แห่ง ถือเป็นความสำเร็จที่ได้สร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหา

ผลสำรวจจากศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 80.6%์ เห็นด้วยกับการจัดงานสงกรานต์แบบไร้แอลกอฮอล์ ช่วยลดอุบัติเหตุ ลดอัตราการเสียชีวิต ลดปัญหาทะเลาะวิวาทและไม่ทำให้นักท่องเที่ยวน้อยลง ดังนั้น ปี 2561 จึงยังมุ่งเน้นขยายความร่วมมือ จัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้ามากขึ้น

ขณะเดียวกันนี้ยังมีข้อกังวลในเรื่อง “มิดไนต์” สงกรานต์ ที่ถูกธุรกิจแอลกอฮอล์ใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการขายเหล้า เบียร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมต้องร่วมมือดูแล โดยมีตัวอย่างภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จร่วมจัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย อาทิ ห้าง Limelight Avenue จ.ภูเก็ต ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ และจังหวัดขอนแก่นมีนโยบาย 1 อำเภอ 1 พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า รวมทั้งภาคชุมชนพยายามพัฒนาชุมชนในรูปแบบต่างๆ เช่น ตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่

ภายในงานเสวนา “ดื่มไม่ขับ ลดเสี่ยง คาดเข็มขัด สวมหมวก” มีผู้เข้าร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็น อาทิ นพ.ธนะพงษ์ จินวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่าสงกรานต์เป็นประเพณีที่งดงามและสมควรต่อการพาครอบครัว มาเที่ยวชมงานโดยปราศจากเหล้า พร้อมชูวลี “สงกรานต์ปลอดเหล้า ออเจ้าก็ปลอดภัย”

ด้าน นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น กล่าวถึงการจัดพื้นที่ถนนเล่นน้ำปลอดภัยปลอดเหล้าว่า ควรจัดประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ทำธุรกิจแอลกอฮอล์ตั้งแต่ต้น ให้รู้สึกมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของเมือง

 

“อุบัติเหตุ ไม่มีบัตรคิว” ดังนั้นมาตรการพื้นที่ปลอดเหล้าปลอดภัย จึงเป็นมาตรการป้องกันทุกชีวิตที่อาจเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ และรักษาไว้ซึ่งประเพณีอันงดงาม ที่สนุกได้แม้ไม่มีแอลกอฮอล์” นายพีระศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน