ท่อง‘เกาะกูด’ ชมวิถี-ธรรมชาติ

ท่อง‘เกาะกูด’ ชมวิถี-ธรรมชาติ – กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดย นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นำผู้เข้าร่วมกิจกรรมลง พื้นที่ตามโครงการ “พช.สัมพันธ์สัญจร ครั้งที่ 2 เกาะกูด จ.ตราด” เพื่อศึกษาความสำเร็จของชุมชนท่องเที่ยวโอท็อป นวัตวิถี ที่กรมการพัฒนาชุมชนมีส่วนร่วมสำคัญในการ ขับเคลื่อนและให้การสนับสนุน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน จนสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

“เกาะกูด” ได้รับขนานนามว่า “อันดามันแห่งทะเลตะวันออก” เป็นเกาะใหญ่เป็นลำดับ 4 ของประเทศไทย และยังคงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีป่าไม้เป็นแหล่งกำเนิดสายน้ำ หล่อเลี้ยงชีวิตคนเกาะกูด หาดทรายขาว น้ำทะเลใสสีมรกต ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมปีละนับแสนคน

ท่อง‘เกาะกูด’ ชมวิถี-ธรรมชาติ

ป่าชายเลน

แต่ท่ามกลางกระแสการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ก็ไม่ได้ทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนเกาะกูดเปลี่ยนแปลงไป ชาวบ้านยังคงเป็นชุมชนที่รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีชาวเกาะกูดไว้อย่าง เหนียวแน่น และคงเสน่ห์แบบดั้งเดิมเอาไว้ อย่างไม่รู้คลาย

จุดขึ้นเรือที่แรกบนเกาะกูดอยู่ที่ “อ่าวสลัด” ตามคำบอกเล่าว่าเคยมีโจรสลัดหลบหนีเข้ามาอาศัยอยู่ในย่านนี้ ภายหลังการปราบปรามจึงตั้งชื่อใหม่ว่า “หมู่บ้านอ่าวสลัด”

ท่อง‘เกาะกูด’ ชมวิถี-ธรรมชาติ

ชาวบ้านอ่าวสลัดมาต้อนรับ

ท่อง‘เกาะกูด’ ชมวิถี-ธรรมชาติ

วัดอ่าวสลัด

เป็นชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน สร้างบ้านเรือนติดทะเล มีท่าเทียบเรืออยู่หน้าบ้านเรียงรายทอดเป็นแนวยาว มีโฮมสเตย์น่ารักเล็กๆ กระจายอยู่ในชุมชนตลอดแนว มีร้านอาหาร ร้านค้าจำหน่ายอาหารทะเลแบบสดๆ ให้ได้ลิ้มลอง

พร้อมกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มากมาย เช่น ดำน้ำปลูกปะการัง เส้นทางศึกษาธรรมชาติธนาคารปู บริเวณกลางอ่าวสลัด สถานที่อนุรักษ์และเพาะพันธุ์ปูม้า โดยรับบริจาคปูม้าไข่นอกกระดองมาปล่อย เพื่อให้แม่ปูวางไข่ก่อนนำไปขาย หรือบริโภค

ท่อง‘เกาะกูด’ ชมวิถี-ธรรมชาติ

วิวทิวทัศน์รอบอ่าวที่สวยงาม เมื่อมองจากเรือจะเห็น “วัดอ่าวสลัด” มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานตระหง่านอยู่ที่ปลายแหลมของอ่าว ใช้เป็นสถานที่จัดงานประเพณีสำคัญต่างๆ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาว เกาะกูด

ที่บริเวณอ่าวนี้ยังสามารถเดินทางโดยรถสองแถวต่อไปได้อีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นหาดตะเภา หาดคลองเจ้า บ้านคลองหินดำ หรือ บ้านคลอง

จากนั้นเดินทางต่อไปที่ “บ้านคลองเจ้า” ชาวบ้านที่นี่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ฉันพี่น้อง ทั้งยังบริหารจัดการในชุมชนอย่างแข็งแกร่ง พึ่งพาตนเองได้ด้วยการรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อผลิตสินค้าโอท็อป จำหน่ายให้นักท่องเที่ยว และสร้างเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์มากมาย

ไปต่อกันที่ “เขาเรือรบ” ประติมากรรรมจากธรรมชาติ ภูเขาหินทรายถูกน้ำกัดเซาะจนเป็นร่องคล้ายเรือรบ 3 ลำ จอดเทียบท่า เรียงกัน เป็นที่ประดิษฐาน พระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ หรือ “เสด็จเตี่ย” อีกหนึ่งศูนย์รวมจิตใจของชาวเกาะกูด

จากนั้นเดินศึกษาเส้นทางธรรมชาติคลองค้างคาวเขาเรือรบ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พันธุ์ไม้หายากหลากหลายชนิด และพืชสมุนไพรที่พบได้เฉพาะในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์

ท่อง‘เกาะกูด’ ชมวิถี-ธรรมชาติ

บ้านคลองเจ้า เขาเรือรบ

แวะพักผ่อนที่ “หาดคลองระหาน” หาดแห่งความเงียบสงบ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการหาดทรายขาว ปราศจากผู้คนพลุกพล่าน มีแต่น้ำทะเลใสสะอาด หาดทรายขาวทอดยาวตลอดชายฝั่ง เต็มไปด้วยทิวมะพร้าวริมหาด ร่มเย็น ฝั่งตรงข้ามเป็นเกาะแรด ทะเลสวยงาม และยังเป็นเกาะสุดท้ายในน่านน้ำทะเลตราด

ท่อง‘เกาะกูด’ ชมวิถี-ธรรมชาติ

ธนาคารปู

จุดสุดท้ายที่น่าสนใจ เป็นแหล่งเรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ “ท่าระแนะ” อุดมสมบูรณ์ด้วยผืนป่าชายเลน 2,000 ไร่ เป็นแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ของชาวบ้าน จับปู ปลา กุ้ง หอย ทั้งยังนั่งเรือไปลานตะบูน ผ่านป่าในคลองถึง 3 ป่า คือ ป่าโกงกาง ป่าจาก และป่าตะบูน หรือจะพักผ่อนพายเรือคยักในแม่น้ำ เพื่อผ่อนคลายในบรรยากาศสดชื่นรอบๆ ป่าชายเลน

นายนิสิต อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนบอกว่า หลังจากมีโครงการชุมชนท่องเที่ยว โอท็อป นวัตวิถี ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจาก ผู้ประกอบการว่า ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในตัวคุณภาพของสินค้ามากขึ้น ขายสินค้าได้มากขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ไม่เพียงแต่สร้างรายได้ให้กับชุมชนเท่านั้น แต่ชุมชนเองยังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ศูนย์รวมวัฒนธรรม และความสามัคคีของคนในเกาะกูด

นำไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เสริมความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงยั่งยืน

“เรามีชุมชนท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ และสามารถผลักดันให้กลายเป็นชุมชนที่เกิดการท่องเที่ยวสไตล์ใหม่ รวมเอาการอนุรักษ์เข้ากับการท่องเที่ยวให้เจริญเติบโตไปพร้อมๆ กัน โดยไม่รีบร้อน ไม่ปรุงแต่งให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ แต่เป็นการท่องเที่ยวที่อยู่บนกติกาของชุมชน บนขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมของตัวชุมชน

แม้อาจต้องใช้เวลาในการเข้าหากันและรู้จักกันให้มากขึ้น แต่นี่คือเสน่ห์ของการ ท่องเที่ยวสไตล์ใหม่ที่ไม่ว่าจะเที่ยวอีกกี่ครั้ง ประสบการณ์ที่ได้รับจะไม่มีวันเหมือนเดิม” นายนิสิตกล่าวทิ้งท้าย

นิชานันท์ นิวาศะบุตร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน