“วิทยา ปัญญาศรี”

เมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว ชาวมูเซอดำ ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่บ้านห้วยปลาหลด ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ที่ชาวกะเหรี่ยงเคยอาศัยมาก่อนแล้วย้ายถิ่นฐานไป ช่วงเวลานั้น ชาวมูเซอดำ เกือบทั้งหมู่บ้านทำมาหากินโดยปลูกและค้าฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย ใช้ที่ดินจนหมดความสมบูรณ์ จนผืนป่ามหาศาล กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม แหล่งน้ำแห้งหาย ดินเสื่อมสภาพ เหลือเพียงภูเขาหัวโล้น

แต่ปัจจุบันหมู่บ้านมีสมาชิกเป็นแรงสำคัญในการอนุรักษ์พื้นที่ป่า มีรายได้ครัวเรือนรวมทั้งหมู่บ้าน กว่า 14 ล้านบาทต่อปี

อีกทั้งยังมีบริการ “โฮมสเตย์บ้านห้วยปลาหลด” ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ให้นักท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติ ความสมบูรณ์ของป่าไม้ ความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร เรียนรู้วัฒนธรรมของชนเผ่า และเรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ในชุมชนของตนอย่างยั่งยืน

เพราะในชุมชนหมู่บ้านแห่งนี้มีการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำและแปลงผักร่องน้ำ ใช้น้ำผลิตกระแสไฟฟ้า ขนาดกำลังวัตต์ 3 กิโลวัตต์สำหรับเป็นไฟส่องสว่างยามค่ำคืนในพื้นที่สาธารณะ

นอกจากนี้ ยังมีจุดชมวิวชมทิวทัศน์ได้แบบ 360 องศา ได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าบ้านห้วยปลาหลด ชุมชนร่วมดูแลรักษากว่า 20,000 ไร่

ผู้ที่สนใจจะมาพักยังโฮมสเตย์ บ้านหวยปลาหลดยังมีหมาย เลขโทรศัพท์ให้บุคคลทั่วไปติดต่อได้ที่ โทร. 09-7920-7494

นายจักรพงษ์ มงคลคีรี อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านห้วยปลาหลด เล่าที่มาของการพัฒนาพื้นที่ในชุมชนแห่งนี้ว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2517 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในชุมชนบ้านห้วยปลาหลด

ทรงปลูกต้นสนสองใบไว้ที่ปากทางเข้าหมู่บ้าน และทรงมีพระราชกระแสให้ปลูกพืชที่ทำรายได้ทดแทนฝิ่น พร้อมกับตั้งตลาดมูเซอ เพื่อจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรของชุมชน เป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านหันมาปลูกกาแฟผสมในพื้นที่ป่า นำไปสู่การดูแลรักษาป่า

นับจากนั้นชาวบ้านห้วยปลาหลดทุกคนหันมาประกอบอาชีพวนเกษตร ปลูกพืชผักแบบผสมผสาน เลิกการปลูกฝิ่น แต่ในทางกลับกัน ได้อนุรักษ์ต้นไม้เดิมที่ยังคงอยู่ และปลูกป่าทดแทน จนปัจจุบัน ผืนป่าหนาแน่นกลายเป็นป่าดิบชื้นขนาดใหญ่กว่า 20,000 ไร่ เป็นป่าต้นน้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิดที่หวนกลับคืนมาอยู่ที่นี่

ผืนป่าบ้านห้วยปลาหลด มีการบริหารจัดการป่าเป็นสัดส่วน ชาวบ้านสามารถเก็บผลผลิตจากป่าตามฤดูกาล นำไปขายสร้างรายได้ให้ครอบครัวอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันต้นสนสองใบที่ทรงปลูก มีความสูง 19.50 เมตร อยู่บริเวณอาคารทรงงาน บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน ในเขตอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นสิ่งยึดเหนี่ยว น้อมนำจิตใจของชาวมูเซอดำ บ้านห้วยปลาหลดที่จะมุ่งมั่น ปกป้องผืนป่า และดำเนินชีวิตตามแนวทางพระราชดำริ ที่ทรงมีพระกระแสรับสั่งมาถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ เมื่อปี 2524 กรมป่าไม้ประกาศจัดตั้งเขตอุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่ (ปัจจุบันคืออุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช) ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เพื่อคุ้มครองและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้ที่ดินทำกินของชาวบ้านทับ ที่ดินอุทยานฯ และป่าไม้ จำนวน 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านห้วยปลาหลด บ้านมูเซอใหม่ บ้านขุนห้วยช้างไล่ บ้านห้วยจะกือ บ้านป่าคา และบ้านห้วยไม้ห้าง ชาวบ้านต้องการที่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ต่อไป จึงช่วยกันปลูกป่าทดแทนป่าที่เสียไป และช่วยกันดูแลรักษาป่าที่มีอยู่

จากนั้นแบ่งความรับผิดชอบป่าในแต่ละพื้นที่ให้แต่ละครัวเรือนอย่างชัดเจน และพยายามปลูกป่าและดูแลรักษาป่าที่มีอยู่เดิมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้ต่อไปได้ รวมทั้งได้ช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธารตามแนวพระราชดำริ สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก

ต่อมาในปี 2557 มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ประกาศให้ชุมชนบ้านห้วยปลาหลดเป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ จัดการนำชุมชนตำมแนวพระราชดำริ” มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติและจุดเยี่ยมชมงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ต้นแบบการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และฟื้นฟูป่าต้นน้ำด้วยการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การสร้างฝายต้นน้ำลำธารตามแนวพระราชดำริ เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำ และกัก เก็บน้ำ รวมถึงระบบนิเวศป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์จากการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าของชุมชน

ด้าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเมื่อครั้งเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “เทิด ด้วย ทำ ปี พ.ศ.2561 : คนอยู่กับป่าตามแนวพระราชดำริ” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ บริเวณอ่องแล่ง บ้านห้วยปลาหลด ว่า มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กองทัพบก สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรองค์กรมหาชน จังหวัดตาก และกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ถอดบทเรียน ตลอด 43 ปีที่ชาวชุมชนบ้านห้วยปลาหลด ยึดแนวพระราชดำริที่ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งไปยังชาวมูเซอดำ

บ้านห้วยปลาหลด เปลี่ยนภูเขาหัวโล้นไม่มีแม้น้ำจะใช้ดื่มกิน ให้กลับฟื้นกลายเป็นป่าดิบชื้น ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่านานาพันธุ์ได้อยู่อาศัย เป็นธนาคารอาหารให้ชาวชุมชนเข้าไปเก็บผลผลิตจากป่า นำมาขาย สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ร่องลำห้วยตามสันเขา

จากเดิมที่เคยลักลอบปลูกฝิ่น ปัจจุบันเป็นแปลงผัก วนเกษตร ปลอดสารพิษหลากหลายชนิด เช่น กาแฟอาราบิก้า มะเขือเทศ ฟักแม้ว (ซาโยเต้) หรือมะระหวาน ฯลฯ ซึ่งให้ผลผลิตตลอดปี สร้างรายได้หลักให้กับชาวชุมชนบ้านห้วยปลาหลด

สำหรับพิธีดังกล่าวมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วม พร้อมย้ำถึงการสร้างเครือข่ายเยาวชน และประชาชน ให้เรียนรู้จากตัวอย่างความสำเร็จของการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และนำไปร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม

โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรหลายส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เช่น บริษัท ICC อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หน่วยงานท้องถิ่น จิตอาสา เยาวชน และประชาชน ในพื้นที่ใกล้เคียง

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า ระยะทางจากกรุงเทพมหานครมายังบ้านห้วยปลาหลด 453 กิโลเมตร นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ชมวิถีชีวิตชาวมูเซอดำ ที่น้อมนำกระแสพระราชดำรัส ในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้ว ยังจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมอันอ่อนโยน ของชาวมูเซอดำที่เรียกตนเองว่า “ละหู่นะ” เป็นมูเซอดั้งเดิมที่อพยพมาจาก ทางมณฑลยูนนาน ยึดวิถีชีวิตเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพ ความอยู่รอดของชาวละหู่นะทุกคนขึ้นอยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน ไม่ว่าเป็นดิน ความพอดีของน้ำจากท้องฟ้า

“วัฒนธรรมของชาวลาหู่นะผูกพันอยู่เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ ได้สะท้อนออกมา ในรูปแบบวรรณกรรมปากเปล่าจากรุ่นสู่รุ่นว่า กระดูกของเราเป็นก้อนหิน เนื้อหนังของเราเป็นดิน สายเลือดเป็นสายน้ำ ลมหายใจเป็นอากาศ และความอบอุ่นภายในกายเป็นแสงแดด ดินเป็นตัวแทนธรรมชาติที่มีความผูกพันที่ใกล้ชิดมนุษย์”

วันนี้ “ชาวห้วยปลาหลด ยินดีมอบรอยยิ้ม และความสุข ให้กับนักท่องเที่ยวทุกคนที่มาเยือนอย่างอบอุ่นและสุดแสนประทับใจ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน