นครราชสีมา เตรียมจัด “สงกรานต์โคราช แห่พระคันธารราฐ ลอดซุ้มประตูเมือง” ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2565 แบบไทยย้อนยุค ชื่อ “ย้อนยุค..วันวาน เล่นสงกรานต์บ้านเอ๋ง”
7 เมษายน 2565 – จังหวัดนครราชสีมา เตรียมจัดประเพณีสงกรานต์ประจำปี 2565 ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 7 อำเภอของจังหวัด ได้แก่ อ.เมืองนครราชสีมา อ.ปากช่อง อ.สีคิ้ว อ.วังน้ำเขียว อ.พิมาย อ.เฉลิมพระเกียรติ และ อ.โชคชัย
โดยเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา ไฮไลท์อยู่ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และลานอนุสรณ์สถานวีรชนคนโคราช เป็นความร่วมมือหลายภาคส่วนในจังหวัด หวังจะกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
ภายใต้มาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยกำหนดจัดงานสืบสานประเพณี แห่พระลอดซุ้มประตูเมือง “สงกรานต์โคราช แห่พระคันธารราฐ ลอดซุ้มประตูเมือง” ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2565 ที่วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร และบริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
ส่วนการจัดงานประเพณีสงกรานต์แบบไทยย้อนยุค ชื่อ “ย้อนยุค..วันวาน เล่นสงกรานต์บ้านเอ๋ง” ระหว่างวันที่ 13-17 เมษายน 2565 โดยเนรมิตพื้นที่คูเมืองข้างลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ให้เป็น “ตลาดน้ำย้อนยุค”
ช่วงเช้า เวลา 07.00 น. วันที่ 13 เมษายน 2565 หรือ วันขึ้นปีใหม่ไทย จะมีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ บริเวณตลาดน้ำย้อนยุคด้วย พร้อมเปิดพื้นที่ให้พ่อค้าแม่ค้า พายเรือขายอาหารพื้นเมืองขึ้นชื่อของโคราชให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลองกัน นอกจากนี้ ยังมีการละเล่นพื้นเมืองต่างๆ เพลงโคราช ให้ได้ชม และมีสินค้าชุมชนมาจำหน่ายกันอย่างคึกคัก
สำหรับ บริเวณคูเมือง “พิชัยชุมพล” สถานที่จัดประเพณี “ย้อนยุค..วันวาน เล่นสงกรานต์บ้านเอ๋ง” นายธนชน เคนสิงห์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบำรุงสัตว์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายอนุรักษ์วิจัยและสุขภาพสัตว์ ลงพื้นที่ไปจับตัวเงินตัวทองที่อาศัยอยู่ภายในคูเมืองดังกล่าว นำไปไว้ที่สวนสัตว์นครราชสีมา
เพื่อเนรมิตสถานที่เป็นตลาดน้ำย้อนยุค รับนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ และช่วยลดปริมาณตัวเงินตัวทองที่มีอยู่จำนวนมากในบริเวณดังกล่าวลง เพื่อให้เกิดความสมดุลต่อระบบนิเวศ โดยนำเนื้อไก่และปลา มาวางล่อให้ตัวเงินตัวทองออกมากิน จากนั้น ใช้บ่วงคล้องคอจับนำไปใส่ลังไม้ ก่อนเคลื่อนย้ายไปดูแลที่สวนสัตว์นครราชสีมา และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติตามลำดับ
ขณะที่สำนักช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ได้เตรียมสถานที่จัดเป็นตลาดน้ำ โดยว่าจ้างผู้รับเหมาจาก จ.สุพรรณบุรี มาวางตอม่อชั่วคราวในคูเมือง เพื่อปูพื้นไม้บนพื้นน้ำโดยรอบคูเมือง สำหรับให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว เดินลงมาซื้อหาอาหารพื้นเมืองโบราณโคราชจากพ่อค้าแม่ ที่จะพายเรือนำสินค้ามาจำหน่าย
อีกทั้งแบ่งพื้นที่ไว้สำหรับตั้งโต๊ะรับประทานอาหารอีก 70 โต๊ะ ไว้บริการนักท่องเที่ยวได้นั่งรับประทานกันแบบชิลล์ๆ อีกด้วย ซึ่งการปูพื้นไม้ในคูเมืองโดยรอบจะแล้วเสร็จในอีก 2 วัน จากนั้นจะเดินระบบไฟฟ้าและตกแต่งสถานที่แบบย้อนยุคให้แล้วเสร็จ เพื่อทดลองระบบในวันที่ 11 เมษายน 2565 คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเที่ยวชมงานเป็นจำนวนมาก