‘จิตแพทย์-พยาบาลจิตเวช-นักจิตวิทยา’ รวมตัวร้องกระทรวงหมอ ขออัตรากำลังที่เป็นธรรม หลังถูกลดตำแหน่ง เพิ่มหน้าที่ผิดแปลก ด้านรองปลัดสธ. ชี้ทำกรอบแล้วดำเนินการเดือนส.ค. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด ชี้พยาบาลในสธ.มี 9.8 หมื่นคน แบ่งเป็นด้านจิตเวช 1,500 คน

เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สมาพันธ์สหวิชาชีพทางจิตเวช ยาเสพติด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.) ประกอบด้วยจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวชและนักจิตวิทยา รวมตัวเรียกร้องขอให้ผู้บริหารสธ.เห็นใจ และปรับโครงสร้างสร้างอัตรากำลังกลุ่มงานจิตเวชอย่างเป็นธรรม เพราะกระทบขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสังกัด สธ. ทุกระดับ

นพ.สุเมธ ฉายศิริกุล นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมสาขาจิตเวช ร.พ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จากกรอบโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาล่าสุดนั้น พบว่าไม่มีกรอบกำลังกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่ต้องได้รับการรักษาขาดคนดูแลต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเราพยายามดูแลคนไข้ตามบริบทของรพช. ตามอัตรากำลังที่มีอยู่ โดยดูแลตั้งแต่ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยวิตกกังวล ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือผู้ป่วยยาเสพติด ผู้ป่วยฆ่าตัวตาย ซึ่งดำเนินการโดยพยาบาลจิตเวช

แต่ปัจจุบันสิ่งที่ สธ. ออกโครงสร้างอัตรากำลังกลับไม่มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ทำให้ขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานสูญเสียไป จากกรอบอัตรากำลังใหม่นั้น ทำให้มีการเอางานจิตเวชออกไป ส่งผลให้ผู้ป่วยจิตเวชขาดคนดูแลเพียงพอ ทั้งๆที่เป็นกลุ่มงานที่อ่อนไหว ซึ่งที่ผ่านมาเรามีพยาบาลจิตเวชดูแลคนไข้อยู่ แต่ล่าสุดกลับให้ไปทำอย่างอื่น กระทรวงกำลังจะลอยแพคนไข้จิตเวชและยาเสพติด

“จริงๆ กระทรวงตั้งคณะทำงานเรื่องกรอบอัตรากำลังตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2561 ซึ่งเราได้เสนอไปยังกองทรัพยากรบุคคลตั้งแต่ 10 เมษายน 2561 แต่ข้อเสนอดังกล่าวกลับไม่ได้รับการพิจารณา แปลว่างานที่พวกเราทำมาตลอดไม่ได้เดินหน้าต่อ พวกเราจึงต้องมาเรียกร้องว่า เพราะอะไรการทำงานของเรา จึงไม่ได้รับการดำเนินงานต่อ เพราะอะไร มีการดึงเรื่องหรือไม่ หรือไปขัดใคร การมาครั้งนี้จึงมาทวงถามและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ว่า เราจะทำงานอย่างไรต่อไป และพวกเราจะได้รับการดูแลอย่างไร ซึ่งขณะนี้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ขณะที่โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) ก็ได้รับผลกระทบ เพราะลดอัตรากำลังลงเช่นกัน ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี มีจิตแพทย์ 5 คน กรอบโครงสร้างใหม่ให้มี 3 คน ส่วนอีก 2 คนก็ไม่รู้ไปอยู่ไหน หรือพยาบาลจิตเวช ก็ถูกลดอัตรากำลัง และย้ายให้ไปทำส่วนอื่นๆ ทั้งๆที่ภาระงานด้านนี้เยอะ และพวกเขาก็เรียนมาด้านนี้” นพ.สุเมธ กล่าว

นพ.สุเมธ กล่าวว่า พวกเราต้องการให้กระทรวงเห็นความสำคัญ อย่าลอยแพพวกเรา และเร่งดำเนินการอย่างเป็นธรรมที่สุด ซึ่งหากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในอีก 1-2 เดือน พวกเราจะมาทวงถามอีก

พญ.พรรณพิมล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงทำความเข้าใจ

ด้านพญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องที่มีการเรียกร้องจริงๆแล้วอยู่ในแผนจัดทำอัตรากำลังที่มีการประกาศไปตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2560 ซึ่งทำความเข้าใจ และกำหนดว่าเดือนมิถุนายน–กรกฎาคม ให้แต่ละร.พ.ดำเนินการจัดคนลงกรอบตามที่ประกาศ แต่มีบางหน้างานที่ไม่พอเหมาะกับกำลังคนที่มีอยู่จึงมีการเสนอขึ้นมาใหม่ กลุ่มงานจิตเวชก็เป็นกลุ่มงานหนึ่งที่เสนอมาตั้งแต่การประกาศกรอบครั้งแรก มีคณะทำงานร่วมกันตลอด ซึ่งเวลางวดเข้ามาแล้ว

รองปลัดสธ. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ คงเป็นธรรมชาติที่พอเปลี่ยนโครงสร้างใหม่อาจจะกระทบกับการปฏิบัติงานบ้าง แน่นอนว่ากลุ่มงานจิตเวชเดินหน้ามาได้ไกล สามารถสร้างคนทำงานลงไปครอบคลุมถึงระดับชุมชน ซึ่งมีหลายขนาด ตั้งแต่ระดับ 10-120 เตียง แต่ในแต่ละระดับก็ไม่สามารถทำให้มีกรอบเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งโดยข้อเสนอต้องการให้แยกกลุ่มงานชัดเจน จึงมี 2 แนวทางที่คิดไว้คือ ร.พ.ขนาดใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะมีกรอบอัตรากำลังที่สามารถเกลี่ยกันได้ แต่รพ.ขนาดเล็กต้องพิจารณาหลายอย่าง ทั้งเรื่องจำนวนคนทำงาน และความก้าวหน้าของคนทำงานด้วย ต้องออกแบบแล้วในที่สุดทุกคนได้ประโยชน์

“ดังนั้นเราจะค่อยๆ ไล่ดูทีละระดับของร.พ.ชุมชน ตั้งแต่ขนาดใหญ่ ลงไปขนาดเล็กเพื่อให้ออกแบบได้พอเหมาะกับขนาดของร.พ. ซึ่งจริงๆ คณะทำงานทำเสร็จแล้ว เพียงแต่มีห้วงเวลาว่าช่วงเดือนมิถุนายน –กรกฎาคม เราดำเนินการให้คน 4 แสน บุคลากรทุกวิชาชีพกว่า 4 แสนคนลงไปอยู่ในกรอบให้เรียบร้อย เพื่อมาเกลี่ยกรอบอีกในเดือนสิงหาคม ถ้าร.พ.ใหญ่การแยกคนลงแต่ละร่องงานไม่ยาก แต่ร.พ.ขนาดเล็ก การแยกคนออกไปหลายๆ กล่อง จะมีปัญหาอีกแบบ แต่ยืนยันว่าร.พ.ชุมชนขนาดเล็ก เราเขียนเนื้องานไว้ ไม่ได้แปลว่าเอางานจิตเวชออกไปจากรพ.” รองปลัดสธ. กล่าว และว่า สำหรับปัญหากรอบอัตรากำลังในภาพรวมทุกวิชาชีพนั้นขาดแคลนระดับหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งอยากได้ความก้าวหน้าในการทำงาน กระทรวงก็ต้องบริหารค่อนข้างมาก อย่างวิชาชีพพยาบาลก็กำลังบริการกรอบอัตรากำลังที่เพิ่งได้มาใหม่ ปัจจุบันพยาบาลในกระทรวงมีประมาณ 9.8 หมื่นคน เป็นพยาบาลจิตเวชประมาณ 1.5 พันคน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน