“เสถียร จันทิมาธร”

กรณีแคว้นจกยอมคายเมืองกังแฮ เตียงสา และฮุยเอี๋ยง คืนให้กับแคว้นง่อนั้น ตาม “จดหมายเหตุสามก๊กประวัติซุนกวนกับเล่าปี่”

บันทึกตามสำนวนแปล บุญศักดิ์ แสงระวี ว่า

“หลังจากที่เล่าปี่ยึดเกงจิ๋วได้แล้วซุนกวนเคยส่งทูตไปขอเมืองเกงจิ๋วคืนแต่เล่าปี่กลับปฏิเสธว่าขอให้ได้เมืองเลงจิ๋วก่อนแล้วจะคืนเกงจิ๋วให้

“ซุนกวนโกรธส่งลิบองไปโจมตีเมืองเตียงสา เลงเหล็งและฮุยเอี๋ยง 3 แห่ง

“ฉะนั้น เล่าปี่เพื่อที่จะรักษาเกงจิ๋วไว้จึงนำทหาร 50,000 ลงไปยังกองอั๋นให้กวนอูไปรักษาเมืองเอ๊กจิ๋ว แต่ต่อมาภายหลังโจโฉเข้าฮันต๋ง เล่าปี่เสียเมืองเอ๊กจิ๋วจึงได้ส่งทูตไปขอเจรจาสงบศึกกับซุนกวนและดังนั้นจึงตัดเมืองเตียงสา กังแฮแลฮุยเอี๋ยงให้แก่ ง่อก๊ก

“ส่วนเมืองลำกุ๋น เลงเหล็งและบูเหล็ง ยังคงเป็นของเล่าปี่ หลังจากนั้น ซุนกวนจึงยกทัพไปตีฮับป๋า”

หลี่ปิงเอี้ยน ซุงจิ้ง จึงสรุปว่า

ตามบันทึกประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่าเล่าปี่ยอมคายเมืองกังแฮ เตียงสาและฮุยเอี๋ยงออกมานั้น ทำไปด้วยความจำใจ แต่หลอก้วนจงได้บรรยายยุทธวิธีการกระทำถูกกระทำของเล่าปี่ในระดับหนึ่งด้วยความจำใจให้กลายเป็นเรื่องใช้ยุทธวิธีอย่างพลิกแพลงอย่างเป็นฝ่ายกระทำ

ซึ่งที่แท้เป็นการเสกสรรปั้นแต่งทางวรรณกรรมเท่านั้น

หลี่ปิงเอี้ยน ซุนจิ้ง เห็นว่า ท่ามกลาง 3 ฝ่ายซึ่งยืนตระหง่านประจันหน้ากันอยู่นั้นผู้ใดที่สามารถใช้การทูตที่พลิกแพลงรวม 2 ฝ่ายไปตี 1 ฝ่าย ผู้นั้นก็สามารถที่จะผลักข้าศึกให้ตกลงไปในภาวะถูกกระทำที่ต้องถูกกระหนาบจาก 2 ด้าน

ในปัญหาเกงจิ๋วเป็นของใครนั้นขงเบ้งเคยใช้รูปแบบต่างๆ นานาปฏิเสธอยู่เรื่อยมา

โดยชื่อ “ยืม” เกงจิ๋ว แต่โดยความเป็นจริง “ยึดครอง” เกงจิ๋ว ไม่ยอมถอยให้แก่ ง่อก๊กเลยแม้สักกระเบียดนิ้วเดียว

แต่ในตอนนี้ขงเบ้งกลับเสนอตัด 3 เมืองให้ง่อก๊กขึ้นมาเองเพื่อกระตุ้นให้ซุนกวนนำทัพไปตีหับป๋า เบี่ยงเบนความคิดของโจโฉในเรื่องจะเข้าตีเสฉวน การทำเช่นนี้สามารถผ่อนคลายการกระทบกระทั่งกันในเรื่องผลประโยชน์ระหว่างซุนกวนกับเล่าปี่ไประดับหนึ่ง

ทั้งสามารถจะบรรลุถึงจุดมุ่งหมายในการ “ล้อมเว่ยช่วยจ้าว” ด้วย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนึ่งใดก็ดีจะต้องมองเห็นถึงสถานการณ์ใหญ่ก่อน ในบางครั้งก็มีความจำเป็นที่จะต้องยอมเสียผลประโยชน์เฉพาะส่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ทั้งหมดเอาไว้

นี่คือแง่คิดจากเรื่องที่ขงเบ้งยอมตัด 3 เมืองให้กับง่อก๊กด้วยความสมัครใจ

ในการต่อสู้ทางการทหารซึ่งสลับซับซ้อนและดุเดือดซึ่งมีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่อง มีผลได้ผลเสียเชื่อมโยงกันอยู่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตกอยู่ในสภาพความยากลำบากอย่างยิ่งยวดนั้น

ถ้าคิดแต่จะรุกอย่างเดียว ไม่คิดจะถอย มุ่งหมายที่จะให้ได้ประโยชน์ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมตกอยู่ในภาวะเป็นฝ่ายถูกกระทำทุกหนทุกแห่งและได้รับผลที่เลวร้ายไปในที่สุด

อีกประการหนึ่ง การที่ขงเบ้งยืมเมืองง่อก๊กยกทัพไปตีหับป๋า ใช้มีดแทงข้างหลัง โจโฉเพื่อแก้อันตรายของเสฉวน พฤติการณ์ดังนี้นับได้ว่าเป็นการนำเอากลยุทธ์ “ถอนฟืนใต้กระทะ” และ “ล้อมเว่ยช่วยจ้าว” มาใช้ให้เกิดผลอย่างตาเห็น

ฉะนั้น การที่ขงเบ้งมอบ 3 เมืองคืนให้แก่ง่อก๊กอย่างสมัครใจมิใช่แต่จะรักษาพื้นที่สำคัญของเกงจิ๋วไว้ได้เท่านั้น

เสฉวนก็มั่นคงขึ้น

ทั้งยังไม่ต้องเดือดร้อนในการยกทัพไปรบให้เหนื่อยยาก แต่กลับเป็นผลดีแก้ปัญหาอันตรายของเสฉวน ยับยั้งโจโฉไม่ให้รุกเข้ามาได้

แม้ทั้งหมดนี้มิได้เป็น “เรื่องจริง” ในประวัติศาสตร์

แต่ก็ต้องยอมรับว่าความสามารถในการเขียนของหลอก้วนจงก็สะท้อนให้เห็นถึงความรอบรู้ในยุทธวิธีเป็นอย่างดีด้วย

กลยุทธ์คาย 3 เมืองของขงเบ้งอาจทำให้ปลายหอกของทัพวุยพุ่งเข้าใส่ง่อก๊กมาก กว่าที่จะรุกคืบเข้าไปยังเสฉวนของจกก๊ก

แต่การศึกครั้งนี้ก็เปิดตัว “ขุนพล” ใหม่ๆ ของทัพง่อให้ปรากฏ

ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของลิบองที่รักษากำลังอยู่ปากน้ำลกเค้า ไม่ว่าจะเป็นลกซุนที่นำทหารเข้ามา 10 หมื่นตีทัพของโจโฉแตกถอยกลับไป

เด่นชัดว่าบทบาทของโลซกในง่อก๊กเน้นหนักไปทางด้านบุ๋นมากกว่าบู๊

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน