เปิดตัวแคมเปญ ‘มื้อนี้พี่เลี้ยง’ ระดมช่วย นักเรียนยากจนพิเศษ นับแสนคน

วันที่ 13 ก.ย. ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ ภาคเอกชนชั้นนำ อาทิ แกร็บ ประเทศไทย เกรฮาวด์ คาเฟ่ เครือบริษัทแสงทองสหฟาร์มและอัครา กรุ๊ป จำกัด บริษัท ซีวา แอนิมัล เฮลธ์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เงินติดล้อ จำกัด เปิดตัวแคมเปญ “มื้อนี้พี่เลี้ยง” หนึ่งในโครงการระดมความร่วมมือพัฒนาระบบอาหารเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ให้แก่เด็กนักเรียนยากจนพิเศษ

นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบไปทุกด้าน นอกเหนือจากทุนเสมอภาคที่กสศ.ได้จัดสรรให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษกว่า 8 แสนคนๆละ 2,000 บาท ในภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 เพื่อบรรเทาอุปสรรคภาระค่าใช้จ่ายในการมาเรียน ซึ่งกสศ. ได้จัดสรรไปถึงเด็กๆแล้วนั้น

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ล่าสุด กสศ.ยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนชั้นนำ เปิดตัวแคมเปญ “มื้อนี้พี่เลี้ยง” หนึ่งในโครงการระดมความร่วมมือพัฒนาระบบอาหารเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ให้แก่เด็กนักเรียนยากจนพิเศษ เพื่อเร่งแก้วิกฤตขาดสารอาหารให้กับเด็กนักเรียนยากจนพิเศษราว 1 แสนคน โดยสาเหตุมาจากความยากจนและผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ปัญหานี้เป็นปัญหาสะสมจากความขาดแคลนของครอบครัว ภาวะความเร่งรีบในการประกอบอาชีพที่ทำให้ผู้ปกครองไม่มีเวลาเตรียมอาหารที่มีโภชนาการที่ดีให้เด็ก รวมถึงการขาดความรู้ด้านโภชนาการ

“กสศ.ได้ใช้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือระบบ iSEE ติดตามอัตราการเจริญเติบโตของนักเรียนยากจนพิเศษระดับชั้นประถมศึกษา–มัธยมศึกษาตอนต้น ที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข (Conditional Cash-Transfer: CCT) หรือทุนเสมอภาค ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562

โดยเปรียบเทียบน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์แสดงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 5-18 ปี ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษที่มีภาวะขาดสารอาหาร ราวหนึ่งแสนคน โดยเป็นนักเรียนยากจนพิเศษที่มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์อายุ (ผอม) จำนวน 46,053 คน (6.6 % ของนักเรียนยากจนพิเศษ) และน้ำหนักค่อนข้างน้อยจำนวน 54,108 คน (7.8 % ของนักเรียนยากจนพิเศษ) โดยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนในระดับประถมศึกษา ราว 73% ” นายสุภกร กล่าว

นายสุภกร กล่าวว่า นักเรียนยากจนพิเศษที่มีภาวะขาดสารอาหาร ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และพบมากที่สุดในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส นครราชสีมา เชียงใหม่ บุรีรัมย์ และขอนแก่น เด็กกลุ่มนี้ประสบภาวะขาดสารอาหารเป็นระยะเวลานาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความยากไร้ขัดสน การขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโภชนาการของครอบครัว และความเร่งรีบในการประกอบอาชีพส่งผลให้ผู้ปกครองไม่สามารถจัดสรรอาหารเช้าที่มีคุณค่าให้กับเด็กๆ ได้ ทำให้กระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กทั้งทางร่างกายและสติปัญญา รวมถึงประสิทธิภาพในการเรียนรู้ลดลง

ซึ่งหนึ่งในภารกิจตามกฎหมายของกสศ. คือการเชื่อมโยงความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยที่ปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารก็เป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาด้วย ทางกสศ.ยังได้ประสานข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุขซึ่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารของกสศ.และดูแลเรื่องนี้โดยตรง เพื่อตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัดและหาแนวทางช่วยเหลืออย่างยั่งยืนต่อไป

ผู้จัดการกสศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า แคมเปญมื้อนี้พี่เลี้ยง เป็นหนึ่งในโครงการระดมความร่วมมือพัฒนาระบบอาหารเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ให้แก่เด็กนักเรียนยากจนพิเศษของกสศ.ซึ่งมีทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน เข้ามาร่วมสนับสนุน

ทั้งในรูปแบบแพลตฟอร์มการรณรงค์รับบริจาคออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการสนับสนุนทรัพยากรในรูปของเงินบริจาคและอาหาร ให้แก่กลุ่มโรงเรียนที่มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ 100% ซึ่งจากระบบ isee รายงานว่ามีอยู่ราว 500 โรง ซึ่งโครงการนี้จะมุ่งไปยังโรงเรียนที่มีนักเรียนภาวะขาดสารอาหารจำนวนมาก

เพื่อให้เด็กๆได้รับประทานอาหารเช้าที่มีคุณค่าตามโภชนาการตลอดปีการศึกษา 2563 เบื้องต้นจะส่งความช่วยเหลือไปยังนักเรียน 1,000 คนแรกที่อยู่ในภาวะวิกฤตก่อนขยายผลต่อเนื่อง นอกจากนี้กสศ. จะมีการสำรวจเชิงลึกเกี่ยวกับสภาพปัญหาที่แท้จริงของทั้ง 500 โรงเรียนดังกล่าว ซึ่งอาจมีมิติปัญหาด้านอื่นๆของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพื่อช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดต่อไป

รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการขจัดปัญหาขาดสารอาหาร ภาวะโภชนาการพร่องลด น้อยลง แต่ยังพบเด็กน้ำหนักน้อยและเตี้ยในเด็กยากจนด้อยโอกาส คาดว่ามีเด็กที่มีปัญหาเรื่องขาดสารอาหารจำนวนหลายแสนคน หากไม่ทำอะไรจะเป็นเด็กมีปัญหาไม่มีคุณภาพ และผลการศึกษาระบุว่า เด็กที่ขาดสารอาหารจะเรียนไม่จบ

จากข้อมูล พบว่าเด็กที่มีภาวะเตี้ยน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยภาวะขาดสารอาหารเด็กกลุ่มที่ยากจนมีความเสี่ยงมากเพราะช่วยเหลือตัวเองได้ยาก สังคมและชุมชนต้องมีส่วนเข้าไปช่วยเหลือไม่เช่นนั้นจะไม่มีทางแก้ไขปัญหาได้

“เด็กต้องการสารอาหารที่มีคุณค่าตามโภชนาการเพื่อการเจริญเติบโตด้านร่างกายและสติปัญญา เช่น ธาตุเหล็ก ไอโอดีน ถ้าเด็กได้ธาตุเหล็กไม่เพียงพอตัวจะซีด เป็นโรคโลหิตจาง ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ สมาธิและความจำไม่ดี การเรียนรู้มีปัญหา ไม่มีประสิทธิภาพในการคิดวิเคราะห์

นอกจากนี้ยังเจ็บป่วย ขาดเรียนบ่อย เรียนไม่รู้เรื่อง ผลการเรียนไม่ดี ถ้าอดอาหารนานเหมือนกินตัวเองไปเรื่อยๆ ร่างกายไม่เจริญเติบโต ดังนั้นหากขาดสารอาหารนานๆจะมีผลทำให้ร่างกายผอมและเตี้ย” รศ.พญ.ลัดดา กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน