ดู ‘นกเป็ดหงส์’
ทะเลบัวแดงอุดรฯ
พฤตินัย มั่งสวัสดิ์

นกน้ำหายาก “เป็ดหงส์” บินหากินมาไกลในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลบัวแดง อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี สะท้อนความเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ แหล่งหากินของนกน้ำนานาชนิด ทั้งนกเป็ดแดง นกกาน้ำ นกเป็ดเทาพันธุ์อินเดีย เหยี่ยวแดง นกปากห่าง นกอีโก้ง นกพริก นกกระสา นกเด้าลม และนกชายเลนน้ำจืดนานาชนิด พบเห็นจำนวนมากในทะเลบัวแดงแห่งนี้

เมื่อถึงฤดูหนาวก็เข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวทะเลบัวแดง ดอกบัวแดงจะบานสะพรั่งเต็มท้องน้ำ ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาชมมาเยือนแหล่งน้ำจืดที่สวยแห่งนี้ อย่างทะเลบัวแดงอุดรธานี

ว่ากันว่า “หนองหาน” บึงขนาดใหญ่ สุดลูกหูลูกตา ประดุจทะเลสาบอันกว้างใหญ่ไพศาล เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญของภาคอีสาน ที่กินพื้นที่ตั้งแต่ จ.สกลนคร จ.อุดรธานี และสายน้ำไหลผ่าน จ.กาฬสินธุ์ เข้าสู่พื้นที่อีกหลายจังหวัดในภาคอีสานตอนล่าง

ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีพืชน้ำ พันธุ์ปลา พันธุ์นกหลายชนิด และพันธุ์พืชน้ำที่เป็นไฮไลต์ก็คือ “บัวแดง” หรือ “บัวสาย” จะผลิดอกเบ่งบานเป็นสีชมพูสีแดงบานสะพรั่งไปทั่วผืนน้ำในช่วงฤดูหนาวตลอดเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนมีนาคม








Advertisement

ย้อนกลับไปเมื่อราวปลายปีพ.ศ.2547 สมัยนายรักเกียรติ ศรีลาวงศ์ มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเดียม ต.เชียงแหว อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ได้ลงไปศึกษาหนองหาน กุมภวาปี พร้อมกับกลุ่มผู้นำชุมชน และชาวประมงบ้านเดียม

โดยพบว่ามีบัวแดงจำนวนมหาศาลเกิดขึ้นเต็มท้องน้ำหนองหาน ตั้งแต่ราวๆ เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนมีนาคมทุกปี จึงมาร่วมกันคิดหาวิธีจะเชิญชวนคนมาดู มาเที่ยวชมความงามความสวยงามบัวแดง

ตลอดจนวิถีชีวิตผู้คน สัตว์ต่างๆ และธรรมชาติอันงดงามของหนองหานกุมภวาปี เพื่อเพิ่มรายได้ สร้างชื่อเสียงให้แก่ชุมชน และมุ่งให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกคน จึงเกิดคำว่า “ทะเลบัวแดงหมื่นไร่” ตั้งแต่ปีนั้นมาจนปัจจุบัน กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญโด่งดังของอุดรธานี

นายโนรี ตะถา หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองหานกุมภวาปี สำนักงานพื้นที่บริหารอนุรักษ์ที่ 10 อุดรธานี เปิดเผยว่าพวกเรามีหน้าที่ตรวจตราลาดตระเวนไปตามพื้นที่รอบๆ บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีอาณาเขตกว้างไกลหลายหมื่นไร่ ทั้งบนบกและในน้ำ ตามเกาะแก่ง ทุกพื้นที่

เพื่อป้องกันการกระทำผิดในพื้นที่รับผิดชอบ ป้องกันผู้เข้ามาล่าสัตว์ โดยเฉพาะนกน้ำหายาก เอาไปขายให้คนนำไปเลี้ยง มีราคาสูงเพราะเป็นนกหายาก และบางชนิดกำลังจะสูญพันธุ์ เหลือมีให้เห็นไม่กี่ตัว

ลำพังการเอาชีวิตรอดของพวกนกน้ำ ที่มักจะวางไข่ในพื้นดิน แหล่งชุ่มน้ำ ก็มักจะเผชิญกับสัตว์นานาชนิดที่จะมาจับกินไข่ หรือจับลูกนกเป็นอาหาร พวกเราจึงต้องเฝ้าระวัง และสำรวจประชากรนกน้ำในพื้นที่กันตลอดเวลา

หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองหานกุมภวาปี ระบุด้วยว่าจากการสำรวจพบนกน้ำหายากบินมาจากแหล่งอื่นเพื่อหาอาหาร โดยเฉพาะ “เป็ดหงส์” เป็นนกหายากใกล้จะสูญพันธุ์ โดยมักพบเห็นกันปี 1-2 ครั้งในพื้นที่ทะเลบัวแดง

นอกนั้นจะมีโอกาสพบเห็นนกหายากได้อีก เช่น นกเหยี่ยวแดง นกตะขาบทุ่ง นกเป็ดเทาพันธุ์อินเดีย นกอีโก้ง นกพริก นกกระสานวลนกยางโกนน้อย นกปากห่าง นกหัวโตเล็ก ขาเหลือง นกเด้าลมเหลือง นกยอดหญ้าหัวดำนกกาน้ำเล็ก นกเป็ดแดง และ นกชายเลนน้ำจืดอีกหลากหลายสายพันธุ์

สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการชมทะเลบัวแดง คือ 06.00-11.00 น. นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการเรือท้องแบนของชาวบ้าน โดยคนขับเรือ จะพาแวะไปชมความงามของดอกบัวแดงตามจุดต่างๆ อย่างใกล้ชิด

การเดินทางมาชมทะเลบัวแดง จากตัวเมืองอุดรธานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 อุดรธานี-กุมภวาปี เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 26 เลี้ยวซ้ายที่แยกบ้านนาดี-หนองเม็ก ระยะทาง 14 กิโลเมตร ก็จะถึงจุดหมายบ้านเดียม ทะเลบัวแดงอุดรธานี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน