สตูล สืบทอดอนุรักษ์อาหารพื้นเมือง “ขนมทุเรียน” ขนมโอทอปชาวควนโดน ชาวบ้านตำบลควนสตอ หลายครัวเรือนทำขนมรับประทาน และหลายครอบครัวทำขายเป็นรายได้เสริม เพิ่มรายได้หลัก

นางรอเบี๊ยะ ปานดำรง อายุ 65 ปี บ้านเลขที่ 85 หมู่ที่ 7 ต.ควนสตอ อ.ควนโดน จ.สตูล ทำ “ขนมแน หรำ” หรือ “ขนมเจาะหู” ขายเป็นรายได้หลัก 17 ชิ้น 20 บาท บริเวณข้างโรงเรียนบ้านควนสตอ

เมื่อถึงฤดูของทุเรียน จะทำขนมทุเรียนขาย โดยสูตรแป้งจะคล้ายกันคือ มีส่วนผสมของแป้งข้าวเหนียว แป้งหมี่ แป้งข้าวจ้าว น้ำตาลทราย ผงฟูเล็ก และเกลือเล็กน้อย เพื่อความกลมกล่อม ที่ขาดไม่ได้คือ ทุเรียน

โดยทุเรียนที่ใส่จะเป็นทุเรียนอะไรก็ได้ แต่ทางสตูลหากทำขายในราคาเบากระเป๋าจะใส่ทุเรียนบ้านพันธุ์พื้นเมืองของสตูลซึ่งมีรสชาติและกลิ่นที่แรงกว่าทุเรียนหมอนทองหรือ ก้านยาว โดยจะขายเป็นชิ้นละ 3 บาท

โดยรสชาติของ ขนมทุเรียน จะคล้ายกับ “ขนมเจาะหู” หรือ “ขนมแนหรำ” ของชาวมุสลิมใต้ แต่จะมีความกลมกล่อมกว่าเนื่องจากมีส่วนผสมของราชินีผลไม้อย่างทุเรียนผสมจนลงตัวทานกับกาแฟดำ หรือเครื่องดื่มแก้วโปรดได้อย่างลงตัว

นางลัญจนา ภัทรภินันท์ ที่ปรึกษานายก อบจ.สตูล กล่าวว่า ขนมทุเรียนเป็นขนมดั้งเดิมของชาวควนโดน แต่ส่วนผสมอาจจะแตกต่างกัน บางคนใช้แป้งข้าวเหนียว บ้างก็ให้แป้งหมี่ผสมแป้งข้าวเหนียวให้รสชาติกลมกล่อม แต่หากให้สวยให้อร่อย ขณะนี้มีการพัฒนารสชาติขึ้นเยอะ เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ใหญ่โดยลดความหวานลง ขนมทุเรียนจะทำเป็นกันทุกครัวเรือนตื่นเช้ามาทานกับกาแฟก็ได้ หรือจะไปทำขายทานกับกาแฟก็ได้ด้วย

เพื่อเป็นการสืบสานและอนุรักษ์ขนมพื้นเมืองอย่าง “ขนมทุเรียน” ซึ่งเป็นสินค้าโอทอปของตำบลควนสตอ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลควนสตอ จึงจัดให้มีการอนุรักษ์และแข่งขันการทำขนมทุเรียน ทั้ง 10 หมู่บ้าน เพื่อจะอนุรักษ์สืบทอดและส่งเสริมให้หันมาทานผลไม้ทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง

เพื่ออุดหนุนเกษตรกรในท้องถิ่น อีกทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุในหมู่บ้านชุมขนได้มาทำกิจกรรมร่วมกันภายใต้ โครงการชีวิตสดใสวัยสูงอายุ

โครงการชีวิตสดใสวัยสูงอายุ ซึ่งมีผู้สูงอายุ 500 คนในตำบลควนสตอมาร่วมกิจกรรมมากมายทั้งการแข่งขันทำข้าวยำ การทำขนมพื้นเมืองหลากหลายชนิด และกิจกรรมการละเล่นมากมาย โดยเชิญนายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลมาร่วมเป็นประธานเปิดงาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน