ชิม‘หมึกแดดเดียว’ปากน้ำปราณ

ชมธนาคารปู-ส่องไข่นอกกระดอง

ชิม‘หมึกแดดเดียว’ปากน้ำปราณ – จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 แล้ว สำหรับเทศกาลกินหมึกแดดเดียวและอาหารทะเลปากน้ำปราณ เริ่มตั้งแต่ 30 ส.ค.-1 ก.ย. ที่ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ วันก่อน นายนรินทร์ ทรงนิพิฐกุล ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ข้อมูลว่างานนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวตลอดทั้งปี

อีกทั้งยังมีการท่องเที่ยวชายแดน นั่นคือด่านสิงขร ที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยทางจังหวัดมีนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น การพัฒนาเชิงพื้นที่ศักยภาพ Thailand Riviera ซึ่งจะเชื่อมโยง EEC และระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ มุ่งเน้นตลาดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูง เช่น ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย การท่องเที่ยวโดยชุมชน รวมทั้งการส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวเมืองหลัก-เมืองรอง

ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ระบุว่า ในปี 2561 จ.ประจวบคีรีขันธ์มีรายได้จากการ ท่องเที่ยวกว่า 43,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณ 8% โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาในพื้นที่มากกว่า 4.8 ล้านคน สำหรับนโยบายในการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวเน้น 4 ประเด็นหลักคือ ยกระดับความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว, ส่งเสริมความสะอาดในแหล่งท่องเที่ยว, ส่งเสริมความเป็นธรรมในการท่องเที่ยว, รณรงค์และส่งเสริมผู้ประกอบการไม่ให้เอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน

ขณะที่ นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล นายอำเภอปราณบุรี บอกว่าปีที่แล้วจัด 2 วัน 2 คืน มี นักท่องเที่ยวมา 7 พันกว่าคน มีรายได้ประมาณ 5 แสนบาท แต่ปีนี้เพิ่มเป็น 3 คืน คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาเป็นหมื่นคน และน่าจะมีรายได้เกือบแสนบาท ซึ่งในงานจะมี

นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล นายอำเภอปราณบุรี

หมึกแดดเดียวขายแน่นอน และผู้ว่าฯ ก็เน้นให้ผู้ประกอบการขายสินค้าที่มีคุณภาพและราคายุติธรรม อ.ปราณบุรีนั้นอยู่ติดกับหัวหิน เป็นแหล่ง ท่องเที่ยวที่มีธรรมชาติสวยงามหลายแห่ง และมีความสงบ ห้องพักก็ราคาไม่แพง อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหารทะเลราคาถูกอีกด้วย

เป็นที่ทราบกันดีว่าชาวบ้านในบริเวณปากน้ำปราณส่วนใหญ่ทำการประมงกัน แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง มีการใช้เครื่องมือทำการประมงที่ทันสมัยขึ้น และจำนวนผู้คนที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้สัตว์น้ำทั้งหลายมีจำนวนลดลง หมึกและปูที่จับได้ก็มีปริมาณลดลงเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ชาวประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ช่วยกันรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว หนึ่งในกิจกรรมนั้นก็คือ การทำธนาคารปู โดยมี “นายเจือ แคใหญ่” ประธานกลุ่มเกษตรกรทำประมงปากน้ำปราณ วัย 63 ปี เป็นหัวเรือใหญ่

นายเจือเล่าว่า สมัยก่อนสัตว์น้ำมีเยอะ ตอนปี 2520 ทำประมงกันมากขึ้น ทั้งประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน เครื่องมือก็พัฒนามากขึ้น มีการใช้ลอบทำให้จับสัตว์น้ำได้

นายเจือ แคใหญ่

จำนวนมาก พอช่วงปี 2545-2547 ชาวประมงเห็นผลกระทบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะคนที่หาปูม้าเพราะจับได้ไม่พอค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน

“เมื่อก่อนใช้ลอบดักได้ปูม้าทั้งตัวเล็กตัวน้อย ช่วงนั้นชาวประมงคิดไม่ถึง ยังไม่รู้ถึงการอนุรักษ์นำขึ้นมาหมด ตัวไหนมีไข่นอกกระดองจับหมดตัวเล็กก็ติดมา เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปูม้าลดลง สัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ก็เช่นเดียวกันเพราะการใช้เครื่องมือจับสัตว์ทางทะเลที่เปลี่ยนไป”

กระทั่งปี 2551 ทางประมงอำเภอเสนอเรื่องธนาคารปูม้า ถ้ามีไข่นอกกระดองนำมาอนุบาลให้เกิดลูก แล้วปล่อยูคืนสู่ธรรมชาติ จึงรวมกลุ่มชาวประมง 90 กว่าคน ทำธนาคารปู

ระยะแรกเป็นกลุ่มประมงเรือเล็กปาก คลองปราณ โดยมีข้อตกลงกันว่าเมื่อได้ปูไข่นอกกระดองให้นำมาอนุบาลไว้ เลือกเฉพาะไข่สีดำทีพร้อมจะเกิดลูก หลังจากนั้นทางกรมประมงและปตท.เข้ามาช่วยเหลือ พอทำมาระยะหนึ่งปูเริ่มมีปริมาณมากขึ้น

ที่ผ่านมาแม้หลายคนมองว่าการใช้ลอบ ทำให้ปูมีน้อยลงเพราะจับตัวเล็กขึ้นมาด้วย แต่สำหรับนายเจือแล้วมองว่าการใช้ลอบจับปูเป็นผลดีถ้ารู้จักใช้ เพราะจากประสบการณ์ปูลอบแข็งแรงกว่าปูอวน ซึ่งจะอ่อนแอกว่า เนื่องจากว่าติดอวนหลายวัน

ตอนแรกยังไม่รู้จักวิธีการจัดการกับปูเล็กที่ได้มา ไม่เข้าใจเครื่องมือการทำประมงก็โทษกันว่าลอบเป็นตัวการทำให้ทรัพยากรหมดไป ความจริงอยู่ที่จิตสำนึกของคนต่างหาก ถ้าไม่จับปูตัวเล็กไม่เอาปูไข่นอกกระดองมากิน แต่เอาไข่นอกกระดองมาอนุบาลแทน ปูก็จะไม่ลดลง และในส่วนคนซื้อก็ไม่ควรซื้อหรือกินปูไข่นอกกระดอง

ธนาคารปู

งานสำคัญของธนาคารปูคือ รับซื้อและรับบริจาคปูไข่นอกกระดองมาพักไว้ ซึ่งสมาชิกต่างให้ความร่วมมืออย่างดี บางคนก็บริจาคให้เลย บางคนก็ขายให้ในราคาถูก ถ้าเป็นปูไข่เหลืองนำมาใส่บ่อไว้ จากนั้นจะเปลี่ยนสีจากไข่สีเหลืองเป็นสีน้ำตาล สีเทาและสีดำ โดยมีข้อตกลงกันว่าถ้าขนาดปูน้อยกว่า 10 ซ.ม. จะไม่รับซื้อและสมาชิกที่ได้มาก็ต้องปล่อยด้วย ซึ่งปูขนาดเกิน 10 ซ.ม.ขึ้นไปสามารถออกไข่ได้แล้ว ตอนแรกช่วงนำปูที่มีไข่นอกมาจะไม่ได้มัดยางที่ก้าม ทำให้ปูต่อสู้กันจึงต้องมัดยาง แต่ปูยังสามารถเขี่ยไข่เองได้

“ปูตัวหนึ่งมีไข่ 80,000-2,000,000 ฟอง หากปล่อยจะได้ปูที่มีชีวิตรอดได้ 3,000-7,000 ตัว ถ้าเขี่ยวันนี้ก็ปล่อยลูกปูได้ในวันเดียวกัน คิดง่ายๆ ปกติมันเกิดในทะเล มรสุมคลื่นใหญ่ขนาดไหนก็อยู่รอดมาได้ จะปล่อยตอนกลางคืน เพราะเคยปล่อยตอนกลางวันแล้วอัตรารอดน้อย”

กิจกรรมอีกอย่างของธนาคารปูคือ การทำซั้งกอทางมะพร้าวหรือปะการังเทียม เพื่อให้สัตว์น้ำมีที่อยู่และมีปริมาณเพิ่มขึ้น เปรียบเหมือนการทำบ้านให้ปลา โดยมีข้อตกลงกันว่าห้ามทำการประมงในซั้ง แต่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวไปตกเบ็ดได้ โดยทำต่อเนื่องกันมาเพราะเห็นผลชัดเจน เวลาชาวประมงไปวางอวนจะเห็นปลาขึ้นเต็มไปหมด ปัจจุบันหันมาทำซั้งเชือกแทนเพื่อให้ทนต่อการใช้งาน

ทุกวันนี้นอกจากได้ปริมาณปูม้าเพิ่มขึ้นแล้ว ธนาคารแห่งนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักศึกษาและนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาศึกษาดูงาน ขณะที่การทำประมงปูช่วยสร้างอาชีพให้คนในชุมชนได้มีรายได้จากการแกะปู

ตอนนี้ธนาคารปูมีสมาชิกกว่า 30 ลำ สร้างรายได้ภาพรวมกว่า 10 ล้านบาทต่อปี และจะมีลูกค้าและแม่ค้ามาซื้อที่ธนาคารโดยตรง เพราะจะได้ปูม้าที่สดใหม่ และเป็นไม่ใช่แม่ปูที่กำลังจะผลิตลูกปู สำหรับขนาดกลาง 6-8 ตัวต่อก.ก. ราคา 400 บาท ถ้า 4-5 ตัวต่อก.ก. ราคา 500 บาท

ใช่จะอนุรักษ์ปูม้าเท่านั้น ทางนายเจือ และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.) ยังได้ช่วยกันเก็บขยะทะเลอยู่เป็นประจำ จนได้รับรางวัล ทสม.ดีเด่นด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติฯ จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน