iLaw เทียบชัดๆ จำนวน ส.ส. หากไม่ใช้สูตรคำนวณ กกต. อนาคตใหม่จะได้เพิ่ม 7 ที่นั่ง

iLaw – จากกรณีที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก ไอลอว์ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการคำนวณ ส.ส. โดยระบุว่า จำนวนที่นั่ง ส.ส. จะเป็นอย่างไรหาก กกต. ใช้สูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส. แบบไม่จัดสรรที่นั่งให้พรรคที่ได้ ส.ส. พึงมีต่ำกว่าหนึ่ง

เรื่องดังกล่าวถูกหยิบถกขึ้นมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ภายหลังจากที่ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งซ่อมเขต 8 จ.เชียงใหม่ ที่นอกจาก ส.ส. พรรคอนาคตใหม่จะชนะด้วยคะแนนเสียงกว่า 75,000 คะแนน ทำให้พรรคอนาคตใหม่ ได้ ส.ส. เพิ่มมากอีก 1 ที่นั่ง ปรากฎว่า ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ กลับได้เพิ่มด้วย

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากสูตรคำนวนที่นั่งของ กกต. ซึ่งมาจากระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ออกแบบโดย มีชัย ฤชุพันธ์ ปธ.คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบบดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้พรรคที่ได้ ส.ส.เขตเยอะ ได้ที่นั่งแบบปาร์ตี้ลิสต์น้อย และทำให้พรรคการเมืองที่แพ้ ส.ส.เขต ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อมากกว่า

อย่างไรก็ดี ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่ กกต. จะเลือกใช้สูตรคำนวณแบบที่ใช้อยู่นี้ ก็เคยมีคนออกมาแย้งว่า สูตรที่ กกต. ใช้นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะไปจัดสรรที่นั่ง ส.ส. ให้กับพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่ง ส.ส. พึงมีต่ำกว่าหนึ่งที่นั่ง ซึ่งไม่ควรได้รับการจัดสรร

แต่เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมวินิจฉัยว่า สูตรดังกล่าวของ กกต. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทำให้วิธีการคำนวณที่นั่งของ กกต. ไปลดทอนที่นั่งของบางพรรคให้ต่ำกว่า ส.ส. ที่พึงจะมี และไปเพิ่มที่นั่งให้ ส.ส. บางพรรคเกินกว่าที่พรรคเหล่านั้นพึงมี

โดย สูตรคำนวณของ กกต. ทำให้ พรรคพลังประชารัฐมี ส.ส. หายไป 1 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่มี ส.ส. หายไป 7 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคชาติไทยพัฒนา มี ส.ส. หายไปพรรคละ 1 ที่นั่ง และแน่นอนว่า ที่นั่งที่เพิ่มขึ้นและหายไปย่อมส่งผลต่อการ จัดตั้งรัฐบาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน