ในยุคที่คนไทยยังไม่มีปัจจัยที่ 5 อย่าง “โทรศัพท์มือถือ” เครื่องมือสำหรับการติดต่อสื่อสารในเวลานั้นคือโทรศัพท์พื้นฐานในบ้านหรือตามสำนักงาน ส่วนใหญ่ก็จำกัดพื้นที่ติดตั้งเฉพาะย่านที่อยู่ใกล้เขตตัวเมืองที่มีชุมสายของ ท.ศ.ท. หลายคนต้องไปยืนเข้าคิวแถวยาวเหยียดเพื่อรอใช้บริการตามตู้โทรศัพท์สาธารณะ

ประเทศไทยภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรี “พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ” เจ้าของนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” มองเห็นว่าการขาดแคลนของโครงข่ายโทรศัพท์คืออุปสรรคสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโตตลอดจนการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าของไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางรากฐานด้านโทรคมนาคมเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ และจะต้องมีการขยายจำนวนหมายเลขโทรศัพท์เพื่อรองรับการเจริญเติบโตในอนาคต

ด้วยข้อจำกัดในการลงทุนสร้างโครงข่ายโทรศัพท์ของหน่วยงานรัฐ จึงเป็นที่มาของการเปิดประตูให้บริษัทเอกชนในไทยเข้ามาร่วมลงทุนขยายเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐาน ภายใต้โครงการ “การลงทุนขยายโครงข่ายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย” แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล จึงไม่มีบริษัทเอกชนรายใดเสนอตัวเข้าร่วม

เวลานั้น “เฉลียว สุวรรณกิตติ” มือขวาของ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานและผู้ก่อตั้งธุรกิจเกษตรยักษ์ใหญ่ “ซีพี” เป็นผู้ที่จุดประกายให้กับเจ้าสัวซีพีถึงความน่าสนใจของธุรกิจการลงทุนในด้านโทรศัพท์พื้นฐาน แต่ในช่วงแรกๆ ธนินท์เลือกที่จะปฏิเสธเพราะมองว่าไม่ใช่ธุรกิจสายถนัดของซีพี ที่สำคัญซีพีเป็นเอกชนที่วางนโยบายการเลือกลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและการเมืองมาตลอด

แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วน มองเห็นถึงความสำคัญของโครงการดังกล่าวว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในระยะยาว สอดคล้องกับหลักการ 3 ประโยชน์ที่ธนินท์ที่ยึดถือในการตัดสินใจทำโครงการใดๆ คือ “ประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์ และบริษัทได้ประโยชน์”

และยิ่งเมื่อได้เปรียบเทียบกับประเทศในแถบเอเซียอย่างไต้หวันและเกาหลี ที่ประชาชนจำนวน 3 คนจะมีโทรศัพท์ใช้ 1 เลขหมาย หรือแม้แต่มาเลเซียประชาชน 10 คนมีโทรศัพท์ใช้ 1 เลขหมาย ขณะที่คนไทย 33 คนมีโทรศัพท์ใช้เพียง 1 เลขหมาย จึงทำให้เจ้าสัวซีพีตัดสินใจที่จะลงทุนสร้างโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน 3 ล้านเลขหมายในที่สุด แม้ว่าจะไม่มีความรู้และประสบการณ์ใดๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีมาก่อน

ถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งบนเส้นทางโทรคมคมนาคมของ “ซีพี” เป็นทั้งจุดเปลี่ยนของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ในประเทศไทยนับจากนั้นเป็นต้นมา

หลังจากที่ซีพีได้เชิญบริษัท บริติช เทเลคอม ยักษ์โทรคมนาคมแห่งเมืองผู้ดี เข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี และเป็นผู้ถือหุ้นร่วมในการทำโครงการนี้ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2533 ทางซีพีก็ได้ยื่นเสนอขอเป็นผู้ดำเนินการโครงการขยายโครงข่ายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายให้คณะกรรมการพิจารณา ผลปรากฏว่า ข้อเสนอของซีพีคือข้อเสนอที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านเทคนิค อัตราส่วนแบ่งรายได้ และการบริหารโครงการ

อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังเกรงว่าจะเกิดการผูกขาดของระบบ จึงเพิ่มข้อเสนอให้ซีพีต้องใช้ผู้ผลิตอุปกรณ์ที่เป็นซัพพลายเออร์มากกว่า 1 ราย ซึ่งทางซีพีก็ยินดีและได้เลือกใช้ซัพพลายเออร์มากถึง 3 ราย พร้อมกับข้อสรุปว่า ทางซีพีจะได้รับสัมปทานการดำเนินงานเป็นระยะเวลา 25 ปี และได้เป็นผู้ลงทุนขยายโครงข่าย 3 ล้านเลขหมายแต่เพียงผู้เดียว

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 ซีพีได้จัดตั้งบริษัทจดทะเบียนชื่อว่า “บริษัท ซี พี เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด” หรือเรียกย่อๆ ว่า “ซีพี เทเลคอม” สำหรับการร่วมลงทุนโครงการขยายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายนี้โดยเฉพาะ แต่ในช่วงนั้นได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การดูแลของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ดังนั้น โครงการ “การลงทุนขยายโครงข่ายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย” ซึ่งยังไม่ได้ลงนามเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ จึงจำเป็นต้องหารือกันในรายละเอียดอีกรอบ

ในการเจรจากับรัฐบาลชุดใหม่ ซีพีได้ขอสละสิทธิ์ในการดำเนินโครงการในเขตภูมิภาค โดยเสนอทำโครงการเฉพาะในเขตนครหลวงเท่านั้น รัฐบาลได้เห็นชอบตามข้อตกลงของซีพี และได้จัดให้มีการเซ็นสัญญา ณ ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 2 สิงหาคม 2534 โดยกำหนดให้บริษัท เทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ “ทีเอ” ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากซีพี เทเลคอม จะต้องดำเนินการติดตั้งโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายให้แล้วเสร็จภายในปี 2539

นับเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของทางซีพีว่า จะสามารถดำเนินงานได้ตามสัญญา และทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จหรือไม่

ปฏิวัติรูปแบบบริการ ดึงเคเบิลใยแก้วมาใช้ในไทยรายแรก

ทันทีที่เริ่มต้นเดินหน้าโครงการ เป้าหมายแรกก็คือ การทำให้หมายเลขโทรศัพท์ไปสู่มือของผู้ใช้บริการให้เร็วที่สุด จากเดิมที่ผู้ขอเลขหมายต้องต่อคิว รอคอยนานแรมปี กลับกลายเป็นการขอแล้วติดตั้งภายในหนึ่งสัปดาห์ ด้วยราคาที่เป็นธรรม ที่สำคัญไม่ต้องใช้เส้นสาย หรือจ่ายใต้โต๊ะ

ด้วยวิสัยทัศน์ที่ดีเยี่ยม ทีเอได้คัดเลือกพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบโทรคมนาคมระดับชั้นนำจาก 4 ประเทศเข้ามาร่วมทุนด้วย ประกอบด้วย บริติช เทเลคอม จากอังกฤษ, ซีเมนต์ จากเยอรมัน, เอทีแอนด์ที จากสหรัฐอเมริกา และเอ็นอีซี จากญี่ปุ่น ต่อมาภายหลัง บริติช เทเลคอม ได้สละสิทธิ์การร่วมทุน ขอเป็นเพียงแค่ที่ปรึกษาด้านเทคนิค ทีเอจึงได้ทาบทามบริษัท ไนเน็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์บริหารโครงข่ายโทรศัพท์ในนิวยอร์กและบอสตัน ที่มีจำนวน 16 ล้านเลขหมาย และมีผู้ใช้บริการกว่า 30 ล้านคน เข้ามาร่วมทุนแทน

จากการวางแผนและปรึกษาร่วมกับพันธมิตร ทางทีเอตัดสินใจใช้การวางโครงข่ายแบบกระจายศูนย์ ที่ไม่ต้องพึ่งพาชุมสายหลัก สามารถแตกลูกข่ายย่อยเป็นชุมสายย่อย เพื่อเชื่อมต่อไปยังบ้านหรือสำนักงานตามที่ต่างๆ ผ่านตู้ CAB ที่ติดตั้งริมถนน เป็นวิธีการที่สะดวก ทำได้ง่าย และทำให้การวางโครงข่ายส่งตรงถึงมือผู้ใช้บริการได้รวดเร็วมากขึ้น

ส่วนเทคโนโลยีที่ใช้ในการเชื่อมต่อโยง และส่งต่อข้อมูลในยุคนั้น มีทั้งเป็นเส้นลวดทองแดง และเคเบิลใยแก้ว แม้ในข้อกำหนดที่ระบุไว้ใน TOR คือ สามารถใช้ลวดทองแดงได้ แต่ทีเอเลือกจะใช้เคเบิลใยแก้วนำแสง เทคโนโลยีล่าสุดที่สามารถส่งข้อมูลได้มหาศาล ทั้งภาพ และเสียง และมีช่องสัญญาณที่ใหญ่ เนื่องจากมองว่าเครือข่ายเคเบิลใยแก้วนั้นเป็นเครือข่ายมาตรฐานระดับโลก และเป็นโครงข่ายที่สามารถรองรับความต้องการในอนาคตได้ นอกจากนี้ทางทีเอ ยังได้ใช้อุปกรณ์การวางโครงข่าย ที่มาจากซัพลายเออร์ระดับโลกอย่างซีเมนต์ เอทีแอนด์ที และเอ็นอีซี ทำให้ระบบโทรคมมาคมของไทยนั้นได้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดมาใช้งาน

ในปีต่อๆ มา ทีเอยังได้ดำเนินการจัดโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จนสามารถส่งมอบเลขหมายให้กับองค์การโทรศัพท์ได้สำเร็จล่วงหน้าก่อนกำหนดเวลาทุกครั้ง รวมเบ็ดเสร็จเครือซีพีใช้เงินลงทุนไปกับธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐานไปกว่าแสนล้านบาท

จนเข้าสู่ยุคที่ธุรกิจโทรศัพท์โครงสร้างพื้นฐานอยู่ในช่วงขาลง เพราะโทรศัพท์มือถือที่เข้ามาเมืองไทยได้พักใหญ่เริ่มมีราคาถูก และมีผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาลงทุนในธุรกิจโทรศัพท์มือถือจำนวน 2 ราย ก่อนที่ซีพีจะตัดสินใจลงทุนเป็นรายที่ 3

อย่างไรก็ตาม จากสิ่งที่ซีพีลงทุนในธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐาน ก็เป็นการกระตุ้นให้การบริการประชาชนในเรื่องการขอจดทะเบียนเลขหมายโทรศัพท์นั้น สามารถทำได้ง่าย สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ช่วยร่นระยะเวลาการขอเบอร์โทรศัพท์จาก 1 ปีเหลือเพียง 1 สัปดาห์ ยิ่งไปกว่านั้นยังกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมใหม่ๆ ตามมาอีกด้วย เช่น ทำให้เกิดธุรกิจโทรศัพท์มือถือ มีการแข่งขันลดค่าบริการ และราคาเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ก็ถูกลง

กำเนิดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

จากประสบการณ์และความพร้อมในด้านโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน ที่ถูกวางรากฐานไว้อย่างดีจากการวางโครงข่ายด้วยเคเบิลใยแก้ว ทำให้ในปี 2542 ทีเอสามารถเปิดให้บริการโครงข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง ทั้ง ADSL และ Cable Modem ถือเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเจ้าแรกๆ ในไทย ขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานที่เป็นแบบ Dial-up ผ่านโมเด็มที่ความเร็วต่ำ และไม่มีความเสถียรในการส่งข้อมูล บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบ ADSL จึงถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีราคาค่าบริการค่อนข้างสูง

แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของเจ้าสัวธนินท์ ทำให้ทีเอสามารถรองรับการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้เป็นเจ้าแรกๆ โดยไม่ต้องลงทุนเปลี่ยนโครงข่ายโทรศัพท์ สามารถเปิดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในราคาที่สมเหตุสมผล ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดการตื่นตัวของบรรดา ISP และมีการแข่งขันสร้างโครงข่ายการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงค่ายอื่นๆ ในเวลาต่อมา

การลงทุนโครงการวางเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐานจากยุคเริ่มต้นภายใต้วิสัยทัศน์ของธนินท์ จึงไม่เพียงสร้างความเปลี่ยนแปลงในการดำเนินธุรกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น ตั้งแต่การปฏิรูปการสื่อสาร และสร้างคุณูปการให้กับกิจการโทรคมนาคมของประเทศ และการทำธุรกิจโทรคมนาคมของทีเอนั้น กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของเครือซีพี ภายใต้การบริหารของ True Corporation หรือ “บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น” ในปัจจุบันนั่นเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน