กองทุนพัฒนาสื่อฯ ผนึก วธ. เปิดเวทีขับเคลื่อนสื่อสร้างสรรค์ แนะไม่หนุนสื่อทำผิดกฎหมาย

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ร่วมจัดกิจกรรม รวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทยประจำปี 2562 ภาคกลาง “ผนึกกำลังสื่อสร้างสรรค์ สร้างนิเวศสื่อที่ดี” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมขับเคลื่อน งานพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ใน 4 ภูมิภาค ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และรองประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมมอบรางวัลให้กับผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ “TMF AWARDS 2019” และพิธีมอบรางวัล “ Less in more ปี 2 การประกวดผู้ผลิตสื่อภาพยนตร์สั้นสำหรับผู้พิการ” ภายในงานมีภาคีเครือข่าย องค์กร ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก

นายอิทธิพล กล่าวว่า เวทีครั้งนี้ถือเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในระดับจังหวัด ภูมิภาค และระดับประเทศ ในยุคการสื่อสารไร้พรมแดน ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ทุกที่ ผ่านสื่อหลายรูปแบบ สื่อมีอิทธิพลต่อคนในสังคม และวิถีชีวิตมากขึ้น การส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทัน และมีวิจารณญาณในการบริโภคสื่อ ส่งเสริมให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ที่เหมาะสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา ทุกวัฒนธรรม จึงมีความสำคัญยิ่ง

อิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม

นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะไม่สามารถทำได้เลย หากปราศจากความร่วมมือของคนในสังคม และจากทุกภาคส่วน งานรวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย จึงเป็นงานสำคัญที่สร้างปรากฏการณ์การรวมตัวสื่อทุกแขนง เพื่อรวมพลังขับเคลื่อนให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม และร่วมกันขับเคลื่อนประเทศก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างสรรค์ ขับเคลื่อนให้เกิดนิเวศสื่อที่ดี ทั้งในมิติการรู้เท่าทันสื่อและการมีส่วนร่วม ให้มีบทบาทเพื่อการพัฒนา และการกำกับดูแลจริยธรรมสื่อ

ด้าน​นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กองทุนพัฒนาสื่อฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้จัดงานผนึกกำลังสื่อสร้างสรรค์ สร้างนิเวศสื่อที่ดี 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีมาก ภาคีเครือข่ายมาร่วมงานอย่างคึกคัก ได้เห็นพลังที่เข้มแข็งของผู้ที่ผลิตสื่อ ทั้งสื่อพื้นบ้าน สื่อวัฒนธรรม และสื่อทุกแขนงดังนั้น ในระดับภูมิภาค เรามีการเชิดชูสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยการมอบรางวัล สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ “TMF AWARDS 2019” ให้กับผู้ผลิตสื่อดีเด่น ทั้ง 3 ภูมิภาค เพื่อเป็นกำลังใจในการผลิตสื่อที่ดีต่อไป ส่วนการจัดงานที่ภาคกลางเป็นการรวมภาคตะวันออกและภาคตะวันตกไว้ด้วย โดยมีการแสดงผลงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จากภาคี รวมถึงสัมมนาทางด้านวิชาการ พร้อมเปิดห้องให้ความรู้เยาวชนในเรื่องทักษะการใช้สื่อ เปิดใจถึงสื่อของเด็ก และนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

​“กองทุนพัฒนาสื่อฯ มีวัตถุประสงค์หลัก คือส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สนับสนุน ประสานงานและเอื้ออำนวยให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ขึ้น โดยภาคีเครือข่ายทุกคนสามารถช่วยกันขับเคลื่อนสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ เราจะได้เห็นพลังของภาคีต่างๆ มาร่วมผนึกกำลัง ศึกษา เรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดในงานครั้งนี้” นายวสันต์ กล่าว

ขณะที่ ​นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ในฐานะที่ได้รับรางวัลประเภทสื่อสร้างสรรค์ภาษาถิ่นหรือภาษาไทย กล่าวว่า แผนงานของเราได้ขอทุนจากกองทุนสื่อฯ เพื่อนำไปจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านการอ่านในระดับภูมิภาค ซึ่งผลตอบรับดีมาก ไม่คิดว่าจะมีการรวมตัวสื่อมากมายเช่นนี้ จากการทำงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ ทำให้ได้เห็นศักยภาพในการทำงาน เกิดการต่อยอดโครงการต่างๆ มากมาย อาทิ โครงการปลูกฝังลูกรักเป็นนักอ่าน run for book เป็นต้น








Advertisement

นางสุดใจ กล่าวอีกว่า การลงพื้นที่ต่างจังหวัด ทำให้พบว่าข้อมูลข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย ผ่านการอ่านจากสมาร์ทโฟนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เยาวชนสามารถสร้างสารคดีผ่านสมาร์ทโฟนด้วยตนเอง ขณะเดียวกันยังมีช่องว่างระหว่างวัยของเด็กที่ไม่เหมะสมกับอุปกรณ์ดังกล่าว สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกที่ออกมาเตือนอย่าให้เด็กเล็กอยู่หน้าจอเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน เด็กวัย 1-2 ขวบควรได้เรียนรู้สื่อเกี่ยวกับการเป็นมนุษย์หรือควรมีกิจกรรมการละเล่นอยู่บนพื้นมากกว่าติดหน้าจอ เพราะจะทำให้เด็กมีสมาธิสั้น ทั้งนี้อยากให้มีการรณรงค์เลือกสรรสื่อให้เด็กในสัดส่วนที่เหมาะสม

ส่วน ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันเป็นยุคของสื่อดิจิทัล ที่ผู้คนต้องอยู่คู่กับสื่อออนไลน์ แต่จะทำอย่างไรให้การเสพสื่อหรือเผยแพร่สื่อมีประโยชน์มากกว่าผลเสีย ดังนั้นผู้ที่ต้องการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และปลอดภัยควรมี 3 องค์ประกอบ ดังนี้ 1.ข้อมูลจริงที่สามารถตรวจสอบได้ 2.ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น และ 3.มีประโยชน์ต่อสังคม ทั้งนี้ที่ผ่านมายังมีสื่อไม่สร้างสรรค์ รวมถึงสื่อลามกอนาจาร เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย

“แม้มีกฎหมายบังคับใช้กับสื่อ แต่สื่อเหล่านั้นก็ยังลอยนวล สื่อเหล่านี้มุ่งเป้าใช้ธุรกิจเป็นตัวนำ ดังนั้นวิธีแก้ไขที่ดีที่สุดก่อนที่กฎหมายจะทำงาน คือ การแทรกแซงทางสังคม โดยประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกัน ไม่ใช้ ไม่แชร์ ไม่เชื่อ ไม่ซื้อ พยายามต่อต้าน เพื่อขับเคลื่อนให้เขาอยู่ในกติกาของสังคม แล้วสื่อนั้นจะหายไปเอง” ดร.ศรีดา กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน