นักกฎหมายชี้ การศึกษาภาคบังคับขั้นพื้นฐาน ต้อง 15 ปี ไม่ใช่ 12 ปี หลังรัฐเข้าใจผิด ทำเด็กเสียสิทธิ

วันที่ 4 มี.ค. นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เปิดเผยว่า ปัจจุบันหน่วยงานด้านการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องการศึกษาภาคบังคับขั้นพื้นฐาน โดยอ้างรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้จัดการศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งทำให้เด็กถูกละเมิดสิทธิและมีผลกระทบต่อการพัฒนาการเด็ก

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็ยืนยันในการจัดการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ต่อมา วันที่ 13 มกราคม 2552 รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย 15 ปี โดยนับจากชั้นอนุบาล ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 ปกติเด็กจะจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เมื่ออายุ 18 ปี ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่ให้เด็กทุกคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ได้รับการอบรมสั่งสอนและการพัฒนา โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ

แต่ในร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 ซึ่งมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์เป็นประธานยกร่าง กลับมีมติลดการศึกษาขั้นพื้นฐานลงเหลือ เพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการถดถอยหลังเรื่องการจัดการศึกษา จนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 28/2559 ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาล ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

แม้รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ในปีพ.ศ. 2560 ในมาตรา 54 จะกำหนดการศึกษาภาคบังคับเป็นเวลา 12 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ที่นับจากก่อนวัยเรียนคือชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่ในมาตรา 279 ก็ให้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีผลใช้บังคับต่อไปโดยชอบ จนกว่าจะมีการยกเลิกหรือแก้ไขโดยพระราชบัญญัติ ซึ่งจนปัจจุบันยังไม่มีพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งนี้

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานคือการศึกษาระดับต่ำสุดที่รัฐบังคับให้เด็กทุกคนในประเทศต้องได้รับ ซึ่งปัจจุบันคือไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า แต่บางส่วนในหน่วยงานทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย

แม้แต่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เข้าใจคลาดเคลื่อนจึงสนับสนุนการศึกษาเพียงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งส่งผลทำให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดโอกาสในเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งเข้าสู่แรงงานเด็ก รวมถึงอาจทำให้เด็กเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์

(ภาพปก-แฟ้มภาพ)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน