เปรียบความเชี่ยวชาญของที่ปรึกษาระดับโลก กับโมเดลการเงิน ประมูลสนามบินอู่ตะเภา

กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อตัวเลขที่หลุดออกมาตามสื่อว่าเป็นไปได้หรือ กับการเสนอราคาที่สูงกว่ารายอื่นที่เข้าร่วมประมูลถีง 3 เท่า ทำให้เกิดคำถามเรื่องความเสี่ยงของโครงการ จนต้องมาเจาะดูว่ากุนซือที่ปรึกษาเป็นใครมาจากไหน ทำไมคำนวณราคาได้ต่างกันถึง 3 เท่า ใช้สูตรเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?

ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เปิดเผยตามสื่อ คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้เปิดเอกสารข้อเสนอซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านราคา) ของกลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ผลการเปิดซองข้อเสนอที่ 3 พบว่าเอกชนที่เสนอราคาสูงสุดยังคงเป็นกลุ่มบีบีเอส

ซึ่งมีการเสนอราคาให้ผลตอบแทนรัฐสูงถึง 3.05 แสนล้านบาท สูงกว่าอีก 2 กลุ่มถึง 3 เท่า ที่เสนอใกล้เคียงกันที่ 1 แสนล้านบาท ทำให้ต้องย้อนไปดูกุนซือที่ปรึกษาแต่ละรายว่าเป็นใครมาจากไหน ตัวเลขที่เสนอให้กับภาครัฐในซองการเงินแต่ละรายใครเป็นที่ปรึกษา เก่งแค่ไหน มีที่มาอย่างไร?

ในขณะที่กลุ่มหนึ่งเสนอตัวเลขสูงกว่าตัวเลขที่ที่ปรึกษาภาครัฐคำนวณ ถึง 5 เท่า สูงกว่าผู้ประมูลอีก 2 ราย ถีง 300% นั้น น่าสนใจว่า แต่ละรายมีที่ปรึกษาเป็นใคร

เริ่มจากทหารเรือ (ทร.) หากย้อนไปตั้งแต่การเตรียมการคัดเลือกเอกชน (RFP) ทำให้ ทร. ต้องว่าจ้างที่ปรึกษา โดยบริษัท AECOM ประเทศสหรัฐฯ และบริษัท KPMG ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับโลกที่ ทร. ได้ว่าจ้างให้มาเป็นที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวางแนวทางความเป็นไปได้ทางการเงินในการเสนอคณะกรรมการคัดเลือกผู้ร่วมทุนของกองทัพเรือ เพื่อใช้พิจารณาออกเอกสารคัดเลือกเอกชน (RFP)

และเสนอตัวเลขส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐ ซึ่งที่ปรึกษาทั้ง 2 รายนี้ เป็นที่ปรึกษาระดับโลก ได้ให้ความเห็นว่า ส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำเป็นมูลค่าปัจจุบันให้กับรัฐอย่างน้อยประมาณ 59,000 ล้านบาท และกองทัพเรือก็ได้จ้างบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สฯ (PWC) ซึ่งถือเป็นที่ปรึกษาระดับโลกอีกรายหนึ่งมาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นเช่นเดียวกัน

โดย AECOM เป็นผู้ให้บริการสนับสนุนด้านการจัดการและเทคนิคระดับมืออาชีพในตลาดอันหลากหลาย เช่น คมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อม พลังงาน น้ำ และการบริหาร บริษัทมีพนักงานราว 52,000 คนทั่วโลก นอกจากนี้คณะกรมมการอู่ตะเภายังใช้ที่ปรึกษา KPMG ในการช่วยคำนวณตัวเลขที่ได้มา 59,000 ล้านบาท โดย KPMG เป็นหนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีสี่แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกควบคู่กับ ดีลอยต์ทูชโทมัตสุ ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ และ เอินส์ท แอนด์ ยัง มีฐานประกอบการอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีสำนักงานตั้งอยู่ในกว่า 155 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานประมาณ 162,000 คน

ซึ่งทั้ง AECOM และ KPMG ศึกษาตัวเลขที่เหมาะสมให้กับกรรมการใช้อ้างอิงอยู่ที่ 59,000 ล้านบาท โดยมีบริษัทที่ปรึกษาชื่อ PWC PricewaterhouseCoopers เป็นหนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีสี่แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก มาช่วยตรวจสอบอีกด้วย ทำให้ตัวเลข 59,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขขั้นต่ำที่ภาครัฐประสงค์จะได้รับ มีการคำนวณและยืนยันจากที่ปรึกษาระดับโลกถึง 3 ราย แต่คำถามที่สำคัญคือ ทำไมแตกต่างจากกลุ่มที่เสนอราคาสูงสุดที่ 3.05 แสนล้านบาท ราวฟ้ากับดิน มีอะไรผิดพลาดจากการคำนวณหรือไม่?

ผู้เข้าร่วมประมูลอีก 2 ราย ใช้ใครเป็นที่ปรึกษา?? โดยกลุ่มหนึ่งว่าจ้าง บริษัท จาค็อบส์ (JACOB) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาข้ามชาติที่ได้รับการยอมรับ หากดูโครงการระดับโลกมากมายล้วนผ่านมือจาคอปส์ โดยเฉพาะโครงการสร้างและการขยายสนามบินในหลายประเทศ ซึ่งเสนอราคาส่วนแบ่งรัฐในมูลค่าราว 1 แสนล้านบาท

ในขณะที่อีกรายมีบริษัท GMR Airport Limited (บริษัท GMR) จากอินเดีย ซึ่งก็ถือเป็นผู้มีประสบการณ์นอกจากการบริหารสนามบินแล้ว ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ เช่น สนามบิน คมนาคมขนส่ง พลังงาน จากประเทศอินเดีย ซึ่งถือเป็นอีกรายหนึ่งเข้าร่วมศึกษาโครงการ ก็เสนอส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐเป็นมูลค่าปัจจุบันประมาณ 1 แสนล้านบาท เช่นเดียวกัน

ซึ่งน่าแปลกใจว่า ตัวเลขจากที่ปรึกษาทุกรายนั้นเกาะกลุ่มกัน แต่เหตุใด ผู้เสนอราคาสูงสุด เสนอราคาสูงกว่าราคาที่ที่ปรึกษาระดับโลก ที่ภาครัฐหามา ถึง 5 เท่า

บทสรุปของเรื่องนี้ คงเป็นข้อสังเกตที่ไม่ควรปล่อยผ่าน เพราะหากทำโครงการไม่ได้จริงคือความเสี่ยง จิ้งจกทัก ยังต้องฟัง แต่หากที่ปรึกษาระดับโลกถึง 5 ราย ทักว่าตัวเลขแตกต่างจากที่ปรึกษาระดับโลกคำนวณ 300-500% นั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วใครจะกล้ารับรอง หากโครงการทำไม่ได้จริง ??

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน