สืบสานแนวพระราชดำริ – สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จัดกิจกรรมศึกษาดูงานชุมชนเข้มแข็งสืบสานแนวพระราชดำริภาคเหนือ โครงการเกษตรวิชญา ศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูง บ้านกองแหะ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

โครงการพัฒนาด้านการเกษตรตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ 1,350 ไร่ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2545 พร้อมมีพระราชดำริให้พิจารณากำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อโครงการว่า “เกษตรวิชญา” แปลว่า ปราชญ์แห่งการเกษตร เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจ พอเพียงบนพื้นที่สูงให้แก่เกษตรกรอย่างครบวงจรประจำภาคเหนือ อันเป็นการสานต่อพระราชดำริใน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านเศรษฐกิจพอเพียง

นายธงชัย บุญเรือง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา บรรยายสรุป การขับเคลื่อนงานพัฒนาตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินบ้านกองแหะ หมู่ 4 ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ทรงทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร จากสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ซึ่งมีความลาดชัน เป็นเนินเขาและภูเขาสูง ผืนดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เสื่อมโทรมจากการชะล้างพังทลาย มีการบุกรุกเข้าใช้ประโยชน์ ทำให้พื้นที่ป่าเดิมกลายเป็นป่าที่เสื่อมโทรม

จึงมีพระราชดำริให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการสำรวจ วางแผนการใช้ที่ดิน พัฒนาที่ดินและแหล่งน้ำ เพื่อให้ได้วิธีการที่เหมาะสมต่อการประกอบอาชีพด้านการเกษตรของประชาชนในพื้นที่ และกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

โครงการเกษตรวิชญา ได้แบ่งพื้นที่การใช้สอยออกเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย 1. ศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรบนพื้นที่สูง เนื้อที่ 138 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สาธิต ด้านดิน พืช ปศุสัตว์ ประมง การจัดการน้ำ รวมทั้งการเรียนรู้เรื่องบัญชีครัวเรือน และการสหกรณ์

2. ธนาคารอาหารชุมชน เนื้อที่ 123 ไร่ เป็นพื้นที่สวนป่าผสมผสาน เป็นแหล่งอาหารของชุมชนกองแหะ สร้างเป็นพื้นที่ต้นแบบธนาคารอาหารชุมชน 3. พื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า เนื้อที่ 918 ไร่ ปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ในระบบวนเกษตร พืชเศรษฐกิจร่วมกับไม้ป่า สร้างรูปแบบคนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน

4. แปลงเกษตรกร เนื้อที่ 139 ไร่ จัดเป็นพื้นที่ทำกินของเกษตรกรบ้านกองแหะ จำนวน 55 ราย รายละ 1 ไร่ โดยถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการสมัยใหม่ ให้เกษตรกรใช้ที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด 5. พื้นที่ทรงงาน เนื้อที่ 32 ไร่ เป็นพื้นที่สวนป่า ปลูกไม้ยืนต้น สร้างความร่มรื่น

ทั้งนี้เมื่อประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ “คนอยู่กับป่า” ในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำและชุมชน ฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า สิ่งแวดล้อม ตามลักษณะภูมิสังคมเพื่อสร้างและฟื้นคืนระบบนิเวศต้นน้ำ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าและพื้นที่ รอบเขตป่าให้สามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน

โครงการเกษตรวิชญาได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนลีชุมชน ฝึกอบรมและพัฒนาการเกษตรที่เหมาะสม ฟื้นฟูผืนป่าควบคู่กับการพัฒนาอาชีพของชาวบ้านในพื้นที่ มีการจัดหลักสูตรอบรมาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่ชาวบ้านในพื้นที่ทำไร่เลื่อนลอย ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชตามหลัก ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

โดยส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ มีการเพาะชำกล้าไม้โตเร็ว เพื่อแจกจ่ายให้ชาวบ้านนำไปปลูกขยายผลใช้ประโยชน์ในชุมชนและครัวเรือน ส่วนการปลูกป่าไม้ใช้สอย ไม้โตเร็ว พืชเมืองหนาว เพื่อให้ชาวบ้านมีพื้นที่ป่าไว้ใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การฟื้นฟูปรับปรุงดิน พัฒนาแหล่งน้ำ รวมถึงการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

เปิดพื้นที่ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ จัดทำฐานเรียนรู้ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูง จำนวน 8 ฐาน โดยมีหน่วยงานที่ร่วมดูแลรับผิดชอบ 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย ฐานเรียนรู้ด้านการพัฒนาที่ดินบนพื้นที่สูง ฐานเรียนรู้ด้านการปลูกพืชผัก ฐานเรียนรู้ด้านการปลูกไม้ผล/ไม้ยืนต้นบนพื้นที่สูง

ฐานเรียนรู้ด้านการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ฐานเรียนรู้การปลูกข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาว ฐานเรียนรู้ประมงบนพื้นที่สูง ฐานเรียนรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์ และฐานเรียนรู้ด้านการบัญชีและสหกรณ์

ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา กล่าวว่า ช่วงระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการฯ มีชีวิตที่ดีขึ้น ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สภาพป่าไม้เพิ่มมากขึ้นกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตอาหารและพืชสมุนไพร โดยรอบบริเวณพื้นที่โครงการฯ ทั้งยังความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งต้นน้ำลำธาร

“ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนคือ ป่าฟื้น ธรรมชาติฟื้น ป่าต้นน้ำฟื้น ทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในการเกษตร อีกทั้งเกษตรกรในพื้นที่ไม่ใช้สารเคมี ใช้วิถีเกษตรอินทรี ผลผลิตที่ได้จึงปลอดสารพิษ เป็นที่ต้องการของตลาดทำให้ได้ผลผลิตที่ดีและราคาต่อผลิตผลดีขึ้นตามลำดับ

ทั้ง หอมหัวใหญ่ สตรอว์เบอร์รี่ อะโวคาโด เลมอน มะละกอ ถั่วแระ ถั่วแขก มันม่วง รวมถึงพืชผักสวนครัวตามฤดูกาล และดอกดาวเรือง นอกจากนี้ยังเตรียมส่งเสริมการปลูกกาแฟ ซึ่งมีอายุยืน ไม่ต้องดูแล รวมถึงพืชสมุนไพรอีกนานาชนิดๆ เพื่อเพิ่มความหลาอกหลายทางพืชให้กับเกษตรกรในพื้นที่”

ส่วนเกษตรกรเริ่มแรกที่เข้าร่วมโครงการมีทั้งสิ้น 60 ราย แต่ปัจจุบันเหลือพียง 55 ราย อีก 5 รายไม่มีทายาทสืบต่อ คณะกรรมการหมู่บ้านกำลังดำเนินการคัดสรร ผู้ที่เข้าสู่โครงการ ปลูกพืชต้องไม่ใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยชีวภาพ ต้องปลูกต้นไม้ในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ อะไรก็ได้เป็นเกษตรแบบผสมผสาน 1 ไร ต้องประกอบด้วย ไม้ผล ไม้เศรษฐกิจ พืชเศรษฐกิจ เชื่อว่า 1 ไร่ 1 ปี เกษตรกรมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนบาท อีกทั้งเรายังให้องค์ความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์ป่าไม้ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และพร้อมส่งเสริมเกษตรกร โดยคำนึงถึงหลักแนวคิดจากชาวบ้านคิด

นายธงชัย ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ โครงการเกษตรวิชญา กำลังดำเนินการปรับภูมิทัศน์ภายในโครงการฯ เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรพื้นที่สูง พื้นที่ 138 ไร่ ให้ครบวงจร เพื่อให้ประชาชนที่สนใจเรียนรู้เกษตรพื้นที่สูงได้มาศึกษาและพักผ่อน ปัจจุบันนี้ดำเนินการไปแล้วว่า 40 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งกำลังดำเนินการหางบประมาณเพิ่มเติมมาจัดทำให้แล้วเสร็จเต็มรูปแบบ คาดว่าในช่วงปลายปี 63 พื้นที่ดังกล่าวจะสามารถรอบรับประชาชนผู้ที่ต้องการมาศึกษาเกษตรพื้นที่สูงได้ประมาณ 100 คน ต่อวัน โดยโครงการฯ จะมีสิ่งอำนวนความสะดวก ทั้งศาลพักผ่อนเพื่อชมความงามของดอกไม้และต้นไม้นานพันธุ์บนพื้นที่สูงได้อย่างสุขกายสุขใจ

นายปยุต ชัยเลื่อน อายุ 48 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 บ้านกองแหะ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ อาชีพเกษตรกร บอกเล่าว่า ยึดวิถีเกษตรมาตั้งแต่เกิดเรียนรู้วิชาชีพเกษตรต่อจากพ่อแม่ รวมแล้วทำกินบนที่ดิน 6 ไร่ มานานกว่า 90 ปี และเป็นผู้ใหญ่บ้านมากว่า 6 ปี แต่เดิมก่อนโครงการเกษตรวิชญา จะเข้ามาชาวบ้านที่ทำเกษตรยังคงใช้สารเคมีในการทำเกษตรแบบบ้านๆ ทั้งยังยึดแบบแผนเดิมคือการทำไร่เลื่อนลอย

กระทั่งโครงการเข้ามาให้องค์ความรู้ ทั้งส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้คำแนะนำแนวทางการปลูกพืชที่ไม่ต้องพึ่งสารเคมี หลังจากนั้นจึงเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งเรื่องสุขภาพ ลดต้นทุน และราคาพืชผลดีขึ้น

“โครงการเกษตรวิชญา เข้ามาเน้นช่วงแรกๆ ชาวบ้านไม่ได้ให้ความสนใจ กระทั่งเห็นตัวอย่างจากบ้านกองแหะ ว่าเจ้าหน้าที่ชาวบ้านร่วมกันทำจริงๆ และมีผลผลิตที่จับต้องได้จริงๆ จากนั้นชาวบ้านจึงเริ่มเห็นดีด้วยกลับแนวทางโครงการ มีการจัดสรรที่ดินให้ทำกิน มีระบบน้ำชลประทานที่ใช้ได้ทั้งปี ผลผลิตดีขึ้น ไม่ต้องรอทำไร่หน้าฝน แต่สามารถทำไร่ได้ทั้งปี ปลูกผักสวนครัวพืชสองเดือน เช่น คะน้า ถั่งแระ ถั่วแขก ได้ปีละ 5-6 รอบ

ส่วนพืชอายุยาว หอมใหญ่ ปีละหนึ่งครั้ง ทำให้มีผลผลิตทั้งปี และมีรายได้ทั้งปีเช่นกัน แต่เดิมมีหนี้สะสม 4-5 บาทแสน มานานกว่า 10 ปี หากยึดแนวทางเกษตรตามแบบโครงการเกษตรวิชญา มั่นใจว่าไม่เกิน 3 ปี สามารถปลดหนี้ได้ เนื่องด้วยการทำเกษตรแบบอินทรีย์ ดังนั้นเชื่อว่า ชาวบ้านจะมีชีวิตที่ดีขึ้นบนพื้นฐานสุขภาพที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน” ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 บ้านกองแหะ กล่าวปิดท้าย

ดังนั้นเป้าหมายหลักการพัฒนาพื้นที่โครงการเกษตรวิชญา เน้นให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูงและขยายผลสู่เกษตรกร รวมทั้งเป็นต้นแบบการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของป่าไม้ เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหารธรรมชาติ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันนอกจากบ้านกองแหะ เรายังมีโครงการขยายผลไปยังหมู่บ้านและชุมชนใกล้เคียง ได้แก่ บ้านบวกจั่นและบ้านม่วงคำ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม เพื่อเพิ่มเติมผืนป่าและป่าต้นน้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน