“วราวุธ”รมว.ทส.วอนร่วมรักษาประเพณีลอยกระทงด้วยวัสดุจากธรรมชาติ เผยกระทงจากวัสดุธรรมชาติมีมากขึ้น ปริมาณกระทงลดกว่า 339,000 ใบ

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เผยว่า สิ่งหนึ่งที่ตนพยายามผลักดันและขับเคลื่อนมาโดยตลอด คือ การแก้ไขปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ตนถือว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้ถุงพลาสติก กว่า 25,284 ล้านใบ คิดเป็น 228,820 ตัน อันดับประเทศที่มีปัญหาด้านการจัดการขยะพลาสติกในทะเลดีขึ้น จากอันดับที่ 6 เป็นอันดับที่ 10

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

นอกจากนี้ ยังมีการยกเลิกการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มได้ 100% ซึ่งที่ผ่านมา นับว่าพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการจัดการขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อมด้วยดีมาโดยตลอด

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)

นายวราวุธ กล่าวย้ำว่า สำหรับประเพณีลอยกระทงที่ปีนี้ตรงกับวันที่ 31 ต.ค. 63 ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลสถิติปริมาณกระทงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ย้อนหลัง 8 ปี พบว่า ปริมาณกระทงมีแนวโน้มลดลง ปริมาณกระทงที่ทำจากโฟมก็มีแนวโน้มลดเช่นกัน ในทางกลับกัน กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติมีจำนวนมากขึ้น เมื่อเทียบปริมาณกระทงระหว่างปี 2561 และปี 2562 ปริมาณกระทงภาพรวมลดลงกว่า 339,000 ใบ หรือกว่า 40.33% และมีการใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติเพิ่มขึ้น

ทส.เผยขยะกระทงลดลง3แสนใบ กระทงโฟมลดลง 58.2% ดีขึ้นกว่าทุกปี

สิ่งเหล่านี้มิได้สะท้อนว่าคนไทยให้ความสำคัญกับประเพณีไทยน้อยลง แต่สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะจากสถิติจำนวนพี่น้องประชาชนที่ลอยกระทงมิได้ลดจำนวนลงแต่อย่างใด

“ประเพณีลอยกระทง เป็นสิ่งที่คนไทยยึดถือและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เราควรภูมิใจในการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม ที่เป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย หากแต่จากนี้ไป เราคงต้องสืบทอดประเพณีที่งดงามนี้ให้ดำรงอยู่ควบคู่กับสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์จากรุ่นสู่รุ่น ต่อไป”

 

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. กล่าวเสริมว่า ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรฯ พยายามรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ซึ่งได้รับการตอบรับและความร่วมมือจากประชาชน จิตอาสา และหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดี

สำหรับในช่วงเทศกาลลอยกระทงปีนี้ ตนอยากฝากถึงที่น้องประชาชนทุกคนร่วมกันรักษาประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างสมดุลและสมบูรณ์

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส.

ปี 2563 ทางกรุงเทพมหานครได้เตรียมพื้นที่สำหรับลอยกระทงไว้บริเวณท่าน้ำหลายพื้นที่ เช่น วัดโพธิ์, วัดอรุณฯ, วัดระฆังฯ, วัดกัลยาณมิตรฯ, สุขสยาม ณ ไอคอนสยาม เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรฯ ตนได้กำชับอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยในบริเวณที่เป็นจุดลอยกระทงที่เป็นพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานทั้งสอง ให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและให้คำแนะนำในการใช้วัสดุจากธรรมชาติไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมมาเป็นกระทงด้วย

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า พื้นที่ทะเลคือจุดสุดท้าย สำหรับกระทงตกค้างที่ไม่ถูกจัดเก็บ ซึ่งจะกลายเป็นขยะในทะเล แต่หากเป็นกระทงที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ ก็อาจจะย่อยสลายไปตามกาลเวลา หากเป็นโฟมหรือพลาสติกก็จะคงตกค้างอยู่ในทะเลนับร้อยปี ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและสัตว์ทะเลอย่างเป็นลูกโซ่

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)

 

ตนขอให้ทุกคนช่วยกันรณรงค์และร่วมกันแก้ไขเพื่อสมดุลของระบบนิเวศให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ตลอดไป

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน