ที่ผ่านมา มีแหล่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรอันมีค่าและเป็นแหล่งทำมาหากินหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้าน ต้องถูกทำลาย และวิถีชีวิตของชาวบ้านในบริเวณนั้นๆต้องสูญหายไป จนมีกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ ออกมาเรียกร้องและเคลื่อนไหวให้หน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่ เข้ามาหาทางออก ตามที่ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวคราวตามหน้าสื่อหลายสำนัก

ล่าสุดมีทีมงานถ่ายทำสารคดีและช่างภาพ ได้เก็บภาพความสวยงามและความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ริมชายหาดทะเลภูเก็ต ที่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างวิตกกังวลว่า ในอนาคตข้างหน้าสิ่งเหล่านี้อาจจะสูญหายไปพร้อมกับความเจริญ โดยเรื่องดังกล่าวมีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Sujaree Chaiyaboon ได้โพสต์ภาพทุ่งประการังที่โผล่พ้นน้ำทะเล บริเวณเกาะเฮ บ้านอ่าวกุ้ง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พร้อมระบุข้อความ

จะไม่เหลืออะไร ถ้ามีการขุดร่องน้ำลึกเพื่อให้เรือขนาดใหญ่เข้าเทียบท่าเรือที่มารีน่าอ่าวกุ้ง ปะการังสวยและสมบูรณ์มากๆ เราไม่ได้คัดค้านการสร้างมารีน่าอ่าวกุ้ง แต่การขุดร่องน้ำสำหรับเรือใหญ่ ทำให้ทรัพยากรชายฝั่ง ปะการังน้ำตื้นเหล่านี้เสียหายและหายไปจากตรงนี้ บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี่คือปะการัง เข้าใจไปว่า มันคือก้อนหิน ฉันคือปะการังนะจ๊ะ…ไม่ใช่ก้อนหิน! ทรัพยากรชายฝั่ง ป่าชายเลน ปะการังชุมชนอ่าวกุ้งฟื้นฟูและดูแลมายาวนาน 20 ปี ทรัพยากรสมบูรณ์ ทุกคนเข้าไปหากินได้ แต่ต้องไม่ใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายทรัพยากร

เราเคยได้ยินบ่อยๆ ว่า ชุมชนต้องปรับตัวกับความเจริญที่เข้ามา แต่เราว่า มารีน่าที่จะเข้ามาในพื้นที่ ต้องปรับตัวอยู่ร่วมกับชุมชนและทรัพยากรอันสมบูรณ์ให้ได้ด้วยนะ ไม่มีใครปฏิเสธความเจริญหรอก “ถ้าความเจริญนั้นไม่ได้นำพาความหายนะมาด้วย”

เราอยากชี้แจงว่า เราเป็นคนทำสารคดี เป็นช่างภาพ เป็นคนที่มาอาศัยจังหวัดภูเก็ตทำมาหากิน ไม่มีใครจ้างเรามาเขียน วันที่ 1 พ.ค. 2561 เราเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนรักษ์ปะการังไปดู ‘ทุ่งปะการัง’ เราเป็นคนมาจากที่อื่น แต่ก็มี ‘สิทธิส่งเสียง’ ได้นะ

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง น.ส.สุจารี ไชยบุญ อายุ 46 ปี ผู้ผลิตสารคดีอิสระและคอลัมนิสต์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสอบถามถึงเรื่องดังกล่าว โดยน.ส.สุจารี เปิดเผยว่า ภาพที่เห็นในโพสต์คือภาพประการังที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำทะเล บริเวณเกาะเฮ ซึ่งตนเองและทีมงานใช้เวลาประมาณ 2 ชม. ที่จะรอเก็บภาพธรรมชาติที่สวยงาม อีกมุมหนึ่งในทะเลภูเก็ต ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ต่างหวงแหนแลัช่วยกันดูแลรักษาเป็นอย่างดีมาโดยตลอด

น.ส.สุจารี กล่าวต่อว่า ราว 4-5 ปีก่อน ได้เกิดเหตุการณ์ปะการังฝอกขาวเกิดขึ้น ชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมกันทำแนวกั้นเพื่อไม่ให้ปะการังในพื้นที่ได้รับผลกระทบ จนปะการังเริ่มกลับฟื้นคืนสภาพเมื่อเวลาที่น้ำลดประการังจะผุดขึ้นมาเป็นทุ่ง มีลักษณะคล้ายกับทุ่งปะการัง ซึ่งเป็นภาพที่สวยงาม จนมาวันหนึ่งมีโครงการสร้างมารีน่าของเอกชนเกิดขึ้น ซึ่งทางโครงการได้มีการศึกษาผลกระทบ ซึ่งชาวบ้านและชาวประมงทีี่อาศัยทะเลแห่งนี้หาเลี้ยงชีพต่างรู้ดีว่า การขุดร่องน้ำลึกนั้นแน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดตะกอนดิน,ทราย ที่จะลอยเข้ามากระทบต่อทรัพยการที่อยู่ใต้ทะเล

น.ส. สุจารี กล่าวอีกว่า สำหรับการทำ EIA ดังกล่าวนั้นชาวบ้านในพื้นที่ต่างรู้ดีว่า ไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากการขุดร่องน้ำสำหรับเรือขนาดใหญ่ย่อมส่งผลกระทบต่อทรัพยากรชายฝั่ง ทั้งแนวปะการังและป่าชายเลนที่ชาวบ้านช่วนกันฟื้นฟูมาอย่างยาวนาน โดยผลการศึกษาใน EIA บอกไว้ว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวไม่มีป่าชายเลนแต่ในความเป็นจริงนั้นมีป่าชายเลนและชาวบ้านก็ช่วยกันดูแลรักษามาอย่างยาวนานเป็นต้น

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน