ครั้งแรกในอาเซียน! ทีมวิจัยเผยเส้นทางอพยพ เหยี่ยวนกเขา 2 ชนิด ดันท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

เหยี่ยวนกเขา / เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรรม(อว.) นำโดย น.ส.วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.

นางวรรณิพา ทองสิมา ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ สวทช. นางรังสิมา ตัณฑเลขา ผู้อำนวยการโปรแกรมการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ สวทช. และคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

ลงพื้นที่จัยการใช้เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ติดตามเส้นทางเหยี่ยวอพยพที่เขาดินสอ ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร โดยความร่วมมือระหว่าง ชสวทช. มจธ. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ โดยมีนายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปะทิว จ.ชุมพร นายสมชาย เสมมณี ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชุมพร และ ผศ.ดร.พิสิษฐ์ เพ่งอัมพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร ให้การต้อนรับ

นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ว่า สวทช. เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศโดยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเฉพาะการพัฒนางานวิจัยเชิงพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความเป็นเอกลักษณ์และโดดเด่นเป็นที่ยอมรับของนักวิจัยทั่วโลก

ทั้งนี้ สวทช. โดยฝ่ายบริการวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ เล็งเห็นความสำคัญในการทำวิจัยเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการติดตามเส้นทางเหยี่ยวอพยพ เนื่องจากเหยี่ยวเป็นสัตว์ที่อพยพเป็นระยะทางไกลผ่านหลายประเทศในทวีปเอเชีย โดยเริ่มต้นจากรัสเซีย ผ่านไทยจนถึงจุดแวะพักในฤดูหนาวที่ประเทศอินโดนีเซีย ทีมวิจัยจึงได้นำเทคโนโลยีเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ เพื่อทำการติดตามการอพยพและระบุตำแหน่งของเหยี่ยวนกเขา 2 ชนิด โดยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมาตลอด 2 ปี

ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีความแม่นยำในระยะ 0.5-1.5 กิโลเมตรและสามารถติดตามเส้นทางการอพยพและตำแหน่งของเหยี่ยวได้ ด้วยการดาวน์โหลดหรือตรวจสอบข้อมูลออนไลน์ได้จากเว็บไซต์ http://www.argos-system.org/ หรือผ่านแอปพลิเคชัน CLS view บนมือถือ ซึ่งถือว่ามีความสะดวกและรวดเร็ว นับเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งด้านการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวชุมชนได้

“จ.ชุมพร เป็นพื้นที่นำร่อง Smart Tambon Model ที่จะพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน 5 ด้าน ได้แก่ อาชีพ สุขภาพ การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนผ่านกลไกการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานและชุมชนท้องถิ่น โดยคาดหวังว่าการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยไปใช้ควบคู่กับการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชน นำร่องพื้นที่เขาดินสอจะเป็นต้นแบบที่สำคัญที่นำองค์ความรู้และผลงานวิจัยไปถ่ายทอดหรือขยายผลสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวบนฐานความรู้ต่อไป” รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว








Advertisement

นายแอนดรูว์ เจ เพียร์ซ (Mr. Andrew J. Pierce) ผู้เชี่ยวชาญ สังกัดห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และคณะวิจัย เปิดเผยว่า เหยี่ยวจัดเป็นผู้ล่าชั้นสูงสุดบนห่วงโซ่อาหารจึงถือเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญของคุณภาพสิ่งแวดล้อม แต่เหยี่ยวหลายชนิดกำลังถูกคุกคามเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่อาศัย ดังนั้นการศึกษาลักษณะพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูผสมพันธุ์และฤดูหนาวรวมถึงเส้นทางการอพยพและจุดแวะพักระหว่างทางจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ ซึ่งในช่วงฤดูหนาวของทุกปีจะมีเหยี่ยวอพยพนับแสนๆ ตัว หนีหนาวจากพื้นที่ผสมพันธุ์ (breeding grounds) ของประเทศรัสเซียและจีน มายังพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาว (wintering grounds) ช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ในเขตร้อนทางตอนใต้ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้เลือกศึกษา เส้นทางอพยพเอเชียตะวันออกผ่านแผ่นดินใหญ่ (East Asian Continental Flyway) เริ่มจากเขตไซบีเรีย และจีน ลงมาตามแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านคาบสมุทรไทย-มาเลเซีย และหมู่เกาะของอินโดนีเซีย เนื่องจากเส้นทางอพยพของเหยี่ยวที่มีข้อมูลและการศึกษาน้อยที่สุด โดยร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ

โดยการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อเข้ามาศึกษาข้อมูลเส้นทางการอพยพและจุดแวะพักที่สำคัญของเหยี่ยวนกเขา 2 ชนิด คือเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน (ชื่อภาษาอังกฤษ Chinese Sparrowhawk ชื่อวิทยาศาสตร์ Accipiter soloensis) และเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น (ชื่อภาษอังกฤษ Japanese Sparrowhawk ชื่อวิทยาศาสตร์ Accipiter gularis)เข้ามาช่วยศึกษาเส้นทางของเหยี่ยวและนกอพยพ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่บริเวณเขาดินสอ ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร

นายแอนดรูว์ กล่าวต่อว่า ทีมวิจัยได้ทำการจับเหยี่ยวนกเขาที่อพยพผ่านบริเวณเขาดินสอ ระหว่างเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม (ซึ่งเป็นช่วงที่มีเหยี่ยวอพยพผ่านเขาดินสอมากที่สุดของปี) ในปีพ.ศ. 2559 และ 2560 โดยการใช้ตาข่ายแบบพรางตาเพื่อทำการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 4% ของน้ำหนักตัวของเหยี่ยว โดยติดที่ตัวเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน 4 ตัว และเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น 4 ตัว ในลักษณะสะพายหลัง ซึ่งทุกขั้นตอนดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับเหยี่ยว

“จากการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมให้กับเหยี่ยวนกเขาทั้ง 8 ตัวทำให้เราทราบว่า เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน ก็จะอพยพลงใต้ไปยังบริเวณเกาะสุมาตรา ฝั่งตะวันออกของเกาะ Nusa Tenggara และ ประเทศติมอร์-เลสเต ซึ่งจะใช้เป็นพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาว (wintering grounds) โดยจะใช้เวลาบริเวณนี้ประมาณ 70-80 วัน และเมื่อถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม เหยี่ยวจะอพยพกลับไปยังพื้นที่ผสมพันธุ์ทางตอนใต้ของจีน นอกจากนี้ข้อมูลจากเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน 4 ตัวที่ทีมวิจัยติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณฯ มีเพียง 2 ตัวเท่านั้นที่สามารถจับสัญญาณการอพยพผ่านเขาดินสอได้อีกครั้งในปี พ.ศ. 2561 ทำให้รู้เส้นทางการอพยพที่สมบูรณ์ของเหยี่ยวชนิดนี้ ซึ่งใช้ระยะทางในการอพยพทั้งสิ้น 14,532 กม. (ซึ่งมากกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของโลก) และ 9,710 กม.

ในส่วนของเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น นั้น ทีมวิจัยสามารถติดตามสัญญาณไปถึงพื้นที่ของเกาะสุมาตรา และบอร์เนียว ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาวและใช้เวลาบริเวณนี้ประมาณ 130-170 วันก่อนที่จะอพยพกลับขึ้นทางเหนือ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ทีมวิจัยสามารถรับสัญญาณจากเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นได้เพียง 1 ตัว ในช่วงอพยพกลับเท่านั้น โดยเหยี่ยวตัวนี้เดินทางออกจากพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาวบนเกาะ Bangka ประเทศอินโดนีเซีย ไปยังพื้นที่ผสมพันธุ์ในเขตอามูร์ (Amur) ทางตะวันออกของประเทศรัสเซีย ก่อนที่สัญญาณจะขาดหายไป

ทำให้สรุปรวมระยะทางอพยพได้ทั้งสิ้น 7,699 กม. ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นประมาณ 50 วัน นอกจากนั้นแล้วทำให้ทราบชพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาวหรือจุดหยุดพักที่สำคัญของเหยี่ยวทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นพื้นที่ที่มีมนุษย์เข้ามาใช้ประโยชน์และเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าดั้งเดิมให้กลายเป็นพื้นที่ทางการเกษตรอีกด้วย”

นายชูเกียรติ นวลศรี ประธานมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ กล่าวว่า ด้วยบริเวณเขาดินสอ จ.ชุมพร มีพื้นที่ป่าโดยรอบกว่า 2,000 ไร่ ที่ยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่มากจึงเป็นพื้นที่ดูเหยี่ยวที่ดีที่สุดติดอันดับ 1ใน 5 ของโลก
ดังนั้นตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมจะเริ่มพบเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นอพยพ ตามด้วยเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนและเหยี่ยวผึ้ง ซึ่งจะมีจำนวนหนาแน่นมากขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ถึงสัปดาห์แรกของต้นเดือนตุลาคม

นอกจากนี้ยังพบเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำอพยพผ่านบริเวณนี้จำนวนหลายหมื่นตัวต่อวันในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม(ช่วงวันปิยะมหาราช) และสามารถเห็นได้มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้บริเวณพื้นที่เขาดินสอยังพบกลุ่มเหยี่ยวนกเขามากที่สุดในโลกจำนวน 6 ชนิดด้วย โดยนักท่องเที่ยวสามารถพบเหยี่ยวได้ในระยะใกล้ชิดไม่เกิน 10-15 เมตร และมีสายพันธุ์เหยี่ยวที่พบแล้วจำนวน 38 สายพันธุ์” ดังนั้นการที่มีงานวิจัยสนับสนุนจะนำไปสู่การอนุรักษ์อย่างถูกต้องทั้งในเชิงพื้นที่และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้าน นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ที่จังหวัดชุมพร มีการจัดกิจกรรมชมเหยี่ยวอพยพโดยทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน กระทั่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชมเหยี่ยวอพยพที่มีชื่อเสียงในระดับโลกในปัจจุบัน ซึ่งแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาจากประเทศในเอเชีย สหรัฐอเมริกาและยุโรป ตั้งใจเดินทางมาเที่ยวที่เขาดินสอทุกปี โดยยอมจ่ายเงินไม่ต่ำกว่า 7,000 เหรียญสหรัฐฯ/ต่อคน เพื่อเดินทางมาชมเหยี่ยวอพยพแบบใกล้ชิดเพราะเป็น 1 ใน 5 จุดชมเหยี่ยวอพยพที่ดีที่สุดของโลก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวใกล้กับคอคอดกระ ซึ่งเหยี่ยวอพยพใช้เป็นเส้นทางจุดแวะพักและบินผ่านเพื่อไปยังประเทศเพื่อบ้านทั้งประเทศมาเลเซีย อินโดนิเซียและติมอร์-เลสเต

ทั้งนี้ผลวิจัยดังกล่าวได้ช่วยส่งเสริมให้พื้นที่เขาดินสอเป็นจุดศึกษาวิจัยและจุดชมเหยี่ยวอพยพที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียและของโลก ทำให้ผู้คนตระหนักและสนใจถึงความสำคัญของเหยี่ยวรวมถึงภัยคุกคามที่เกิดกับเหยี่ยว และช่วยสร้างโอกาสให้พื้นที่เขาดินสอ ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เป็นจุดท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของประเทศไทยและในระดับโลกได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ขอเชิญชวนผู้สนใจดูเหยี่ยวอพยพ ณ เขาดินสอ ต.บางสน อ.ปะทิว จังหวัดชุมพร ตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน