เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่อาคารเคมี 2 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ จัดแถลงข่าวการค้นพบ “แมงมุมฝาปิดโบราณชนิดใหม่ของโลกในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ รศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ต้องการเผยแพร่ผลงานวิจัยของภาควิชาชีววิทยาในการค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ และผลงานชิ้นนี้มีความโดดเด่นที่จะถูกนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดงานวิจัย และประยุกต์ใช้กับด้านอุตสาหกรรม และการแพทย์ในอนาคต อีกทั้งเป็นตัวจุดประกายก่อให้เกิดความร่วมมือในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติมากขึ้นด้วย

ผศ.ดร.นพดล กิตนะ หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะวิทยาศาสตร์ ค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทยแล้ว 51 ชนิด เป็นการบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร แต่เราไม่อาจนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันที ต้องผ่านศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องราวของแมงมุมมีความน่าตื่นเต้น โดยเฉพาะเส้นใยที่มีความเหนียวแน่นมาก จึงน่าจะทำการศึกษาวิจัยต่อและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในวงการอุตสาหกรรมอย่างเสื้อเกราะกันกระสุนได้

นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็นความหวังและโอกาสในการฟื้นฟูและอนุรักษ์สัตว์ป่า ทั้งในระดับประเทศไทยและนานาชาติ เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ และสัตว์ป่า ซึ่งในอนาคตกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช มีแนวคิดที่จะประกาศพื้นที่บริเวณแม่วงก์ เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติด้วย อย่างไรก็ตามการค้นพบแมงมุมฝาปิดโบราณ ทำให้ได้เห็นถึงการศึกษาวิจัยที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้เจอสัตว์ชนิดใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ และโลก และเป็นจุดเริ่มต้นในการฟื้นฟู และดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้ดี โดยต้องมีการบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ เพื่อทำให้ป่าไม้ และสัตว์ป่ามีความสมบูรณ์อย่างยั่งยืน

นายวรัตถ์ ศิวายพราหมณ์ นักศึกษาปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผู้วิจัยหลักในทีมศึกษาและค้นพบแมงมุมฝาปิดโบราณแม่วงก์ (Liphostius maewongensis Sivayyapram)กล่าวว่า แมงมุมถือเป็นสัตว์ผู้ล่า (Predator) ที่มีความหลากหลายสูงที่สุดในระบบนิเวศน์ ในปัจจุบันมีการค้นพบแล้วมากกว่า 46,000ชนิด และมีการคาดการณ์เอาไว้ว่าอาจมีจำนวนมากถึง 200,000 ชนิด ซึ่งในจำนวนนี้ไม่มีแมงมุมกลุ่มใดเลยที่จะหาได้ยากในธรรมชาติและเก่าแก่ไปกว่ากลุ่มของแมงมุมฝาปิดโบราณ (Liphistiidae,Mesthelae) โดยแมงมุมฝาปิดโบราณนั้น เป็นหนึ่งในซากดึกดำบรรพ์มีชีวิต เนื่องจากยังคงมีลักษณะหลายประการที่เหมือนกับบรรพบุรุษที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อหลายล้านปีก่อน เช่น การที่แผ่นปิดท้องยังไม่รวมเป็นแผ่นเดียว และการที่มีอวัยวะสร้างใย อยู่กลางลำตัวซึ่งลักษณะทั้ง 2ประการนี้ไม่พบในแมงมุมกลุ่มอื่นๆ จากหลักฐานด้านบรรพชีวินวิทยาแสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษของแมงมุมฝาปิดโบราณอาจมีการถือกำเนิดตั้งแต่เมื่อประมาณ 300 ล้านปีก่อน

นายวรัตถ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีรายงานการค้นพบแล้ว 96 ชนิด ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อยกว่า 1% เมื่อเทียบกับจำนวนแมงมุมทั้งหมด โดยส่วนใหญ่จะกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศญี่ปุ่น และด้านตะวันออกของประเทศจีนและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยแมงมุมฝาเปิดโปบราณแม่วงก์ ถือได้ว่าเป็นแมงมุมฝาปิดโบราณชนิดที่ 97 ของโลกและเป็นชนิดที่ 33 ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย ซึ่งแมงมุมฝาปิดโบราณชนิดนี้สามารถค้นพบได้เฉพาะในพื้นที่ของอุทยานแม่วงก์ที่ระดับความสูงมากกว่า 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป ซึ่งพบไม่เกิน 200 ตัว”นายวรัตถ์ กล่าว และว่า แมงมุมฝาปิดโบราณแม่วงก์จะทำรังอยู่พื้นที่ที่มีลักษณะเป็นหน้าผาดินที่มีความชันสูง โดยขุดดินลึกลงไปประมาณ 10-20 เซนติเมตร แล้วจะชักใยบุผนังโพรงด้านในเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต นอกจากนี้ที่ปากทางเข้าออกจะมีการสร้างฝาปิดเพื่ออำพรางทางเข้าออก และมีการสร้างเส้นใยรัศมีเพื่อรับแรงสั้นสะเทือนเมื่อมีเหยื่อมาสัมผัส ที่น่าสนใจ คือแมงมุงฝาปิดโบราณแม่วงศ์มีการสร้างรัง 2 รูปแบบที่แตกต่างกัน คือรังรูปแบบท่อตรงที่มีเพียงทางเข้าออกเดียว และรังรูปแบบตัว T ที่มีทางเข้าออก 2 ทาง คาดว่าทางออกที่สร้างขึ้นมาทีหลังไว้สำหรับเป็นทางออกสำรองเพื่อหลบหนี อย่างไรก็ตาม คาดว่าแมงมุมฝาปิดโบราณแม่วงก์ สามารถค้นพบได้ที่อุทยาแห่งขาติแม่งวงก์เพียงอย่างเดียว เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีความจำเพาะต่อแหล่งที่อยู่อย่างมาก เพราะในพื้นที่แม่วงศ์เองถ้าพื้นที่ต่ำกว่า 1000 เมตร ก็ไม่สามารถพบแมงมุมฝาปิดโบราณแม่วงก์ได้

นายวรัตถ์ กล่าวต่อไปว่า แมงมุม ถึงจะเป็นสิ่งมีชีวิตเล็ก แต่เป็นผู้ล่าที่มีจำนวนมาในระบบนิเวศน์ เปรียบเสมือนกลไกในการขับเคลื่อนระบบนิเวศน์ให้ยั่งยืน พื้นที่ใดมีแมงมุมมาก แสดงว่ามีเหยื่อ หรือแมลงที่มากพอ และสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติซึ่งการค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแม่วงก์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากแมงมุมฝาปิดโบราณทุกชนิดจะใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตอยู่ภายในรัง ทำให้สามารถพบแมงมุมกลุ่มนี้ได้เฉพาะพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น

“แมงมุมฝาปิดโบราณแม่วงก์ เหมือนแมงมุมส่วนใหญ่ที่มีการพัฒนาของต่อมสร้างพิษที่บริเวณเขี้ยวแต่อย่างไรก็ตาม พิษของแมงมุมฝาปิดโบราณมีไว้เพื่อจัดการกับแมลงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กที่เป็นเหยื่อของพวกมัน ดังนั้น พิษของแมงมุมกลุ่มนี้จึงไม่ได้เป็นอันตรายกับมนุษย์ สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากการค้นพบแมงมุมดังกล่าวในครั้งนี้ มีทั้งเชิงวิชาการ ที่นักวิจัยจะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมถึงการมีอยู่ เชิงอนุรักษ์เพราะแมงมุมเป็นสัตว์ที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ในป่าแม่วงก์ และเชิงการท่องเที่ยว โดยประเทศเพื่อนบ้านที่มีการค้นพบแมงมุมกลุ่มนี้ ได้นำมาทำเป็นสัญลักษณ์ทางการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวอย่างมาก”นายวรัตถ์ กล่าว

ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ อาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า แนวทางที่จะสามารถอนุรักษ์แมงมุมฝาปิดโบราณแม่วงก์ไม่ให้สูญพันธ์นั้น อาจจะดำเนินการตามแนวทางของประเทศมาเลเซีย ที่ทำให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ และเป็นไฮไลท์ของสถานที่แห่งนั้น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าชม แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการจัดบริเวณในการเดินชม ซึ่งไม่ควรให้เข้าไปสัมผัส หรือจับได้ นอกจากนั้น ต้องมีการศึกษาต่อเนื่องถึงคุณสมบัติของใยแมงมุม เนื่องจากเป็นใยที่สามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้ ดังนั้นในอนาคตคงต้องศึกษาวิจัยถึงสารทางชีววิทยาของใยแมงมุม เพื่อนำมาพัฒนาใช้ในทางอุตสาหกรรม ในการผลิตเสื้อผ้าที่มีความทนทาน หรือ ตัวถังรถยนต์ ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน