การเจรจาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ดูเหมือนกระแสจะเร่งรีบกดดันให้ซีพีจบการเจรจา ทั้งที่หลายประเด็นการรถไฟยังไม่ตอบ เพียงแต่ย้ำว่า การรถไฟจะไม่รับเงื่อนไขใด ๆ นอกทีโออาร์ เพราะหวั่น
รัฐเสียประโยชน์ แต่จะหันไปเรียกผู้เข้าประมูลอีกรายมาเจรจา!!! วลีที่สังคมถูกป้อนโปรแกรมข้อมูล
จากสิ่งที่บอกต่อกันมา จนต้องตั้งคำถามว่า แล้วรัฐเสียประโยชน์จริงหรือไม่???

  1. ซีพีไม่เคยยื่นตัวเลข 117,200 ล้านบาท และผู้เข้าประมูลอีกรายไม่เคยยื่นตัวเลข 169,000 ล้านบาท แต่มีบุคคลปริศนา เอาตัวเลขที่เอกชนขอรัฐสนับสนุนเท่ากันปีที่ 6-15 นำมาคิดมูลค่าปัจจุบันเอง โดยใช้ตัวเลขดอกเบี้ย discount rate 2.375% ซึ่งดอกเบี้ยอัตรานี้ ไม่มีธนาคารที่ไหนปล่อยให้เอกชนกู้ แต่ถ้าคิดอัตรานี้ จะเท่ากับผู้เข้าประมูลอีกรายขอรัฐสนับสนุน 187,100 ล้านบาท (ไม่ใช่ 169,000 ล้านบาทตามข่าว) ปล่อยตัวเลขผิดแบบนี้ รัฐเสียประโยชน์หรือไม่?

 

  1. หากทำต้นทุนเงินกู้ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง โดยใช้ดอกเบี้ยที่ 5% จะเท่ากับว่า ซีพีขอรัฐสนับสนุนเพียง 90,722 ล้านบาท ในขณะที่ผู้เข้าประมูลอีกรายขอรัฐสนับสนุนสูงถึง 144,508 ล้านบาท ซึ่งผู้เข้าประมูลอีกรายยังถือว่าเสนอเกินกรอบทีโออาร์แต่แรก (ครม.อนุมัติเพดานรัฐร่วมลงทุนที่ 119,425 ล้านบาท) การเรียกผู้เข้าประมูลอีกรายมาคุย ทั้งที่เสนอตัวเลขสูงกว่าทีโออาร์แต่แรก รัฐเสียประโยชน์หรือไม่?

 

  1. ในขณะที่เจรจากับซีพี ข้อมูลการเจรจาที่เป็นความลับ ถูกนำมาเสนอข่าวรายวัน ทำไมถึงไม่อนุญาตให้เอกชนเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องเป็นเรื่องเป็นราว แต่กลับมีข้อห้ามเอกชนนำเสนอข้อมูล แต่ปล่อยให้เกิดข่าวลือจากห้องเจรจา ทำลายความเชื่อมั่นนักลงทุนไปรายวัน แบบนี้รัฐเสียหายหรือไม่

 

  1. การที่ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ แต่เกินอำนาจกรรมการพิจารณา แต่ไม่ส่งต่อไปให้ผู้มีอำนาจพิจารณา เลือกไม่รับตั้งแต่แรกเพียงอ้างตัวอักษร ถือว่าประเทศชาติเสียประโยชน์หรือไม่

 

  1. การรถไฟยังไม่ตอบคำถามหลายข้อจากห้องเจรจา แต่จะเร่งรีบปัดตก และเชิญรายที่สองมาเจรจา หากรีบสรุปแล้วมีปัญหาทีหลัง ดำเนินโครงการไม่สำเร็จ รัฐเสียประโยชน์หรือไม่

 

  1. การเจรจารัฐบอกซีพีห้ามเปลี่ยนตัวเลขที่เสนอมา เพราะจะยึดเงินประกัน แต่ในขณะเดียวกันบอกจะเรียกผู้เข้าประมูลอีกรายมาเจรจาขอลดตัวเลขที่เสนอมา ผิดทีโออาร์เสียเอง แบบนี้รัฐเสียประโยชน์หรือไม่

 

  1. เงื่อนไขซีพี รัฐได้ประโยชน์ หรือ เสียประโยชน์ สรุปคือ ซีพีเสนอขอรัฐสนับสนุนที่ 90,722 ล้านบาท และขอให้รัฐเอาเงินส่วนที่ต่ำกว่ากรอบครม.อนุมัติอยู่ 28,703 ล้านบาท มาตั้งกองทุนสำรองเงินกรณีฉุกเฉิน (Contingent Fund) จำนวน 28,000 ล้านบาท เพื่อลดความเสี่ยงโครงการ หากโครงการไม่ประสบปัญหาทางการเงิน กองทุนนี้ก็ไม่ต้องมาช่วยเหลือโครงการ ซึ่งรวมเงินที่ซีพีเสนอ รวมกับกองทุนสำรองของรัฐกรณีฉุกเฉิน ก็ยังต่ำกว่ากรอบครม.อนุมัติที่ 119,425 ล้านบาทอยู่ดี แต่กรรมการเลือกที่จะเรียกรายที่เสนอสูงกว่าหลายหมื่นล้านมาเจรจา อย่างนี้รัฐเสียประโยชน์หรือไม่

การอ้างวลีว่า ปัดข้อเสนอเงื่อนไขนอกทีโออาร์ แต่กลับจะเรียกรายที่สองที่ผิดทีโออาร์ตั้งแต่แรกมาเจรจา ทำให้ต้องตั้งคำถามว่า รัฐได้ประโยชน์ หรือ ใครได้ประโยชน์ งานนี้ถือเป็นการสอนมวยซีพีว่า ราคาถูกกว่าไม่ใช่ว่าจะชนะ ต้องเรียนรู้คำว่า หมูเขาจะหาม อย่าเอาคานเข้ามาสอด!!!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน