ราชบุรี ข้าวมันส้มตำปลาแห้ง อาหารมอญหาทานยาก ชวนเที่ยวเทศกาลอาหารมอญ งานบุญ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 9 ร่วมศึกษาเรียนรู้ ชิม ช้อป สัมผัสวิถีบ้านๆ ชาวมอญลุ่มน้ำแม่กลอง

10 มี.ค. 66 – ที่ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมอาหารมอญ ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ชาวไทยเชื้อมอญลุ่มน้ำแม่กลอง ต่างกำลังช่วยกันลงมือทำ “อะว่อด เปิงกลอน” หรือ “ข้าวมันส้มตำปลาแห้ง” หนึ่งในเมนูอาหารวัฒนธรรมสำรับมอญที่ยุคปัจจุบันหารับประทานได้ยาก

โดยขั้นตอนเริ่มจากการทำข้าวมัน ชาวบ้านจะนำมะพร้าวมาขูดเพื่อคั้นเอาน้ำกะทิ ก่อนใส่ลงในข้าวหอมมะลิ เคล็ดลับสำคัญคือต้องแต่งกลิ่นปรุงรสเพิ่มเติมด้วยหอมแดงและเกลือ หุงด้วยเตาถ่านแบบดงข้าว ในระหว่างนี้ต้องคอยหมั่นคนข้าวไม่ให้ติดก้นหม้อ เมื่อข้าวจับตัวก็ปิดฝาใช้ไฟอ่อน นำถ่านวางบนฝาหม้อเพื่อให้ความร้อนระอุสุกเท่ากันทั่วทั้งหม้อ ซึ่งการหุงข้าวด้วยวิธีนี้ จะทำให้ได้เม็ดข้าวสวย และหอมอร่อยด้วยกลิ่นเตาถ่าน

ส่วนการทำส้มตำปลาแห้ง ชาวบ้านจะแกะปลาแห้งเอาเฉพาะเนื้อมาตำในครกหินจนเนื้อและเศษก้างปลาละเอียดขึ้นฟู จากนั้นนำขนมถั่วตัด หอมแดง และพริกใส่ลงไปตำให้พอแหลก ปรุงรสเปรี้ยวด้วยน้ำมะขามเปียก และเค็มจากน้ำปลา นำผลมะละกอแก่มาสับให้เป็นเส้น แล้วจึงนำลงคลุกเคล้าให้เข้ากัน ก็จะได้ส้มตำปลาแห้ง ที่พร้อมจะรับประทานคู่กับข้าวมัน แกล้มด้วยผักพื้นบ้านอย่าง ใบมะยม ใบพลู และใบขนุนอ่อน รวมถึงเนื้อสัตว์อย่างปลาเค็มและหมูทอด

โดยส้มตำสำรับนี้ จะแตกต่างจากส้มตำที่รับประทานกันทั่วไป คือใส่ปลาแห้ง ที่จะให้รสชาติความหอมนัวจากเนื้อปลา รวมไปถึงความหวานมันของขนมถั่วตัด ชูกลิ่นด้วยหอมแดง และหวานกรอบจากเนื้อมะละกอสุก

นายคมสรร จับจุ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีมอญนครชุมน์ เปิดเผยว่า “อะว่อด เปิงกลอน” หรือ “ข้าวมันส้มตำ” ถือเป็นหนึ่งในเมนูอาหารวัฒนธรรมที่มีมายาวนานของชาวไทยเชื้อสายมอญ โดยชาวบ้านจะทำอาหารชนิดนี้ ในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 9 ของทุกปี เรียกว่า บุญข้าวมันส้มตำ เพื่อเป็นเครื่องสังเวยรับขวัญเทวีแห่งข้าว หรือ แม่โพสพ หลังข้าวที่ปลูกเริ่มตั้งท้อง

สำหรับข้าวมันส้มตำปลาแห้งที่ชาวบ้านได้ช่วยกันทำขึ้นในวันนี้ จะเป็นหนึ่งในสำรับอาหารมอญที่จะมีให้ได้ชิมกันในงาน “เจี๊ยะ โม่ง โร่ง โม่น เดิง ราชบุรี กินอยู่ดูมอญเมืองราชบุรี” ครั้งที่ 7 อันเกิดจากความร่วมมือกันของกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมมอญลุ่มน้ำแม่กลอง อ.บ้านโป่ง ได้แก่ ต.นครชุมน์ บ้านม่วง และคุ้งพยอม โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ภายในงานยังมีเมนูอาหารคาว ที่นำพืชผักพื้นบ้านตามฤดูกาลมาปรุงเป็นอาหาร อาทิ น้ำปลายำ-ขนุนต้ม ยำแม่หม้าย แกงไก่กล้วยดิบ ทอดมันหัวปลี และเมนูขนมหวาน อาทิ ขนมด้วงมอญ ขนมข้าวเหนียวแดกงา และขนมกล้วยขยำทอด มาให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานได้ชิมและลิ้มลอง

รวมไปถึงชมกิจกรรมการประกวดสำรับข้าวแช่ การสาธิตเย็บกระทงปากกระจับ ปั้นดินให้เป็นมอญ และการตัดพวงมะโหตร ตลอดจนชมการละเล่นพื้นบ้านอย่างผีกระด้ง สะบ้ามอญ และหมากเก็บหอยทราย ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญาของชาวไทยเชื้อสายมอญ

ท่านใดสนใจที่จะศึกษาเรียนรู้ ชิม ช้อป และถ่ายรูปบรรยากาศวิถีบ้านๆ ของชาวมอญลุ่มน้ำแม่กลอง สามารถเดินทางมาร่วมงาน “เจี๊ยะ โม่ง โร่ง โม่น เดิง ราชบุรี กินอยู่ดูมอญเมืองราชบุรี” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 12 มี.ค. 2566 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ที่บริเวณหน้าวิหารปากี วัดใหญ่นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน