พิพิธภัณฑ์นี้เชียร์มันส์ เยอรมัน ฟุตบอล มิวเซียม

พิพิธภัณฑ์นี้เชียร์มันส์ เยอรมัน ฟุตบอล มิวเซียมตอนนี้แฟนๆ ฟุตบอลชาวไทยอาจยังอยู่ในช่วงอารมณ์คุกรุ่นจากการที่เชียร์ทีมชาติแล้วไม่ได้ดั่งใจ โดยเฉพาะในศึก เอเชียนคัพที่ยังต้องลุ้นเหนื่อยไปอีกอย่างน้อยสองนัด

สถานการณ์นี้อาจไม่ต่างกับผลงานของฟุตบอลทีมชาติเยอรมันที่เข้าสู่โหมดทรานสฟอร์เมอร์ หรือต้องแปลงร่างกันอีกครั้ง หลังจากตกรอบแรกฟุตบอลโลก 2018 มาแบบซึมลึก

การตกรอบเที่ยวนี้ไม่เพียงซ้ำเติมอาถรรพ์แชมป์เก่าตกรอบแรก ยังตกรอบในฐานะบ๊วยของกลุ่ม พ่ายทั้งเม็กซิโกและเกาหลีใต้ จากที่ไม่เคยแพ้มาก่อน

แม้ว่าอินทรีเหล็กจะเล่นด้วยฟอร์มที่ไม่ขี้เหร่จนแฟนๆ ทนดูไม่ได้เหมือนช่วงฟอร์มตกเมื่อหลายปีก่อน แต่ความล้มเหลวซ้ำเติมในศึก ยูฟ่า เนชันส์ ลีก ปีก่อนที่ทำได้ดีที่สุดแค่เสมอกับฝรั่งเศสและฮอลแลนด์ ไม่อาจคว้าชัยชนะได้เลยแม้แต่นัดเดียว ทำให้ทีมดิ่งตกชั้นไปตั้งแต่ยังไม่ทันถึงนัดสุดท้าย

ปี 2019 จึงเป็นปีน่าติดตามว่าทีมเยอรมันภายใต้การคุมทีมของ โยอาคิม เลิฟ จะกู้สถานการณ์กลับมาได้หรือไม่

จะได้หรือไม่ได้ ผลงานปีนี้จะมีผลต่อพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลเยอรมัน หรือ German Football Museum หรือที่ชาวเยอรมันเรียกว่า ดอยต์เชอส์ ฟุสบอล มิวเซียม Deutsches Fussball Museum ด้วย

พิพิธภัณฑ์ฟุตบอลเยอรมันตั้งอยู่ที่เมืองดอร์ตมุนด์ ถิ่นคลั่งไคล้ฟุตบอลของเยอรมนีฝั่งตะวันตก ถ้าเดินออกจากสถานีรถไฟ ดอร์ตมุนด์ ฮอพบาห์นฮอฟ จะเห็นตึกโดดเด่นเป็นสง่าตั้งอยู่ทางด้านขวามือ

ตึกทรงสะดุดตานี้ไม่ได้ผุดง่ายๆ ต้องจัดประกวดแบบก่อน โดยผู้บริหารเมืองดอร์ตมุนด์ ร่วมกับคณะบริหารพิพิธภัณฑ์ของ สหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน หรือ เดเอฟเบ พิจารณาคัดเลือกแบบที่เปิดให้บริษัทสถาปนิกนานาชาติเข้าร่วมด้วย

พิพิธภัณฑ์นี้เชียร์มันส์ เยอรมัน ฟุตบอล มิวเซียม

อาคารพิพิธภัณฑ์ในการ์ดนำเที่ยวทริปแอดไวเซอร์

ผลการคัดเลือกรอบแรก เลือก 3 เจ้า จากทั้งหมด 24 เจ้า ที่ส่งแบบเข้าประกวด ก่อนประกาศผลวันที่ 26 ก.ย. 2011 (พ.ศ.2554) ว่า บริษัทเฮนทริก-เพ็ตชนิกก์แอนด์พาร์ตเนอร์ จากเมือง ดุสเซลดอร์ฟ และ บริษัทพีเอ็มพี อาร์คิเทคเทิน จากมิวนิก ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง

ความคิดสร้างพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในปีที่เยอรมันคว้าแชมป์โลก 2014 ที่บราซิลเป็นเจ้าภาพ แต่เกิดตั้งแต่สมัยที่เยอรมันเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลก 2006 และลงเอยด้วยความชื่นมื่น แม้จะเป็นการคว้าอันดับ 3 ในทัวร์นาเมนต์นั้น

ปีนั้น เดเอฟเบคิดว่าควรนำกำไรจากการจัดมหกรรมเวิลด์คัพ 2006 มา สร้างพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลให้เป็นเรื่องเป็นราว และทันทีที่ไอเดียนี้เผยแพร่ออกมา ก็มี 14 เมือง เสนอตัวเป็นฐานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ทันที

ต่อมาเดือนพฤษ ภาคม 2007 จึงมีการตั้งบอร์ดพิพิธภัณฑ์ของเดเอฟเบ คัดเลือกเมืองที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ได้แก่ โคโลญจน์ โอเบอร์เฮาเซิน เกลเซนเคียร์เชิน และ ดอร์ตมุนด์

ดอร์ตมุนด์คว้าชัยไปในฐานะเมืองในรัฐนอร์ท ไรน์-เวสต์ฟาเลิน รัฐใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุด

กระทั่งปี 2009 สมาชิกรัฐสภาบุนเดสทัก ลงมติเลือกสถานที่ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งในปัจจุบัน

หลังเตรียมการพร้อมแล้ว ทีมงานเริ่มลงมือก่อสร้างในปี 2012 เป็นปีที่ทีมชาติเยอรมันเข้ารอบรองชนะเลิศในศึกยูโร 2012 ที่โปแลนด์และยูเครนเป็นเจ้าภาพ

ในปี 2014 ทีมอินทรีเหล็กคว้าแชมป์โลกได้ถูกที่ถูกเวลา นอกจากบุกเข้าไปสร้างสถิติพิชิตถ้วยฟีฟ่า เวิลด์ คัพ นอกทวีปได้เป็นทีมแรก ประวัติศาสตร์นี้ยังทันเวลาสำหรับการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้พอดิบพอดี

เยอรมัน ฟุตบอล มิวเซียม เปิดอย่างเป็นทางการในปี 2015 หรือ พ.ศ.2558 เป็นจุดหมายสำคัญอีกแห่งสำหรับแฟนฟุตบอลเยอรมันโดยแท้

ความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เหมือนกับอีกหลายพิพิธภัณฑ์ในยุโรปที่มีชีวิตชีวา ไม่ใช่แค่เอาของเก่าๆ มาวางพร้อมคำบรรยาย

สีสันของพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลเยอรมัน เริ่มตั้งแต่เดินเข้าไปแสดงตั๋วเข้าชมที่สั่งซื้อได้ทางอินเตอร์เน็ต จากนั้นพนักงานต้อนรับจะบอกให้นำเสื้อคลุม เสื้อโค้ตลงไปใส่ในล็อกเกอร์ชั้นล่างก่อน

ที่ห้องล็อกเกอร์ จัดไว้เหมือนห้องแต่งตัวของ นักเตะเป๊ะๆ และมีจอฉายภาพนาทีนายกรัฐมนตรีหญิงเยอรมัน แองเกลา แมร์เคิล ตอนที่เดินเข้าไปแสดงความยินดีกับนักเตะชุดแชมป์โลกในห้องแต่งตัว สร้างบรรยากาศได้ตั้งแต่เริ่มต้น

จากนั้นเมื่อกลับไปขึ้นบันไดเลื่อนขึ้นไปชั้นบนของพิพิธภัณฑ์ จะได้ยินเสียงกองเชียร์ร้องเพลงอย่างคึกคักไปตลอดเส้นทาง

บนชั้นจัดแสดงประวัติวงการฟุตบอล เป็นภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ เริ่มตั้งแต่การกำเนิดฟุตบอลในอังกฤษ จนมาถึงประวัติและผลงานของทีมชาติเยอรมันในยุคต่างๆ ตั้งแต่ยุคที่เป็นภาพขาวดำจนมาถึงยุคดิจิตอล

พิพิธภัณฑ์นี้เชียร์มันส์ เยอรมัน ฟุตบอล มิวเซียม

พิพิธภัณฑ์ไม่ได้มีเพียงถ้วยชัย หรือชุดเสื้อแข่งของทีม แชมป์ 4 สมัย ปี 1954, 1974, 1990 และ 2014 หากใช้เทคโนโลยีเข้ามาสร้างความตื่นตาตื่นใจด้วย ไม่ว่าการฉายภาพเข้าจอลูกฟุตบอลสามมิติ หรือการสร้างที่นั่งหมุนรอบลูกฟุตบอลยักษ์

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เกี่ยวข้องกับตำนานฟุตบอลเยอรมัน ทั้งทีมชาติและทีมท้องถิ่นต่างมารวมอยู่ที่นี่ ไม่ว่า แก้วเบียร์ทรงรองเท้าบู๊ต ของ อูโด สไตน์แบร์ก นักเตะฝีเท้าฉกาจและผู้บุกเบิกการตั้งสโมสรฟุตบอลในยุค 1901-1910, ฉากจำลองด้วยตุ๊กตาขนาดจิ๋วในวันฉลองแชมป์โลกครั้งแรก เมื่อปี 1954, วิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวฟุตบอลในยุคอดีต, ก้อนอิฐจากสนามฟุตบอลที่ถูกทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ ไปจนถึงของที่ระลึกเป็นอาวุธหอกจากชนเผ่าในบราซิลเมื่อปี 2014 ฯลฯ

ความน่าสนใจพิเศษในประวัติฟุตบอลเยอรมัน เป็นเรื่องเกี่ยวพันกับสถานการณ์การเมือง ทั้งในเยอรมนี และกับโลก โดยเฉพาะช่วงที่ฮิตเลอร์เรืองอำนาจ เข้ามาจุ้นจ้านในวงการฟุตบอลอยู่ไม่น้อย ตามประสาเผด็จการชอบรู้ทุกเรื่อง

รวมถึงเหตุการณ์ที่เยอรมันรวมชาติในปี 1990 เป็นปีที่ทีมเยอรมันตะวันตกยุค ฟรานซ์ เบ๊กเคนบาวเออร์ เป็นโค้ช คว้าแชมป์โลกที่อิตาลี และปีต่อมาลีกฟุตบอลฝั่งตะวันตกและตะวันออกก็รวมเข้าด้วยกัน

พิพิธภัณฑ์นี้เชียร์มันส์ เยอรมัน ฟุตบอล มิวเซียม

นอกจากนี้ ยังมีเกร็ดความรู้น่าสนใจชวนให้ทึ่งว่าเคยมีเรื่องแบบนี้ด้วยหรือ

เช่นในปี 1987 ตอนที่บริษัทผลิตถุงยางลงนามเป็นสปอนเซอร์บนเสื้อทีมเอฟซี ฮัมบูร์ก ฤดูกาล 1987/88 กลับเจอเดเอฟเบสั่งแบน เพราะเห็นว่าเป็นสินค้าประเจิดประเจ้อในยุคนั้น ทำให้โลโก้สินค้าถูกปิดทับเป็นสีดำ จนต้องมีการฟ้องร้องถึงศาล ในที่สุดศาลเมืองแฟรงก์เฟิร์ตตัดสินให้ยกเลิกคำสั่งแบน และคืนโลโก้ ถุงยางอนามัยให้แปะหน้าอก

พิพิธภัณฑ์ยังใส่ใจกับชีวิตของคนธรรมดาๆ ที่ก้าวเข้ามาร่วมทีมชาติ เช่น ฟริตซ์ วอลเทอร์ กัปตันทีมชาติชุดแชมป์โลก 1954 วัยเยาว์ฝึกเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ ด้วยการใช้ท่อระบายน้ำมาเป็นประตู บนถนนหน้าบ้านในเมืองไกเซอร์สเลาเทิร์น เป็นต้น

หลังจากชมการจัดแสดงอย่างจุใจแล้ว ควรแวะเข้าไปที่ห้องชมภาพยนตร์แบบในโรงหนังสักนิด

นักเตะที่ออกจอครั้งนี้เป็นดาวดังจากชุดแชมป์โลก 2014 เช่น ฟิลิป ลาห์ม, โทนี โคลส, บาสเตียน ชไวสไตน์เกอร์, มานูเอล นอยเออร์, มาริโอ เกิตเซ ผู้ทำประตูชัยในนัดชิงชนะเลิศ

ภาพยนตร์เน้นไปที่ประวัติศาสตร์การคว้าแชมป์ทั้ง 4 ครั้ง ช็อตประทับใจทั้งในสนามและกองเชียร์ ดูแล้วเพลิดเพลินอย่างยิ่ง ขนาดว่าวันที่เข้าไปชมไม่มีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ อาศัยภาษาฟุตบอลล้วนๆ

พิพิธภัณฑ์นี้เชียร์มันส์ เยอรมัน ฟุตบอล มิวเซียม

หนังสามมิติ โฮโลแกรม

ภาพยนตร์ที่ฉายไม่ใช่หนังธรรมดา แต่ใช้เทคโนโลยีสามมิติ ฉายภาพนักเตะออกมาเป็นตัวเป็นๆ พูดกับผู้ชม อย่างที่เคยเห็นในฉากภาพโฮโลแกรมในหนังสตาร์ วอร์ อย่างไรอย่างนั้น

เมื่อชมภาพยนตร์จบกลับลงมาที่ชั้น 2 มีห้องให้เขียนข้อความเป็นที่ระลึกว่าเราเคยมาเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ พร้อมที่นั่งชมเกมฟุตบอลเก่าๆ ที่เป็นตำนาน

พิพิธภัณฑ์นี้เชียร์มันส์ เยอรมัน ฟุตบอล มิวเซียม

ติดชื่อข่าวสดไว้ซะหน่อย

ส่วนด้านล่าง หรือชั้น 1 ของพิพิธภัณฑ์อีกครั้ง นอกจากมีที่นั่งกินขนมและเครื่องดื่มเล็กๆ น้อยๆ (แต่ราคาแพงทีเดียว) เช่นเดียวกับมุมขายของที่ระลึกนิดๆ หน่อยๆ ยังไม่ถึงขั้นเป็นร้านขาย ยังมีรถบัสคันยักษ์ของเมอร์เซเดส เบนซ์ ที่ไว้ใช้รับส่งนักเตะ อนุญาตให้แขกผู้มาเยือนขึ้นไปถ่ายรูปได้

ตอนนี้เมอร์เซเดส เบนซ์ หมดสัญญาการเป็นผู้สนับสนุนฟุตบอลทีมชาติเยอรมันไปแล้วก็จริง แต่ความผูกพันยาวนาน 45 ปีนั้นย่อมเป็นส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ควรประจำการอยู่ในพิพิธภัณฑ์ได้ต่อไป

ส่วนโฟล์กสวาเกน สปอนเซอร์รายใหม่ที่เริ่มต้นแล้วในปี 2019 รวมถึงฟอร์มของทีมอินทรีเหล็กจะเป็นอย่างไรต่อไป จะได้รับการบันทึกเพิ่มในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อย่างไร เป็นเรื่องที่แฟนบอลเยอรมันต้องลุ้นกันต่อ ไม่ว่าจะลุ้นเหนื่อยหรือลุ้นเฮ

ในเมื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต…ชีวิตก็ต้องเดินหน้าต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน