‘บ้านเชียง’จัดฉลอง แหล่งอารยธรรม 5,000 ปี

‘บ้านเชียง’จัดฉลอง – เฉลิมฉลองบ้านเชียงแหล่งมรดกโลก บ้านเชียง แหล่งอารยธรรม 5,000 ปี อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เชิญชวนเที่ยวงานอารยธรรม ระดับโลกยิ่งใหญ่ วันที่ 7-9 ก.พ.

แสงสีเสียงสวยงามท้าท้องฟ้า ประดับประดาเต็มหมู่บ้าน บ้านเชียง แหล่งชุมชนหมู่บ้านไทพวน และแหล่งอารยธรรมยามนี้เป็นงาน ย้อนตำนานอารยธรรม 5,000 ปี เพื่อเฉลิมฉลองงานมรดกโลกบ้านเชียงแหล่งอารยธรรม 5,000 ปี จัดขึ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

บ้านเชียงอยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันออกประมาณ 50 กิโลเมตร ชุมชนบ้านเชียงแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ ถือเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย และหนึ่งในพื้นที่ตั้งถิ่นฐานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บนเนินดินสูง รูปยาวรี ตามแนวตะวันออก-ตะวันตกครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ กลางเนินสูงกว่าพื้นที่รอบๆ ราว 8 เมตร

ชาวบ้านเชียงปัจจุบันมีเชื้อสายลาวพวนที่อพยพเคลื่อนย้ายชุมชนมาจากแขวงเชียงขวาง สปป.ลาว เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว เคยเป็นที่อยู่อาศัยและที่ฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะ เมื่อราว 5,000 กว่าปีก่อน มีความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีสูงมาแต่โบราณ ชาวบ้านเชียงโบราณเป็นชุมชนยุคโลหะที่รู้จักทำการเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ นิยมทำเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับจากสำริดในระยะแรก และรู้จักใช้เหล็กในระยะต่อมาแต่ก็ยังคงใช้สำริดควบคู่กันไป

จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่วัดโพธิ์ศรีใน และพบโครงกระดูกและเครื่องมือโลหะแห่งบ้านเชียง ทำให้บ้านเชียงได้ขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกอันดับที่ 359 ขององค์การยูเนสโก เมื่อเดือนธันวาคม 2535 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 16 ที่เมืองซานตาเฟ รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา








Advertisement

“พัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาคือ คุณูปการของบ้านเชียงต่อการเข้าใจในอดีต สิ่งที่นักโบราณคดีคนหนึ่งเห็นว่าสำคัญ แต่คนอื่นอาจจะแย้งได้ว่ามีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า ยิ่งไปกว่านั้นบางแง่มุมเกี่ยวกับสังคมในยุคโบราณจำเป็นที่จะต้องมีการสืบค้น และเผยแพร่งานศึกษาอย่างกว้างขวาง” ดร.จอยซ์ ไวต์ (Dr. Joyce White) ผู้อำนวยการโครงการวิจัยแห่งบ้านเชียง จากมหาวิทยาลัยพิพิธภัณฑ์เพนซิลเวเนีย ฟิลาเดลเฟีย ซึ่งศึกษาการค้นพบในบ้านเชียงมาตั้งแต่ปี 2519 กล่าวกับเดอะอีสาน เร็คคอร์ด” (The Isaan Record)

ดร.ไวต์กล่าวว่า หลักฐานจากโครงกระดูกมนุษย์ในบ้านเชียงเผยให้เห็นว่าสังคมเกษตรยุคโลหะในพื้นที่นี้ของไทยมีความโดดเด่นทั้งด้านสุขภาวะ และสันติภาพ ไม่มีหลักฐานของการใช้ความรุนแรงระหว่างกันด้วยการทำสงครามอย่างสม่ำเสมอ เครื่องมือโลหะถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์และเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก ชาวบ้านโดยรวมรอดพ้น (จากปัญหาสุขภาพ) ด้วยการกินอาหารที่ดี ผลการศึกษานี้ตรงข้ามกับหลักฐานที่พบในพื้นที่อื่นๆ ของโลก เช่น ตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกากลาง ซึ่งสุขภาพของประชากรต่างย่ำแย่ลงหลังรับเอาเศรษฐกิจแบบกสิกรรมมาใช้ และการผลิตเครื่องมือโลหะก็เป็นส่วนที่เร่งให้เกิดการทำสงครามต่อกัน

นายเศวตฉัตร บรรเทาทุกข์ นายกเทศบาล ต.บ้านเชียง กล่าวว่า ปีนี้กำหนดจัดงานมรดกโลกบ้านเชียงขึ้นในวันที่ 7-9 ก.พ. เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ช่วงเช้าเวลา 06.30 น. มีพิธีบวงสรวงบรรพบุรุษและปู่ขุนเชียงสวัสดิ์ กำนัน ต.บ้านเชียง คนแรก ส่วนช่วงเย็นเวลา 17.00 น. มีขบวนแห่ที่แสดงถึงอารยธรรมบ้านเชียงตำนานคนไทพวน และการแสดงแสงสีเสียงย้อนตำนานบ้านเชียงแหล่งอารยธรรม 5,000 ปี อย่างยิ่งใหญ่ตระการตา พร้อมตุ้มโฮมพาแลง ชมและเลือกซื้อสินค้าท้องถิ่น และโอท็อปราคาถูก และเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงฟรีตลอดทั้ง 3 วัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน