กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากยกรัฐมนตรี แสดงความเห็นเรื่องระเบิดแก่งแม่น้ำโขง เมินเสียงค้านกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง ที่เรียกร้องให้ทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Pai Deetes’ ตอบโต้ในประเด็นดังกล่าวความว่า

ตอบเรื่องแม่น้ำโขง ที่ “ลุงตู่” ตอบนักข่าวเรื่องระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเมื่อวาน

ในฐานะที่ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2545 ขออธิบายทีละคำถาม ดังนี้ค่ะ

1.นายกฯ บอกว่า “การระเบิดร่องน้ำในแม่น้ำโขง ทำคนเดียวไม่ได้อยู่แล้ว ..การดำเนินการอะไรก็ต้องมีการสมยอมกันทั้ง 4 ประเทศ ไม่ใช่อยู่ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งอีกทั้งแม่น้ำโขงก็ไม่ใช่ของประเทศไทย เป็นแม่น้ำระหว่างประเทศไม่ใช่หรือ แล้วถ้ามีการดำเนินการจะเสียประโยชน์ตรงไหน”

ตอบว่า — แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ ใช้ร่วมกัน 6 ประเทศ จากเทือกเขาหิมาลัย-จีน ผ่านพม่า ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม เฉพาะประเทศไทยที่แม่น้ำโขงไหลผ่านพรมแดน ก็มีถึง 8 จังหวัด คือเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี

ข้อตกลงเดินเรือเสรีแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ปี 2000 ( http://bit.ly/2icqheI ) ลงนามโดย 4 ประเทศ นำโดยจีน มีพม่า ลาว ไทย นำมาสู่การผลักดันโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ “ระเบิดแก่งแม่น้ำโขง” ที่ทำให้แม่น้ำโขงตอนบนอันมีเกาะแก่งสลับซับซ้อน กลายเป็นเพียง “คลองเดินเรือ” ให้เรือขนาดอย่างน้อย 500 ตัน เดินทางได้จากซือเหมา/ยูนนาน ลงมาถึงหลวงพระบาง

ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาจีน “ระเบิดแก่ง” ได้แค่ในจีน ลาว พม่า แต่มาติดที่พรมแดนไทย-ลาว จ.เชียงราย ที่แก่งคอนผีหลง เพราะชาวบ้านต้าน และกลาโหมคัดค้านเนื่องจากกระทบพรมแดน —ชวนอ่านงานวิจัยเรื่องพรมแดน (http://bit.ly/2icGXTG)

“จีน” หงุดหงิดที่ไทยไม่ยอม และพยายามเดินหน้าตลอด สุดท้ายก็สำเร็จ มาผ่านมติครม.ไทยเมื่อ ธันวา 2559 นี่เอง (ดูรายละเอียดมติ ครม http://www.thaigov.go.th/…/news-summary-…/item/download/4441)

“แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ” เป็น shared river แปลว่าใช้ร่วมกัน ไม่ใช่ของไทย ของใคร แต่ “ใช้ร่วมกัน” และนับตั้งแต่ยุคบรรพกาล ชุมชนสองฝั่งน้ำก็ใช้-รักษา มาโดยตลอด ที่สำคัญ 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม) ก็มี “ข้อตกลงแม่น้ำโขง พศ.2538” ที่กำกับให้ประเทศสมาชิกใช้แม่น้ำโขงร่วมกันอย่างยั่งยืน (http://bit.ly/2jnk79r)

2.พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าถ้าตอบว่าเป็นเรื่องของทรัพยากรก็หมดมาตั้งแต่ข้างบนแล้ว ปัญหาวันนี้น้ำข้างบนที่จะไหลลงมาข้างล่างก็ยังไม่พอเลย

ตอบว่า — “ข้างบน” หรือแม่น้ำโขงตอนบนในยูนนาน จีน มีเขื่อนสร้างตั้งแต่ปี 2539 จนเวลานี้ก็สร้างไปแล้ว 6 อภิมหาเขื่อน และกำลังก่อสร้างอีก 3 เขื่อน ทุกวันนี้จีนระบายน้ำ-กักน้ำ โดยเขื่อนจิงหง Jinghong Dam ที่เชียงรุ้ง ห่างไทยไป 340 ก.ม. กระทบบ้านเราเต็มๆ เพราะน้ำโขงที่ อ.เชียงแสน ในหน้าแล้งแทบจะร้อยทั้งร้อยไหลมาจากจีน โดยน้ำโขงที่จีนจะปล่อยลงมาหรือไม่นั้น ส่วนใหญ่เพื่อประโยชน์ของจีน เขาปล่อยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า และเดินเรือสินค้าของเขาเอาของมาขายเรา หากเขาจะเดินเรือ เขาก็ปล่อยน้ำมา ไม่สนว่าท่วมหาดทราย-แปลงเกษตรริมฝั่งฤดูแล้ง หรือพัดเรือ-บ้านเรือนชาวบ้านริมโขงเสียหาย หรือหน้าน้ำหลาก เขาไม่สนฤดูกาล เขื่อนจีนทำเอาระบบนิเวศ น้ำขึ้น-น้ำลง ตามฤดูกาลของแม่น้ำโขงแปรปรวน แต่ก็ยังไม่ “พัง” เพราะยังมีเกาะแก่ง ระบบนิเวศที่ยังคงอยู่

สิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำ คือ เรียกร้องให้จีน-เจ้าของเขื่อนแก้ไขปัญหานี้ทันที ให้จัดการเขื่อนที่คำนึงถึงท้ายน้ำ downstream และฤดูกาล แม่น้ำโขงเสียหาย ต้องรีบแก้ไข-ฟื้นฟู ไม่ควรคิดว่าเลยตามเลยแล้วปล่อยให้ใครมากระทืบซ้ำให้ตายไปจริงๆ นะคะ

3.สุดท้าย นายกบอกว่า “ถ้าจะพูดถึงทรัพยากร เรื่องของเขื่อนปากมูล อยากถามว่าแล้วประมงพื้นบ้านหาเงินได้วันละเท่าไร น้ำมันตื้นขนาดนี้จะหาเงินได้เท่าไร แล้วก็มีการระบายน้ำทิ้งวันละไม่รู้กี่แสนลูกบาศก์เมตร ไปคิดกันเอาเอง”

ตอบว่า — ลุ่มน้ำโขงเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประชาชนหลายล้ายคนใน 4 ประเทศน้ำโขงตอนล่างจับปลาและสัตว์น้ำได้ปีละ 1.9-4 ล้านตัน (http://bit.ly/2jn4WNt) ปลาแม่น้ำโขงเป็นแหล่งโปรตีน แหล่งรายได้ แหล่งอารยธรรมของภูมิภาคนี้ (รวมทั้งอารยธรรมสมัยนครวัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ทะเลสาบเขมร)

ราคาปลาน้ำโขงรู้กันว่าเดี๋ยวนี้แพงมากๆ ที่เชียงของ จ.เชียงราย ปลาเนื้ออ่อน-ปลานาง ก.ก. ละ 450 บาท ร้านอาหารแย่งกันซื้อนะคะ มีเงินก็ไม่ใช่ว่าจะได้กิน (ที่ลาวใต้-สีพันดอน จับปลาน้ำโขงได้ฤดูกาละ 1-10 ตัน/ครอบครัว ก็หลายล้านบาทค่ะรายได้จากปลา)

“การระบายน้ำทิ้ง” ไม่มีค่ะ แม่น้ำโขงที่ไหลไปนั้นคือสิ่งหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต หล่อเลี้ยงระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์เป็นอันดับ 2 ของโลก แม่น้ำโขงไม่ใช่ท่อน้ำหรือคลอง แม่น้ำโขงมีวัฏจักรน้ำขึ้นน้ำลงหมุนเวียนตามฤดูกาล ปลาแม่น้ำโขง 70% อพยพทางไกล จากปากน้ำเวียดนาม-ทะเลสาบเขมร-พรมแดนไทยลาว-ลำน้ำสาขา

น้ำโขงที่ไหลจากต้นน้ำถึงทะเลจีนใต้ มีคุณค่า ตะกอนที่แม่น้ำพัดพามา คืออู่ข้าวอู่น้ำของภูมิภาค ลองหาข้อมูลอ่านดู google ก็จะพบงานวิจัยทั้งภาษาไทย อังกฤษ และอื่นๆ น่าจะหลายพันชิ้นค่ะ

แม่น้ำโขงมีทุกอย่างค่ะ แต่หายนะที่เกิด/กำลังจะเกิด เนื่องจากขาดอย่างเดียว คือความเป็นธรรม-ความโปร่งใส

ขณะที่ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เขียนจดหมายฉบับที่ 1 ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ความว่า เป็นเช้าอีกวันหนึ่งที่นั่งมองแม่น้ำโขงจากริมฝั่งภาพแม่น้ำโขงอันงดงามจากเกาะแก่ง หินผา ชีวิตของผู้คนและหมู่นกริมน้ำที่เริ่มออกหากิน เรือหาปลาลำเล็กผูกอยู่ข้างแก่ง คนหาปลากำลังผูกเบ็ด บนหาดริมแม่น้ำโขง หญิงชราและคู่ชีวิต ก้มๆเงยๆปลูกผักเพื่อหาเลี้ยงชีพ มองไกลไปลิบๆเรือสินค้าของผู้คนสองฝั่งแล่นข้ามแม่น้ำเพื่อขนส่งสินค้าระหว่างสองแผ่นดินไทย ลาว

ภาพที่ฉันเห็นมันช่างขัดแย้งกันเสียจริงๆกับสิ่งที่ท่านนายกพูดถึงเรื่องโครงการระเบิดเกาะแก่งแมน้ำโขง ใช้ครับท่านแม่น้ำโขงอาจเปลี่ยนแปลงไป ความอุดมสมบูรณ์อาจลดลงไปจากการกระทำของน้ำมือมนุษย์แต่วิถีชีวิตและการพึ่งพาแม่น้ำโขงยังมีอยู่ในหลายด้านทั้งทางตรงและทางอ้อมและเป็นความมั่นคงที่ยั่งยืนของประชาชนไทยรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำโขง

โครงการระเบิดแก่ง เพื่อการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ 500 ตันในแม่น้ำโขงนั้นเป็นโครงการที่จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงในหลายด้าน ไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่จะเสียไป การค้าขายนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อพัฒนาประเทศชาติแต่การค้าที่ไม่เป็นธรรมและกลับสร้างผลเสียหายอันใหญ่หลวงให้กับธรรมชาติและผู้คนอีกนับล้านจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งปัญหาเรื่องความมั่นคงของประเทศทั้งอธิปไตย เขตแดน

เมื่อพูดถึงผลประโยชน์ด้านการค้าแล้วประเทศที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือจีน ทั้งเรื่องสินค้า เรือขนส่ง

หากจะให้มีความเป็นธรรมกับเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมโลก การค้าทางบกถนนหนทาง สะพานก็มีแล้วก็ใช้ให้เต็มที่ รถไฟก็พร้อมเดินหน้าเรือก็มาถึงอำเภอเชียงแสน ลดขนาดเรือก็ไปถึงหลวงพระบางได้ ท่านนายกครับเหลือแม่น้ำโขงให้กับคนลุ่มน้ำโขงเตอะครับ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน