อาคารโบราณสถาน ค่ายตากสิน

แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เมืองจันทบุรี

อาคารโบราณสถาน ค่ายตากสิน – สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ โดย นาวาเอก พาสุกรี วิลัยรักษ์ รองเลขานุการกองทัพเรือ ได้แนะนำและพาคณะเข้าชม โบราณสถานภายในค่ายตากสิน อ.เมือง จ.จันทบุรี ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งของกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธิน

โดยได้รับเกียรติจาก พลเรือเอกประเจตน์ ศิริเดช อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม พร้อมด้วย แพทย์หญิง คุณหญิง นงนุช ศิริเดช รองประธาน มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม เป็นผู้นำเยี่ยมชมด้วยตนเอง

สำหรับ โบราณสถานภายในค่ายตากสิน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของจังหวัดจันทบุรี ตั้งอยู่บริเวณบ้านลุ่ม ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี ซึ่งเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยเมื่อครั้งที่พระยาตาก ยกทัพมาตีจันทบุรี แล้วยึดเป็นที่ตั้งมั่นในการเตรียมการกู้ชาติหลังเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าในปี พ.ศ. 2310








Advertisement

แพทย์หญิง คุณหญิง นงนุช เล่าว่า ในปี พ.ศ. 2436 หรือ ร.ศ. 112 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งเศสได้ใช้กําลังบีบบังคับและยื่นคําขาดให้ไทยยกดินแดนของลาวทางฝั่งซ้ายของ แม่น้ำโขงกับเขมรส่วนนอก ซึ่งเคยเป็นประเทศราชของไทยให้กับฝรั่งเศส ในระหว่าง ที่รอให้สัญญาต่างๆ มีผลบังคับใช้ ฝรั่งเศสยึดจันทบุรี ไว้เป็นประกันจนถึงปี พ.ศ. 2448

เหตุผลที่เลือกยึดเมืองจันทบุรีก็เพราะเป็นเมืองที่มีความสําคัญทางยุทธศาสตร์ เป็นจุดที่ควบคุมอ่าวไทยที่ติดต่อกับแหลมมลายูของอังกฤษ เป็นทางผ่านเข้าไปยัง สามจังหวัดของไทยที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดด้านทรัพยากรธรรมชาติ

ซึ่งได้แก่ บ่อพลอย บ่อไพลิน ในเขตเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ นอกจากนั้นเมืองจันทบุรี ยังมีท่าเรือที่ปากแม่น้ำ และมีอู่ต่อเรือระวางตั้งแต่ 300 – 400 ตัน การยึดเมืองจันทบุรี ก็เท่ากับยึดท่าเรือ อู่ต่อเรือ และเรืออื่นๆ ไว้ เป็นการตัดกําลังไทยทางอ้อมด้วย

กองทหารฝรั่งเศสได้ตั้งค่ายทหารขึ้นในบริเวณบ้านลุ่ม หรือบริเวณที่เป็นค่ายตากสิน ในปัจจุบันและที่ปากน้ำแหลมสิงห์ รวมทั้งได้สร้างสิ่งปลูกสร้างอีกหลายหลัง ปัจจุบันหลักฐานร่องรอยทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับจันทบุรีที่บ้านลุ่ม ปรากฏให้เห็นอยู่ภายใน ค่ายตากสินเท่านั้น

อาคารที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นและยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน ได้แก่ อาคารกองบัญชาการ อาคารกองรักษาการณ์ อาคารที่พักทหารฝรั่งเศส อาคารคลังพัสดุ อาคารคลังแสงหมายเลข 5 อาคารคลังแสงหมายเลข 6

ด้าน พล.ร.อ.ประเจตน์ กล่าวเสริมว่า ภายหลังจากที่ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากเมืองจันทบุรี เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2448 ค่ายทหารในบริเวณค่ายตากสินได้มีการใช้งานสืบต่อมาดังนี้

พ.ศ. 2472 เป็นที่ตั้งของโรงเรียนประชาบาล และบ้านพักของข้าราชการ ฝ่ายปกครอง
พ.ศ. 2479 เป็นที่ตั้งกองทหารม้า ม.พัน. 4
พ.ศ. 2488 เป็นที่ตั้งของ กองพันทหารราบนาวิกโยธิน ที่ 3
พ.ศ. 2497 เป็นที่ตั้งกองป้องกันพิเศษ จันทบุรี
พ.ศ. 2498 ได้มีคําสั่งขยายกําลังกองป้องกันพิเศษ จากกําลัง 1 กองร้อย เป็นกองพัน ชื่อว่า พัน ร.2 นย.

ต่อมาได้แปรสภาพเป็นกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 กรมผสมนาวิกโยธิน เมื่อ 10 สิงหาคม 2521 และปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็น กองพัน ทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน

ตั้งแต่ 1 เมษายน 2532 เป็นต้นมา ในส่วนของการบูรณะโบราณสถานในค่ายตากสินนั้น แพทย์หญิง คุณหญิง นงนุช กล่าวว่า ด้วยความที่ อาคารที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้น ตั้งแต่ครั้งที่เข้ายึดครองเมืองจันทบุรีในช่วง ร.ศ.112 จนเมื่อ ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจันทบุรีในปี พ.ศ.2447

อาคารเหล่านี้ก็ยังถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ทำให้มีสภาพทรุดโทรมเป็นอย่างมาก โดยในปี พ.ศ. 2545 มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิมและกรมศิลปากร ได้ร่วมกันสํารวจเพื่อทําแผนบูรณะ พบปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาความชื้น หลังคารั่วซึมเนื่องจากวัสดุหมดสภาพ ทําให้ผนังเปื่อยยุ่ย และพบมีการทําลายจากปลวกในทุกอาคาร การทรุดตัวของโครงสร้าง กรอบและบานประตูหมดสภาพ ผุพัง บางส่วนถูกเปลี่ยนใหม่ ไม่สอดคล้อง กับยุคสมัยของอาคาร

เนื่องจากมีความสําคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติดังที่กล่าวแล้ว และอยู่ในสภาพที่ ต้องบูรณะอย่างรีบด่วน ทางมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม โดยพลเรือเอก ประเจตน์ ศิริเดช ประธานมูลนิธิ ฯ จึงได้นําความขึ้นกราบบังคมทูล สมเด็จพระกนิษฐาธิราช กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานที่ปรึกษาของมูลนิธิฯ ให้ทรงทราบ และ ทูลเชิญเสด็จฯ เปิดโครงการบูรณะโบราณสถานในค่ายตากสินในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ต่อจากนั้นทางมูลนิธิจึงได้เข้าดําเนินการบูรณะอาคารโบราณสถานต่าง ๆ ภายในค่ายตากสิน โดยเน้นให้คงรูปแบบ เดิมตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์เสริมความแข็งแรงของตัวอาคาร แก้ไขเรื่องการ รั่วซึมซึ่งทําให้เกิดความชื้น กําจัดและป้องกันปลวก งานบูรณะได้ดําเนินต่อเนื่องมา จนเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2558 ในระหว่างนั้น มูลนิธิฯ ได้เตรียมหาข้อมูลเพื่อจัดนิทรรศการประวัติศาสตร์

โดยเน้นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอาคารโบราณสถาน ซึ่งได้แก่ พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้นยัง มีประวัติของค่ายตากสินนับตั้งแต่ฝรั่งเศสออกจากจันทบุรี จนถึงปัจจุบัน ประวัติความ เป็นมาของเมืองจันทบุรีและข้อมูลการอนุรักษ์โบราณสถานในค่ายตากสิน และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราช กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารโบราณสถานที่ได้บูรณะแล้ว และทอดพระเนตรนิทรรศการ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559

ทั้งนี้การดำเนินการต่าง ๆ ในการ บูรณะอาคารโบราณสถานต่าง ๆ ภายในค่ายตากสิน จนแล้วเสร็จ ใช้งบประมาณดำเนินการกว่า 45 ล้านบาทซึ่งได้มาจากการจัดกิจกรรมหารายได้ ทั้งการรับเงินบริจาค การจำหน่ายของที่ระลึก รวมถึงการสนับสนุนจาก นาย Laurent Bill เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ประสานกับคณะกรรมการสมาคมชาวฝรั่งเศส-ไทยเพื่อสาธารณประโยชน์

ตลอดจนตัวแทนของภาคเอกชนชาวฝรั่งเศสในไทย โดยทิ้งแนวคิดการออกล่าอาณานิคมไว้เบื้องหลัง และจับมือสมานฉันท์เป็นมิตรประเทศ จนทำให้สถาปัตยกรรมฝรั่งเศสในค่ายตากสินทั้ง 7 หลัง กลับมางดงาม และควรค่าแก่การศึกษาอีกครั้ง เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สําคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยต่อไป

 


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน