ไปญี่ปุ่นมาหลายครั้ง ส่วนมากจะเที่ยวซ้ำๆ แถบโตเกียว โอซาก้า จนเริ่มเบื่อความพลุกพล่านของย่านเมืองใหญ่ อยากออกไปสัมผัสวิถีชีวิตคนญี่ปุ่นในชนบทดูบ้าง

นั่งเสิร์ชหาข้อมูลอยู่พักใหญ่ สุดท้ายลงตัวที่หมู่บ้านชาวประมงอิเนะโบราณ (Ine Funaya) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดเกียวโต (Kyoto) ตามตำนานเล่าว่าเป็นหมู่บ้านโบราณที่มีคนอาศัยอยู่ตั้งแต่เมื่อ 1,500 ปีที่แล้ว และในอดีตยังเคยเป็นแหล่งจับวาฬในยุคเมจิอีกด้วย

หลาก&หลาย

ชมวิวรอบอ่าวอิเนะแบบ 360 องศา

 

การเดินทางไปก็ไม่ยาก แต่ต้องใช้เวลา เริ่มจากขึ้นรถไฟชินคันเซ็นที่สถานีเกียวโต นั่งยาว 2 ชั่วโมง ไปลงที่สถานีอามาโนะฮาชิดาเตะ (Amenohashidate) จากนั้นไปยืนรอรถบัสท้องถิ่น นั่งต่อไปที่หมู่บ้าน ค่ารถแค่ 400 เยน หรือประมาณ 97 บาท ใช้เวลา 1 ชั่วโมงก็มาถึงป้ายรถเมล์เล็กๆ หน้าหมู่บ้าน

หลาก&หลาย

รถบัสท้องถิ่น

 

หลาก&หลาย

เรือนไม้เก่าโบราณในหมู่บ้านชาวประมงอิเนะ

 

ลงจากรถบัสกวาดสายตาไปมองรอบๆ เมือง สัมผัสได้ถึงบรรยากาศความสงบ เรียบง่าย ด้วยรูปแบบของอาคารบ้านเรือนไม้เก่าโบราณหลังเล็กๆ สีน้ำตาลเข้มที่เรียงรายอยู่ตามตรอกซอกซอย ผู้คนเดินผ่านสัญจร ก็ไม่พลุกพล่าน เพราะที่นี่มีคนอาศัยอยู่แค่ 2,100 คน ประชากรน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ของจังหวัดเกียวโต

หลาก&หลาย

ตะลึงกับความงดงามของอ่าวอิเนะ

 

เดินมาแค่อึดใจเดียวก็มาถึงกลางหมู่บ้าน ต้องตะลึงกับความงดงามของเวิ้งน้ำทะเลของอ่าวอิเนะสีเขียวอมฟ้าดูแปลกตาที่ตัดกับฉากหลังหมู่บ้านชาวประมงโบราณสีน้ำตาลเข้มราว 230 หลังที่ตั้งเรียงรายทอดยาวตามแนวเส้นโค้งริมอ่าวเป็นระยะทางยาวกว่า 5 กิโลเมตร แถมด้านหลังยังถูกโอบล้อมไปด้วยภูเขาสูงชันสีเขียวขจี ถือเป็นความงดงามของธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบ

หลาก&หลาย

หมู่บ้านถูกโอบล้อมด้วยภูเขาเขียวขจี

สิ่งที่ทำให้สะดุดตามากคือรูปแบบของบ้านชาวประมงอิเนะ ที่มีชื่อเรียกว่าฟุนายะ (Funaya) ในภาษาญี่ปุ่น

หลาก&หลาย

ฟุนายะ

 

ฟุนายะ (Funaya) มาจากคำว่า Fune หรือ Funa แปลว่าเรือ ส่วน Ya แปลว่าห้องหรือบ้าน เมื่อรวมกันก็แปลว่าบ้านเรือ สถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยพื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร เพราะบริเวณชั้นล่างสร้างเป็นโรงสำหรับจอดเรือ ส่วนชั้น 2 ทำเป็นบ้านที่อยู่อาศัย ช่วยให้ชาวประมงสามารถออกเรือจากบ้านไปหาปลาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

ปัจจุบันบ้านฟุนายะยังคงมีชาวประมงท้องถิ่นอาศัยอยู่จริง แต่บางหลังถูกดัดแปลงทำเป็นคาเฟ่ และโฮมสเตย์ ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาพักค้างคืนสัมผัสความงามของหนึ่งในสมาชิกของสมาคมหมู่บ้านที่สวยที่สุดในญี่ปุ่น (The Association of the Most Beautiful Villages of Japan)

หลาก&หลาย

ให้อาหารนกทะเล

 

กิจกรรมที่ไม่ควรพลาดคือการล่องเรือชมฟุนายะและทิวทัศน์ของอ่าวอิเนะ มีเรือท่องเที่ยวให้บริการหลายแบบ แต่เราเลือกใช้บริการเรือเล็กของชาวประมงท้องถิ่นที่ว่างเว้นจากการออกหาปลามาพาเราเที่ยว

เรือค่อยๆ แล่นออกจากท่า ล่องผ่านหน้าบ้านฟุนายะ มองเห็นเรือหาปลาจอดเรียงรายอยู่ตามใต้ถุนบ้าน สัมผัสได้ถึงวิถีของคนท้องถิ่นที่นี่ ถัดมาจะเห็นบ้านฟุนายะบางหลังที่ถูกปรับให้เป็นโฮมสเตย์ และคาเฟ่ริมอ่าวให้นักท่องเที่ยวได้ไปเข้าพักขาหาอะไรกินคลายหิว

หลาก&หลาย

คนขับเรือแนะนำปลาขึ้นชื่อ

 

ระหว่างที่ล่องเรือคนขับพยายามเปิดแฟ้มภาพวิถีชีวิตชาวอิเนะมาพรีเซนต์ให้ฟังว่า ที่นี่มีปลาอะไรอร่อย ต้องมากินช่วงฤดูไหน ที่ขึ้นชื่อมากคือ ปลาหางเหลืองบุริ, ปลาปักเป้า และปูฤดูหนาวอย่าง ปูยักษ์ไทซะอันโด่งดัง

ใครเป็นสายซีฟู้ด แนะนำให้มาเที่ยวช่วงเดือนพ.ย.-มี.ค. เพราะเป็นช่วงที่ปลากำลังอ้วนพร้อมกินสุดๆ แต่ด้วยความจำกัดทางด้านภาษาที่บรรยายแบบอังกฤษคำ ญี่ปุ่นคำ ทำให้เราเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่รู้สึกซาบซึ้งถึงความใส่ใจของชาวประมงที่พยายามให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวมากๆ

หลาก&หลาย

เรือประมง

 

จากนั้นคนขับเรือชี้ชวนให้ดูเรือประมงและตลาดปลาท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ริมอ่าว แต่เราไม่ได้แวะไปเที่ยวชม เพราะตลาดปลาจะเปิดเฉพาะช่วงเช้ามืดเท่านั้น

สักพักคนขับเรือหักหัวเรือออกไปกลางอ่าว พร้อมกับเดินถือถุงข้าวเกรียบกุ้งแท่งเล็กๆ มาส่งให้ บอกว่าได้เวลาให้อาหารนกทะเลแล้ว ตอนแรกก็สนุกดี แต่หลังๆ ชักหลอน คิดในใจเมื่อไหร่อาหารจะหมด เพราะยังไม่ทันจะโยนอาหาร เจ้านกทะเลสายดาร์กก็บินมาจิกไปจากมือ ตกใจเสียววาบ แล้วยังเกือบได้เลือดที่มืออีกด้วย

หลาก&หลาย

นั่งตกปลาริมฝั่งทะเล

 

หลาก&หลาย

ยืมจักรยานชาวบ้านมาปั่นชมวิวได้

 

การนั่งตกปลาริมฝั่งทะเล และการยืมจักรยานจากท้องถิ่นมาปั่นชมวิวรอบหมู่บ้าน ซึ่งมีทั้งวิวทะเลและวิวภูเขาอันตระการตา เป็นอีกกิจกรรมที่ตอบโจทย์นักเที่ยวสายชิลที่ต้องการซึมซับบรรยากาศชนบทแบบใกล้ชิด ซึ่งเราสามารถเดินขึ้นเนินภูเขาเตี้ยๆ เลาะเลียบทะเลเพื่อชมวิวรอบอ่าวอิเนะได้แบบเต็มตา 360 องศาอีกด้วย แต่สำหรับสายแอดเวนเจอร์ลองใช้บริการพายเรือคายัก หรือนั่งเรือออกมาตกปลากลางทะเลคงสนุกตื่นเต้นไม่เบา

หลาก&หลาย

ร้านโชห่วยท้องถิ่น

 

หลาก&หลาย

บะหมี่ถ้วย..อร่อยใจฟู

 

มองเวลาในนาฬิกาข้อมือบ่ายโมงกว่าๆ แล้ว รู้สึกหิวไส้กิ่ว เราเดินรี่ตรงไปที่ร้านอาหารในศูนย์บริการนักท่องเที่ยว แต่เห็นคิวรอแล้วจะเป็นลมถอดใจ เลยตัดสินใจเดินเข้าไปฝากท้องที่ร้านโชห่วยท้องถิ่นเล็กๆ ตรงหน้าทางเข้าหมู่บ้านแทน คว้าบะหมี่ถ้วยช่วยชีวิตมาใส่น้ำร้อนปิดฝาแล้วเดินไปนั่งกินตรงริมอ่าว อิ่มอร่อยใจฟูไปเลยจ้า

กินคาวเสร็จแล้วต้องตบด้วยหวาน เราเลยเข้าไปใช้บริการคาเฟ่ขนมญี่ปุ่นดั้งเดิมแห่งหนึ่งที่เจ้าของบ้านปรับพื้นที่อู่จอดเรือด้านล่างทำเป็นคาเฟ่ ปล่อยอารมณ์นั่งจิบกาแฟเย็นคู่กับของหวานโฮมเมดอย่างดังโงะ เสพวิวธรรมชาติอ่าวอิเนะแบบฉ่ำๆ ไปเลย (15)

หลาก&หลาย

คาเฟ่ขนมญี่ปุ่น

 

หลาก&หลาย

ดังโงะ-ของหวานโฮมเมด

 

สำหรับนักเที่ยวสายปาร์ตี้สามารถแวะไป Mukai Shuzo โรงสาเกเก่าแก่ของหมู่บ้าน ไปชิมและเยี่ยมชมการผลิตที่มีธรรมเนียมสืบทอดกันมายาวนานกว่า 260 ปีที่ไม่เหมือนใครตรงที่คนกลั่นจะเป็นผู้หญิงเท่านั้น

และแล้วก็เข้าสู่ช่วงของภารกิจฝาท่อในดวงใจ ตามล่าหาฝาท่อของหมู่บ้านอิเนะ ต้องออกตัวก่อนว่าเราเป็นคนที่ชอบถ่ายภาพฝาท่อจากสถานที่ที่เคยไปเที่ยวมาเก็บในอัลบั้มเป็นที่ระลึกเพื่อเตือนความทรงจำแห่งความสุขจากการออกไปท่องโลกกว้าง ทำมากว่า 10 ปี ตอนนี้สะสมภาพฝาท่อสวยๆ แปลกๆ ไว้กว่า 500 ฝาแล้ว

หลาก&หลาย

ฝาท่อของหมู่บ้านอิเนะ

 

ก่อนกลับเราแวะที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของหมู่บ้านเพื่อช็อปของที่ระลึกซึ่งมีให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะโปสการ์ด แม็กเน็ต อาหาร ขนม แต่ที่ต้องตาต้องใจคือของที่ระลึกหน้าตาคล้ายโมบาย ลักษณะเป็นลูกแก้วกลมใสที่ถูกห่อหุ้มด้วยเชือกถักสวยงาม คนที่นี่บอกว่ามันคือ อุคิดามะ หรืออุปกรณ์หาปลาจำลองที่ถูกย่อส่วนให้เป็นของฝาก ในอดีตใช้ลูกแก้วลอยน้ำเป็นทุ่นอวนในการหาปลา

หลาก&หลาย

อุคิดามะ-ของฝากเก๋ไก๋

 

แอบมองราคาตั้ง 1,500 เยน หรือเกือบๆ 400 บาท เลยเปลี่ยนใจไปซื้อแม็กเน็ตแทน แต่ไม่ลืมที่จะซื้อโปสการ์ดมาเขียนส่งกลับเมืองไทยเก็บไว้เป็นที่ระลึกอีกตามเคย

แอบกระซิบนิดนึง ตอนเดินเที่ยวชมหมู่บ้านอย่าส่งเสียงดังเพราะจะเป็นการไปรบกวนชาวประมงที่เข้านอนเร็ว เพราะต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อออกเรือไปหาปลา

ถือเป็นการท่องเที่ยวเมืองชนบทแบบ One day trip ที่สนุก ครบรส ใครที่มาเยือนเกียวโตแล้วไม่แวะมาเที่ยวที่นี่ บอกเลยว่าน่าเสียดาย

มยุรี นวมมี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน