ท่องเที่ยวชุมชน‘อันดามัน’

เพลิดเพลินกับ 4 วิถีปักษ์ใต้บ้านเรา

ท่องเที่ยวชุมชน‘อันดามัน’ช่วงไม่กี่ปีมานี้ท่องเที่ยวชุมชนได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก เพราะนอกจากจะเป็นนโยบายหนึ่งของรัฐบาลแล้ว ชุมชนเองก็มีความกระตือรือร้นที่จะโชว์ศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งแต่ละแห่งมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีความหลากหลาย รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทำให้ชุมชนมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยว นอกเหนือจากการทำอาชีพหลัก

ล่าสุด “คุณศิรวี วาเล๊าะ” ท่องเที่ยวและกีฬา จ.ภูเก็ต จัดโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน(CBT) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามันประจำปี 2562 ในช่วงกลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้เชิญผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวและสื่อมวลชนเข้าร่วมประเมินแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวหลัก ในพื้นที่ 5 จังหวัด อันดามัน ประกอบด้วย ภูเก็ต กระบี่ พังงา ตรังและสตูล ที่มีชุมชนท่องเที่ยวนำร่องประจำปี 2560, ปี 2561 และปี 2562 รวม 30 ชุมชน

ท่องเที่ยวชุมชน‘อันดามัน’

สำหรับ 10 ชุมชนท่องเที่ยวที่ได้รับการคัดเลือกในปีนี้ ประกอบด้วย 1.จ.ภูเก็ต มี 2 ชุมชนคือ ชุมชนท่องเที่ยวบ้านท่าฉัตรไชย ต.ไม้ขาว อ.ถลาง และชุมชนท่องเที่ยวบ้านบางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง, จ.พังงา ชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำจืด ต.เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว และชุมชนท่องเที่ยวเมืองเก่าตะกั่วป่า ต.ตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า, จ.กระบี่ มีชุมชนท่องเที่ยวอ่าวลึกน้อย อ.อ่าวลึกน้อย อ.อ่าวลึก และชุมชนท่องเที่ยวบ้านไหนหนัง ต.เขาคราม อ.เมือง, จ.ตรัง มีชุมชนท่องเที่ยวหน้าเขา-ในวัง ต.หนองบัว อ.รัษฎา และชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำราบ ต.กันตัง อ.กันตัง, จ.สตูล ชุมชนท่องเที่ยวบ้านเกตรี ต.เกตรี อ.เมืองสตูล และชุมชนท่องเที่ยวบ้านควน ต.บ้านควน อ.เมือง

ท่องเที่ยวชุมชน‘อันดามัน’

ในแต่ละชุมชนที่คณะของคุณศิรวีไปเยี่ยมชมนั้น นอกจากจะไปดูสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ยังได้จัดวงเสวนาเสนอแนะวิธีการบริหารจัดการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวก็ได้ชี้จุดบกพร่องและแนะนำในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ต้องเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ








Advertisement

ทั้งนี้คุณศิรวีได้สรุปภาพรวมของโครงการที่ทำมาเป็นปีที่ 3 ให้ฟังว่า ในเขตอันดามัน 5 จังหวัดที่อยู่ในโครงการนี้ ผู้คนในพื้นที่มี 4 วิถีที่เป็นเอกลักษณ์ แรกสุดเป็นวิถีชาวไทยพุทธ 2.วิถีจีน 3.วิถีชาวไทยมุสลิม และสุดท้ายคือชาวเล ที่มีทั้งอุรักลาโว้ยและมอเเกน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ออกมาทั้ง 4 วิถีแล้วก็นำไปสู่เรื่องของอาหารการกิน, การแต่งกาย, ศิลปะการแสดง และความเชื่อ โดยเชื่อมเส้นทางระหว่างเมืองหลักกับเมืองรอง

ท่องเที่ยวชุมชน‘อันดามัน’

อย่างเช่นภูเก็ตมีการจัดการท่องเที่ยวเชิงกีฬาระดับโลกเยอะมาก ก็ได้ประสานขอให้เปลี่ยนอาหารในโรงแรมมาทานอาหารของชุมชน แต่ก็ได้กำชับชุมชนว่าต้องสะอาดสดใหม่ และจัดสถานที่ให้สวยงาม ให้สมกับเป็นระดับโลก ทำให้ชุมชนสามารถยกระดับตัวเองขึ้นมา โดยทางการท่องเที่ยวฯ จ.ภูเก็ต พยายามดึงภาคเอกชนกับชุมชนให้มาร่วมงานกัน อย่างที่ผ่านมาทางโรงแรมลากูน่าภูเก็ตจัดวิ่งมาราธอนให้เงินถึง 340,000 บาทกับ 10-11 ชุมชนเพื่อให้มาจัดอาหารพื้นเมือง ได้ชุมชนละ 3-4 หมื่นบาท นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากความเชื่อมั่นในเรื่องของชุมชนท่องเที่ยว

ท่องเที่ยวชุมชน‘อันดามัน’

ในบรรดา 10 ชุมชนท่องเที่ยวนั้น ผู้เขียนได้มีโอกาสไปสัมผัสบางแห่งเท่านั้น เนื่องจากมีเวลาจำกัด แต่ประทับใจทุกชุมชนเพราะไม่ว่าจะมีปัญหาในบางเรื่องบางประเด็น สิ่งสำคัญที่สุดที่รู้สึกได้คือ ผู้นำชุมชนและชาวบ้านต่างมีความสามัคคี มีความเสียสละ และมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ อยากให้คนต่างถิ่นมีความสุขกับแหล่งท่องเที่ยว กับอาหารการกิน และมีความสุขกับอัธยาศัยไมตรีของคนในชุมชน แม้ในบางชุมชนอาจจะไม่ได้ใส่ใจในเรื่องสุขลักษณะมากนัก โดยเฉพาะห้องน้ำที่ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ทั้งที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องไปใช้บริการ

ท่องเที่ยวชุมชน‘อันดามัน’

ทีนี้ลองมาฟังความคิดเห็นในมุมของบริษัททัวร์กันบ้าง “คุณอุ่นจิตต์ นิลน้ำเพชร” ผู้จัดการบริษัท เอ็นเอ็นเอสเอ็น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบการท่องเที่ยว สำหรับตลาดที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาพูด อย่างชาวฝรั่งเศส ชาวแคนาดา และชาวเกาะรียูเนี่ยน เธอพูดถึงชุมชนท่องเที่ยวบ้านไหนหนัง ต.เขาคราม อ.เมือง จ.กระบี่ ซึ่งจัดกิจกรรมพายเรือคยักชมทัศนียภาพตามเส้นทาง อย่างเช่น หาดอ่าวมะขาม และชมภาพเขียนโบราณ รวมถึงการเลี้ยงผึ้งโพรงว่า ชุมชนนี้เป็นหนึ่งในชุมชนที่น่าประทับใจ เส้นทางพายเรือคยักสวยงามประทับใจมาก นักท่องเที่ยวได้เข้าถึงบรรยากาศและสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศไทยทางใต้ในป่าชายเลน ส่วนการเลี้ยงผึ้งก็น่าสนใจเช่นกันเพราะเป็นเอกลักษณ์ของผึ้งที่หากินในป่าโกงกาง เป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่นและหาไม่ได้ในป่าของประเทศตะวันตก

“สิ่งที่ควรปรับปรุงคือไกด์นำเที่ยวเส้นทางพายคยัก น่าจะต้องสอนวิธีการพายให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการพายตลอดเส้นทาง ส่วนเรื่องของการนำชมอ่าวมะขามด้วยเรือ ควรทำร่มสำหรับเรือระหว่างนำชม เช่น ใช้ไม้ไผ่กับผ้าขาวบางๆ ซึ่งเบาและไม่ต้องลงทุนสูง และใช้เฉพาะเวลาทำการ พร้อมชากาแฟและขนมท้องถิ่น สำหรับกลุ่มลูกค้าสูงอายุอีกแบบหนึ่ง ตัวดิฉันเองประทับใจเส้นทางเรือคยัก แทบจะพูดได้ว่าเป็นหนึ่งในเส้นทางเรือคยักที่สวยที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้”

ท่องเที่ยวชุมชน‘อันดามัน’

ส่วนชุมชนบ้านหน้าเขา-ในวัง อ.เมือง จ. ตรัง ที่จัดกิจกรรมพายเรือคยักในถ้ำนาคราช ไหว้พระนอนที่วัดถ้ำพระพุทธ เธอว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนที่น่าแนะนำ เพราะสภาพทางภูมิศาสตร์ยังมีความสดใหม่ที่หาดูได้ไม่ง่ายนัก ถ้ำนาคราชสวยงามมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพายเรือคยักในถ้ำ ยิ่งทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจสภาพของความเป็นอยู่ของ 13 หมูป่าที่ไปติดในถ้ำขุนน้ำนางนอนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งอาหารมื้อเย็นที่ชุมชนบริการ เป็นอาหารที่มีรสชาติดีและอร่อยที่สุด น่าจะบอกได้ว่าถูกปากนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกได้เป็นอย่างดี

“ชุมชนนี้มีศักยภาพในการบริหารจัดการทั้งในด้านเทคนิคการบริหารจัดการ และจัดเพิ่มความสวยงาม อย่างเช่น บนโต๊ะอาหาร โดยไม่ขัดแย้งกับธรรมชาติที่ทางชุมชนมีอยู่ ที่นี่น่าจะเป็นหนึ่งในเส้นทางการท่องเที่ยวป่าเสริมให้นักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อนอยู่ริมทะเลในระยะเวลานาน สิ่งที่อยากแนะนำคือให้ความรู้แก่ไกด์หรือชาวบ้านที่นำเที่ยวให้มากกว่านี้ เพื่อจะได้ให้ข้อมูลอย่างถูกต้องแก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือน”

เชื่อว่า 2 ชุมชนนี้คงทำให้ได้เห็นกันแล้วว่า “ท่องเที่ยวชุมชนอันดามัน” มีเสน่ห์และน่าไปสัมผัสยิ่งนัก

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน