โซเชียลแห่ชื่นชม! ลูกอยากซื้อของ พ่อเลยสอนเรื่องใช้เงิน อย่ายืมคนอื่นจนเป็นหนี้

โซเชียลแห่ชื่นชม! / เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ถูกแชร์อย่างมากมายกับวิธีการสอนลูกใช้เงินในการซื้อของ เรียกได้เป็นวิธีที่ฝึกให้ลูก เป็นคนมีวินัยตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เพื่อที่ในอนาคตวันข้างหน้า โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า “Arunee Leksakorn Suebthawinkul” โพสต์วิดีโอและภาพขณะที่คุณพ่อกำลังสอนลูกชาย พร้อมกับระบุว่า

บทเรียนพ่อสอนลูกวันนี้ “ถ้าไม่มีตังค์ ไม่ต้องซื้อ”

วันนี้เด็กชายนะโม (11ขวบ) ไปเจอรถHot wheel รุ่น Fast&Furious คันนึง ถูกใจเด็กป.6 (ที่ชอบสะสมไดโนเสาร์ สตาร์วอร์ส และรถฮอตวีล) อย่างแรงระดับสูงสุด วิ่งปรี่หน้าตั้งมาหาเหยื่อ (มนุษย์แม่ใจอ่อน) บอกอยากได้ๆๆ คันนี้หายากมากเลย บลาๆๆๆ เหตุผลร้อยแปด คิดว่าคงหวานหมู แต่เนื่องจากวันนี้พ่อมาด้วย เลยบอกลูกว่า “เดี๋ยวถามปะป๊าก่อนนะ ว่าเอาไงดี” ในบัดดล นะโมหูตูบ หน้าหดเหลือครึ่งนิ้ว แม่ตอบอย่างมั่นใจสุดๆ “หนูกลัวโดนป๊าดุใช่มั้ย หึๆ หม่าม๊าก็เช่นกัน

รถHot wheel รุ่น Fast&Furious

สรุปปะป๊าให้ซื้อได้ แต่ออกตังค์ซื้อเองนะจ๊ะ นะโมบ่นว่าไม่ได้หยิบตังค์มาจากบ้าน ขอยืมตังค์ป๊าก่อน ทั้งพ่อและแม่ยืนยันว่า ไว้วันหน้าเอาตังค์มาด้วย แล้วค่อยมาเอา แต่นะโมยืนยันว่า “ต้องซื้อวันนี้ มันหายาก เหลือคันเดียว หนูอยากสะสมให้ครบ เดี๋ยวคนอื่นสอยไปก่อนจะทำยังไง บลาๆๆ”

ปะป๊าให้ทางเลือก 2ข้อ
1. ให้ยืมได้ แต่ต้องคิดดอกเบี้ย รถราคาคันละ 195 บาท ปาป๊าบวกค่ายืม(ดอกเบี้ย) รวมเงินต้นเป็น 220 บาท (ดอกเบี้ย 12%) คิดให้ดี คิดให้ถี่ถ้วน
2. ถ้าไม่อยากเสียดอก ก็ไว้วันหน้าเตรียมเงินมาด้วย ค่อยมาซื้อ พิจารณาความจำเป็นเป็นหลัก

เด็กชายนะโม พ่อค้าประจำบ้าน ผู้ซึ่งไม่เคยมีเงินกระเด็นให้ใครง่ายๆแม้แต่บาทเดียว เกิดอาการช็อก น้ำตาพ่อค้าน้อย พรั่งพรูดั่งโลกทั้งใบล่มสลายถล่มทับรถฮอตวีลตรงหน้า ด้วยดอกเบี้ย 25 บาท !








Advertisement

สรุป ความอยากได้ พลังกล้าแกร่งชนะความจำเป็น นะโมเลือกยืมตังค์ป๊าด้วยน้ำตานองหน้า
(สำหรับผู้ใหญ่ ความอยากได้ < ความจำเป็น สำหรับเด็ก ความอยากได้ = ความจำเป็น )

สอนดีมากๆพ่อสอนลูกใช้เงินเวลาซื้อของ

ปะป๊าต้องอธิบายอยู่หลายรอบ เพราะนะโมงอน เสียใจ ไม่เข้าใจว่า แล้วทำไมปะป๊าคิดดอกเบี้ยเยอะ และเยอะกว่าของน้องชายด้วย

นะโมไม่เข้าใจ เพราะเอาตัวเลขจำนวนดอกเบี้ยเป็นบาทมาเทียบกัน (โดยไม่เทียบกับจำนวนเงินตั้งต้น) วิชาคณิตคิดเร็วจึงเกิดขึ้นทันทีกลางร้านขายของเล่น ปะป๊าอธิบายคิดเทียบดอกเบี้ยเป็นเปอร์เซ็นต์ให้ดู สรุปของน้องชายโดนดอกเบี้ย 18% น่าน! หนักกว่าพี่ชายอีก

สรุปหลังจากซื้อ นะโมยังน้ำตาไหลเป็นพักๆจนถึงบ้าน อารมณ์เย็นลง ปะป๊า หม่าม้าก็ผลัดกันมาอธิบายถึงบทเรียนการหยิบยืมเงินที่ไม่ใช่ของตัวเองอีกรอบ

โซเชียลแห่ชื่นชม พ่อเลยสอนลูกเรื่องใช้เงิน

“ถ้าอยากได้อะไร แต่ไม่มีตังค์ หรือตังค์ไม่พอ ก็ไม่ต้องซื้อ จบเลย อย่าทำอะไรเกินตัว อย่ามีนิสัยขอยืมเงินคนอื่น เพราะโลกภายนอกเมื่อหนูโตขึ้น มันโหดร้ายกว่าที่หนูรู้จัก ไม่มีใครทำการกุศลให้เรายืมเงินฟรี โดยไม่ได้รับประโยชน์ตอบแทน และการ “ยืมเงิน”จะถูกเปลี่ยนเป็นคำว่า “กู้ยืม” และเมื่อใดที่กู้ยืมแล้ว จะมีคำหนึ่งคำแปะติดบนหน้าผากเรา คือคำว่า “หนี้”

และจะมีอีกหนึ่งคำตั้งอยู่บนไหล่เรา คือคำว่า “ดอกเบี้ย” เราจะปวดไหล่มากเพราะดอกเบี้ยที่เราแบกอยู่มันจะหนักขึ้นทุกๆวัน ถ้าเราไม่มีวินัยพอในการกำจัดมัน ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือ การไม่มีหนี้ ซึ่งเกิดขึ้นได้โดยการรู้จักพอ ไม่มีเงิน ก็แค่ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องไปยืมคนอื่น แค่นี้ก็จบ ง่ายจะตายไป”

ทุกวันนี้ ปะป๊าหม่าม๊าต้องแบกดอกเบี้ยตั้งเท่าไหร่ เป็นหนี้อยู่รู้ไหม นะโมตอบไม่รู้ เออ..ดีเลยถือโอกาสเล่าไปเลยว่า หนี้ธนาคารไง ที่เราไปกู้ซื้อตึกไง เพื่อทำธุรกิจสร้างครอบครัวเพราะมันคือสิ่งจำเป็นที่เราต้องทำเพื่อเลี้ยงครอบครัว ปะป๊าหม่าม๊าถึงต้องทำงานหนัก ขยันส่งของ ขยันหาลูกค้าใหม่ ออกบูธ นอนดึกนั่งทำบัญชี ไม่เคยหยุดนิ่ง เพื่อปลดภาระให้เร็วที่สุด ไม่ใช้ชีวิตประมาท และพยายามใช้เงินอย่างรู้ค่า

โซเชียลแห่ชื่นชม พ่อเลยสอนลูกเรื่องใช้เงิน

ตบท้ายว่า วันนี้หนูอาจยังไม่เข้าใจนัก ไม่เป็นไร แต่ค่อยๆเรียนรู้ไป และให้รู้ไว้ว่าป๊าม๊าไม่ได้อยากได้เงินดอกเบี้ยของหนู เพราะมันไม่ได้ทำให้ป๊าหรือม๊ารวยเลย แค่อยากสอนให้รู้จักใช้เงิน ถ้าคิดจะยืม ต้องยอมรับผลที่ตามมา และต้องซื่อสัตย์มีวินัยจ่ายคืนเค้าด้วย

คนเป็นหนี้ ก็ไม่ต่างจากคนติดถ้ำ วันนี้มีป๊าม๊าอยู่เป็นทีมหน่วยซีล Thai (Parents) Seal ยังคอยปกป้องช่วยหนูได้ วันหน้าป๊าม๊าไม่อยู่ ใครจะให้เงินหนูโดยไม่คิดค่าตอบแทน หนูจะช่วยให้ตัวเองพ้นวิกฤตได้ยังไง ถ้าไม่เริ่มคิดตั้งแต่วันนี้

อนาคต โลกภายนอกยังมีอะไรรอเค้าอยู่เยอะแยะ ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อต่างๆนาๆ รวมถึงเงินกู้นอกระบบ ครอบครัวเราคิดแค่ว่าถ้าปลูกฝังวินัยในการใช้เงินแบบน้ำซึมบ่อทราย ค่อยๆให้ซึมเข้าวันละนิดละหน่อย รู้จักค่าของเงิน อย่างน้อยเมื่อเขาโตขึ้นก็จะได้มีภูมิคุ้มกันตัวเองไว้บ้าง ต่อสู้กิเลสในใจตัวเองแล้ว (ความอยากได้ VS ความจำเป็น) ก็ต้องเอาตัวรอดในสังคมได้แบบไม่เดือดร้อนตัวเอง และไม่เดือดร้อนคนอื่นด้วย

ขอบคุณที่มา : Arunee Leksakorn Suebthawinkul

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน