เวทีรมว.กลาโหมอาเซียนครั้งที่ 13

“มองไปข้างหน้า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

เวทีรมว.กลาโหมอาเซียนครั้งที่ 13 – “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” หรือ “Advancing-Partnership-for-Sustainability” เพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนของความร่วมมือ ทั้งภายในและภายนอกอาเซียน ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในทุกมิติ มองไปข้างหน้า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความรุ่งเรืองของภูมิภาคอย่างยั่งยืน

โดยในมิติด้านความมั่นคงของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน เป็นแนวคิดนโยบายหลักที่กระทรวงกลาโหมไทย ได้ดำเนินการตามแนวคิดหลักของการดำรงตำแหน่งประธานประชุม รมว.กลาโหม อาเซียน ASEAN-Defence-Ministers’-Meeting (ADMM) ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 10-12 ก.ค. 2562 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ และการประชุม ADMM-Plus ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 16-19 พ.ย. 2562 ที่ โรงแรมอนันตรา และโรงแรมอวานี่ ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ

พล.อ.รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์

พล.อ.รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์

พล.อ.รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม (ผอ.สนผ.) มองถึงการประชุม รมว.กลาโหมอาเซียน ที่ รมว.กลาโหมไทยเป็นเจ้าภาพว่า ครั้งนี้ถือเป็นกลไกการหารือด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศในระดับยุทธศาสตร์ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 49 ภายใต้ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

ซึ่งพัฒนาการที่เข้มแข็งของอาเซียน ที่ผ่านมาจนทำให้เกิดการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2558 ทำให้กลไกการประชุม ADMM เป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ ที่มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือ ด้านความมั่นคงของภูมิภาคที่เป็นรูปธรรม

นอกจากนั้น ภายใต้กลไก ADMM ประเทศสมาชิกอาเซียนยังได้เห็นชอบร่วมกันให้มีกลไกการหารือด้านความมั่นคง ร่วมกับประเทศคู่เจรจา หรือที่เรียกว่าการประชุม รมว.กลาโหมอาเซียนกับ รมว.กลาโหม ประเทศคู่เจรจา (ASEAN-Defence-Ministers’-Meeting-Plus-ADMM-Plus) เมื่อปี 2553 ร่วมกับประเทศคู่เจรจา 8 ประเทศ

ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย, สาธารณรัฐประชาชนจีน, สาธารณรัฐอินเดีย, ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์, สาธารณรัฐเกาหลี, สหพันธรัฐรัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกอาเซียนในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ครอบคลุมในทุกมิติ ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา

โดยยึดหลักความเป็นแกนกลางของอาเซียน เป็นหัวใจสำคัญ เพื่อตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อความท้าทายด้านความมั่นคงในทุกรูปแบบ ผ่านโครงการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม อาทิ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการบรรเทาภัยพิบัติ ความมั่นคงทางทะเล การแพทย์ทหาร การต่อต้านการก่อการร้าย การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ การปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม และความมั่นคงไซเบอร์

ทั้งนี้ ในกรอบการประชุม ADMM และ ADMM-Plus ที่ปรับจากนโยบาย หรือผลความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม และนำมาปฏิบัติแล้ว หรือกำลังจะเริ่มดำเนินการ ในรูปแบบของ 3S โดย S1 เป็นแนวความคิดหลัก คือ “ความมั่นคงที่ยั่งยืน” หรือ “Sustainable-Security” โดยจะมีผลลัพธ์เป็นปฏิญญาร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ว่าด้วยความมั่นคงที่ยั่งยืน

ซึ่งจะมีการลงนามกันในห้วงการประชุม ADMM ครั้งที่ 13 และแถลงการณ์ร่วมของ รมว.กลาโหมอาเซียน กับ รมว.กลาโหมประเทศคู่เจรจา ว่าด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืน ซึ่งจะมีการรับรองในห้วงการประชุม ADMM-Plus ครั้งที่ 6 ในการประชุมที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยเร็วๆ นี้

สำหรับ S2 และ S3 เป็นแนวคิดสนับสนุน โดย S2 คือการบูรณาการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือ “Strengthening,-consolidating and-optimizing-defence-cooperation” โดยมีผลลัพธ์เป็นเอกสารแนวความคิดว่าด้วยการประเมินผล ความคิดริเริ่มต่างๆ ในกรอบ ADMM ให้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เกิดประโยชน์สูงสุด และสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงในปัจจุบันของภูมิภาค

และ S3 คือ การสนับสนุนกิจกรรมที่คาบเกี่ยว ระหว่างเสาความร่วมมือ หรือ “Supporting-cross-pillar-activities” โดยมีผลลัพธ์เป็นเอกสารแนวความคิดว่าด้วยบทบาทของฝ่ายทหารอาเซียน ในการสนับสนุนการบริหารจัดการชายแดน และเอกสารเพื่อการหารือว่าด้วยการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU-Fishing ซึ่งเอกสารทั้งสองฉบับเป็นความริเริ่มของไทย ที่จะนำขีดความสามารถของฝ่ายทหารอาเซียน ไปสนับสนุนให้เกิดสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคง ที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินความร่วมมือของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น

สำหรับหัวข้อที่จะมีการเสนอในที่ประชุมที่สำคัญๆ จะมีการหารือเพื่อให้ความเห็นชอบ ต่อเอกสารความร่วมมือ ที่เสนอโดยประเทศสมาชิก และการดำเนินความร่วมมือสืบเนื่องจากปีที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการประชุมเตรียมการในระดับคณะทำงาน และในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสแล้วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเอกสารความร่วมมือนอกเหนือจากที่เสนอโดยกระทรวงกลาโหมแล้ว ยังมีเอกสารที่เสนอโดยประเทศสมาชิก เพื่อริเริ่มความร่วมมือใหม่ๆ หรือที่เป็นการพัฒนาต่อยอดจากความร่วมมือเดิมที่มีอยู่

ส่วนเอกสารแนวคิดของแต่ละประเทศที่ได้เสนอในที่ประชุมในครั้งนี้ รวมทั้งจะมีการดำเนินการต่อเนื่องจากสารต่อแนวคิดในปีที่ผ่านมา ที่ต้องมีการขับเคลื่อน และจะต้องลงนามในที่ประชุมในครั้งนี้ ก็มีอยู่หลายเรื่อง อาทิ ปฏิญญาที่รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน จะต้องลงนามร่วมในเรื่องความมั่นคงและยังยืน ในเรื่องนี้เรามีผลลัพธ์ ที่ชัดเจนอยู่ 2 เรื่อง

คือ 1.ปฏิญญาร่วม และ 2.เอกสารแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน และรัฐมนตรีกลาโหมคู่เจรจา ซึ่งต้องให้มีความเห็นชอบในครั้งนี้ เพื่อนำไปแถลงการณ์ร่วมในเดือนพฤศจิกายน 2562 ในการประชุม ADMM-Plus เป็นเอกสารว่าด้วยเรื่องความเป็นหุ้นส่วนความมั่นคงที่ยั่งยืน

ในส่วนของเอกสารแนวความคิดของประเทศไทย ที่ได้เสนอและได้รับความเห็นชอบในที่ประชุมระดับคณะทำงาน และในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสแล้ว และจะนำเข้าไปเพื่อรับความเห็นชอบ ในที่ประชุม ADMM มี 2 เรื่อง คือ 1.เอกสารแนวความคิดทางฝ่ายทหารอาเซียน จะสนับสนุนการบริหารจัดการชายแดนได้อย่างไร ซึ่งอันนี้มีความสำคัญ ในที่ประชุมทั้ง 10 ประเทศ ได้เห็นชอบร่วมกัน ที่จะจัดทำเป็นเอกสาร นำไปใช้ประโยชน์ ในอนาคต

เพราะเรื่องการบริหารจัดการชายแดนถือเป็นเรื่องสำคัญ หลังจากที่อาเซียนตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาเราเป็นประชาคมร่วมกัน มีการผ่านข้ามแดน การค้าขายบริเวณชายแดน ได้สะดวกและง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นจึงทำให้มีการเคลื่อนย้ายผ่านชายแดนเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องมีเอกสาร นี้ให้เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ และการบริหารจัดการชายแดน ให้มีความมั่นคง ปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ และสินค้าหนีภาษี จะได้มีการควบคุมดูแลได้ดีและเป็นไปในแนวทางเดียวกันในประเทศสมาชิกอาเซียน

เอกสารฉบับที่ 2 ที่ประเทศไทยได้เสนอ ในที่ประชุมครั้งนี้ เป็นเรื่องของไอยูยู การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และรายการควบคุม เป็นเอกสารเพื่อการหารือ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ประเทศไทยได้เจอกับปัญหานี้ และได้แก้ไขไปแล้ว จนทางอียูได้ยกเลิกใบเหลืองไป นับเป็นความสำเร็จที่สำคัญที่ทางทหาร โดยกองทัพเรือ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญ

ตรงนี้บางประเทศที่มีปัญหาแบบเราเขาไม่ได้ใช้ทหาร ในการแก้ไขปัญหาเรื่องการประมง ประเทศไทยถือว่าเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่นำทหารทำอะไรได้บ้างในเรื่องของการเข้าไปช่วยเหลือ ของการทำประมงผิดกฎหมาย เป็นแนวคิดอันหนึ่งที่ให้สมาชิกอาเซียน จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงจากประเทศไทย

ส่วนเอกสารอีก 4 ฉบับที่สมาชิกได้เสนอมามีอยู่หลายเรื่อง เช่น ประเทศบรูไน ได้เสนอเอกสารแนวความคิดว่าด้วยการขยายโครงสร้างการติดต่อสื่อสารโดยตรงของประเทศสมาชิกอาเซียนไปยังประเทศคู่เจรจา (Expansion of the ASEAN Direct Communications Infrastructure in the ADMM Process to the Plus Countries) ที่ปัจจุบันนี้เราได้ปฏิบัติแล้วในประเทศอาเซียน ผู้นำทางทหารสามารถโทรศัพท์หารือกันได้ในประเด็น ที่อาจมีความขัดแย้ง หรือประเด็นที่จะขอความร่วมมือในการสนับสนุนเรื่องต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องของการใช้กำลังทางทหารเท่านั้น

แต่ร่วมถึงการพูดคุยขอความช่วยเหลือ อาทิ ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ซึ่งเรื่องนี้ได้ทำสำเร็จแล้ว แต่ทางประเทศบรูไนได้เสนอต่อไปว่าในประเทศอาเซียนของเราได้ทำเห็นเป็นรูปธรรมแล้ว น่าที่จะขยายต่อไปยังประเทศคู่เจรจาทั้ง 8 ประเทศ ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะทำให้สำเร็จต่อไป

ส่วนประเทศเมียนมาได้เสนอ เอกสารแนวความคิดว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการประชุมแพทย์ทหารอาเซียน (Concept Paper on Establishment of ASEAN Military Medicine Conference) ปัจจุบันประสบความสำเร็จ จนได้ยกฐานะเป็นหน่วยงานองค์กรถาวร ซึ่งทางเมียนมาได้ติดตามในเรื่องนี้มาตลอด จึงอยากให้มีการจัดประชุมแพทย์ทหารอาเซียนขึ้นทุกปี จะได้ติดตามความก้าวอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ยังมีเอกสารความร่วมมือในการดำเนินการ ที่เป็นพัฒนาการสืบเนื่องจากปีที่ผ่านๆ มา อาทิ การบรรจุศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน ASEAN Center of Military Medicine (ACMM) ในกฎบัตรอาเซียน ซึ่งการจัดตั้ง ACMM เป็นความคิดริเริ่มของกระทรวงกลาโหมไทย และได้รับความเห็นชอบจากอาเซียนให้บรรจุในกฎบัตรอาเซียนแล้ว โดยได้มีการนำเสนอให้ผู้นำอาเซียนรับทราบในห้วงการประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 34 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การบรรจุ ACMM ในกฎบัตรอาเซียนถือเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่สำคัญที่เป็นรูปธรรมของการเป็นประธานอาเซียนของไทย เพื่อยกระดับ ACMM ให้เป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ

สำหรับประเทศอินโดนีเซียได้เสนอเอกสารขอบเขตการปฏิบัติงานโครงการ ASEAN Our Eyes (TOR of ASEAN Our Eyes) ทางอินโดนีเซียได้ริเริ่มขึ้นมา เกี่ยวกับความร่วมมือการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล การให้ข้อมูล เกี่ยวกับลัทธิสุดโต่ง ลัทธิรุนแรง การก่อการร้ายต่างๆ ก็จะใช่ช่องทางการสร้างโครงข่าย รูปแลกเปลี่ยนการให้ความรู้

ประเทศฟิลิปปินส์ได้นำเสนอเอกสารแนวทางปฏิบัติในการปฏิสัมพันธ์ทางทะเล (ADMM Guidelines for Maritime Interaction) ซึ่งฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่อยู่ในทะเล จะให้ความสำคัญในเรื่องการเดินเรือ การเดินทางในทะเล จะทำอย่างไรให้การเดินเรือในทะเล ให้เกิดความเข้าใจกัน ให้เกิดการปฏิบัติมีโครงข่ายติดต่อสื่อสารในกรณีที่อาจเกิดความเข้าใจผิดกัน จึงได้เสนอเอกสารฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติจะได้ตรงกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดจนนำไปสู่ความรุนแรง

“การประชุมในครั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดคือประชาชน ถ้ามองว่าประเทศไทยและประชาชนคนไทย จะได้รับประโยชน์อะไรจากการประชุมในครั้งนี้ หากทุกประเทศในอาเซียนมาประชุมและเห็นพ้องและปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้เสนอกันในที่ประชุม ก็จะทำให้มีเสถียรภาพ มีสันติภาพ และมีความมั่นคง ทำให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี มีความปลอดภัย อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก

หากเรามองภาพกว้างออกไปอีกว่าในการประชุมอาเซียนในครั้งนี้ ในกรอบทั้ง 10 ประเทศ รวมถึงประเทศคู่เจรจา อีก 8 ประเทศ เราสามารถ รวมประชากรได้ถึง 4 พันล้านคน มีคนเคยพูดอยู่ว่าประชากรขนาดนี้ ถ้าเรามาคิดตัวเลขกำลังทหาร และยุทโธปกรณ์ 90% ของโลก อยู่ในเวทีประชุมของ ADMM และ ADMM-Plus ของเราอยู่ด้วย หากตรงนี้เกิดสันติภาพ และเสถียรภาพ และเกิดความมั่นคงแล้ว ประชาชนคนไทยเราเองได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน”

ในความร่วมมือภายใต้กรอบ ADMM และ ADMM-Plus มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อการเสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงของภูมิภาค หรือการสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับการดำเนินชีวิตของประชาชนอาเซียน ทั้งด้านการกินอยู่ การค้าขายการลงทุน และการเดินทางไปมาหาสู่กัน

รวมทั้งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติหรือภาวะวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยขอยกตัวอย่างการดำเนินความร่วมมือที่สนับสนุนความมั่นคงปลอดภัยในกรอบ ADMM และ ADMM-Plus ที่กระทรวงกลาโหมดำเนินการในปีนี้ ได้แก่ การริเริ่มให้มีการประเมินผลความร่วมมือในกรอบ ADMM ที่มีอยู่จำนวนมาก ให้สามารถใช้ทรัพยากรทางทหารของประเทศสมาชิกให้เกิดประโยชน์


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน