วันที่ 10 ต.ค. เฟสบุ๊กเพจ “เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล” โพสต์แสดงความคิดเห็นกรณี อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม นักร้องดัง เตรียมออกวิ่งระดมเงินซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลในโครงการ “ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ” จากสุดเขตแดนใต้ สู่สูงสุดแดนสยาม

เริ่มต้นจาก อ.เบตง จ.ยะลา และสิ้นสุดที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย รวมระยะทาง 2,191 กิโลเมตร เริ่มออกสตาร์ท วันที่ 1 พ.ย.นี้ ที่ อ.เบตง จ.ยะลา และวิ่งติดต่อกัน 4 วันพัก 1 วัน และจะสิ้นสุดที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในวันที่ 25 ธ.ค.2560 รวมระยะเวลา 55 วัน พร้อมตั้งเป้าหมายยอดเงินบริจาคประมาณ 700 ล้านบาท

ความว่า #10ข้อที่ทำได้ #ถ้าอยากช่วยพี่ตูนมากกว่า 10 บาท #หรือคิดว่า10บาทไม่ช่วยอะไร หลายคนคงเห็นข่าวแล้ว ตูน กำลังจะเริ่มโปรเจคใหม่ ต่อจากปีที่แล้ว 10 วัน 400 กิโล จากกรุงเทพฯ ถึง บางสะพาน ปีนี้ เป็น เบตง ถึง แม่สาย เป้าหมายถึง 700 ล้าน คิดง่าย ๆ ว่า คนไทย 70 ล้านคน หากช่วยเพียงคนละ 10 บาท ก็พอแล้ว ทุกคนคงรู้ดีว่า เพียงแค่ 700 ล้าน หรือ ต่อให้ยอดบริจาคทะลุไปอีกเท่าตัว ก็แก้ปัญหาของ ระบบสาธารณสุขไทยไม่ได้ ลำพังเพียงแค่ รพ.ศิริราช แห่งเดียว ในปีที่ผ่านมาก็ขาดทุนไปแล้ว 700 ล้าน ปีก่อน รพ.ในสังกัด สธ.

มียอดเงินที่ต้องการความช่วยเหลือ 5,000 ล้านบาท อยากจะช่วย รพ. ช่วยตูน ผมจึงขอเสนอ แนวทาง 10 ประการ เพื่อช่วย ตูน อีกแรง ปีต่อ ๆ ไป จะได้ไม่ต้องมาวิ่งให้เหนื่อยอีก

ข้ามเรื่องพื้นๆ อย่าง ออกกำลังกาย กินอาหารมีประโยชน์ กินให้ครอบห้าหมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ ไปก่อนนะครับ (ท่องได้ตั้งแต่อนุบาลเนอะ ทำได้หรือเปล่า อีกเรื่อง -ฮา..)
คิดมาตั้ง 10 ข้อ เผื่อสำหรับทุกคน น่าจะมีสักข้อล่ะที่โดนที่เหมาะ ที่ทำได้

1. ดื่มไม่ขับ .. (ไม่ต้องรอถึงเมา)อุบัติเหตุเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย อันดับ 2 มาตลอดหลายปี (อันดับหนึ่งคือ มะเร็ง…) ว่ากันว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ ยอดผู้เสียชีวิตบนถนนของเราสูงกว่า จำนวนทหารของสหรัฐฯ ในสงครามที่อิรักเสียอีก ยอดรวมแต่ละปี 30,000 รายไม่รวมบาดเจ็บสาหัส พิการ ต้องผ่าตัด ต้องพักฟื้น อีกมากมาย จากยอดนี้ ราวๆ 35% เกี่ยวข้องโดยตรง กับการดื่มเครื่องดืมมึนเมา ดื่มได้ไม่ว่ากัน แต่ดื่มแล้วอย่าขับ จะลดค่าใช้จ่ายของ รพ. ไปได้มากมาย

2. กินยาให้ครบ อย่าทิ้งอย่าขว้าง ถ้าไม่กินให้บอก เก็บไว้ให้คนอื่นเถิด ในปี 2555 เคยมีโครงการ นำยาเหลือที่บ้าน มาแลกไข่ ผลปรากฏว่า ทำไปไม่กี่วัน ได้ยาคืน รพ. กว่า 2 ล้านเม็ด
มีการประเมินว่า ยาที่ค้างอยู่ตามบ้าน อาจจะมีมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านบาท!!! (หมอเองก็มีส่วนในปัญหานี้เพราะเราเองก็จ่ายยาเกินความจำเป็น เช่นกัน ลองช่วย ๆ กันคิดดูนะครับ)

3. ตรวจมะเร็งตามโปรแกรม ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องอาย (อย่างที่บอกไปในข้อ 1 คือ มะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่ง) ที่สำคัญเลย ผู้หญิง มะเร็งปากมดลูก กับ เต้านม เจอเร็วรักษาเร็ว หายได้ และเช่นกัน เมื่อเทียบกับตอนเป็นเยอะ ๆ แล้วมารักษา จะประหยัดเงิน รพ. ไปได้เยอะเลย ส่วนผู้ชาย งดบุหรี่ ลดมะเร็งปอด ตรวจไวรัสตับบีกันเถอะ รักษาเร็ว ป้องกันดี มะเร็งตับ ไม่ถามหา

4. เลิกเชื่อ ยารักษาโรคเกินจริง ยาครอบจักรวาล ยาตำรับลับ ยาชุดแสนมหัศจรรย์ กันเถิด นอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังสร้างผลเสียต่อสุขภาพตามมาอีก ถ้ามีเงินเหลือ ไม่รู้จะทำอะไร
เวลาไปหาหมอที่ รพ. เขาให้จ่าย 30 บาท ก็เอาเงินที่จะเอาไปซื้อยาขวดละพัน มาเทให้ รพ. ได้นะครับ ตำรวจไม่จับ

5. ฝากท้องให้ไว มาตรวจสม่ำเสมอจะท้องวัยรุ่น หรือ วัยตกรุ่น ก็มาฝากท้องกันตามนัด ตรวจสม่ำเสมอ ผลแทรกซ้อนจะได้ไม่มี หรือ มีก็จะได้ป้องกันได้ เด็กเกิดมามีคุณภาพ เรื่องนี้ ไม่ต้องกลัว มาตรวจบ่อยแล้ว รพ.จะเดือดร้อน หมอจะเหนื่อย คุณแม่ โผล่มาทีเดียวตอนน้ำเดิน หรือ โผล่มาแล้วเบ่งคลอดเลย นี่เหนื่อยและถ้าเกิดปัญหานี่รพ.เดือดร้อนกว่าเยอะเลย คลอดก่อนกำหนดที เด็กตัวเล็กที เด็กหอบ ติดเชื้อที ค่ารักษา (ที่ รพ.ต้องใช้จ่าย คนไข้ไม่ต้อง) นี่เป็นหมื่นเป็นแสนทันใด

6. เด็กเอ๋ย เด็กน้อย มารับวัคซีนกันให้ครบ วัคซีนประเทศเรา ปลอดภัยสุด ๆ แล้ว (เพราะที่อื่นเขาอัพเดต ตัวใหม่ ๆ กันไปนานแล้ว เราใช้แบบดั้งเดิมมานาน ก็โตกันมา จากหัวดำ กลายเป็นหัวหงอกหรือ หัวล้าน กันเต็มเมืองนี่แหละ หนู ๆ) ถ้าความเชื่อเรื่อง ต่อต้านวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีโอกาส โรคเก่าๆ กลับมา นี่ก็เตรียมตัว เจ๊ง ก็อีกรอบ

7. หาหมอใกล้บ้าน สถานพยาบาลใกล้ตัวไว้ก่อน โรคเล็กๆ น้อยๆ ไป รพ.สต. (อนามัย) ก่อนโรคไหนที่ รพ. ส่งตัวกลับให้รักษาใกล้บ้านได้ ก็เชื่อ และมั่นใจในหมอใกล้บ้านด้วย ระบบค่าใช้จ่ายลดลง หน่วยงานได้พัฒนาตัวเอง และปรับปรุงไปเรื่อยๆ ลดความแออัดใน รพ.ใหญ่ๆ ลดค่าตรวจ ค่าใช้จ่าย ที่ไม่จำเป็นได้เยอะเลย

8. เมื่อใดก็ตามมีเพศสัมพันธ์ หากคนนั้นไม่ใช่ สามี หรือ ภรรยาของเรา โปรดใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กลุ่มชายรักชาย นอกจากจะป้องกันทุกครั้ง ควรจะตรวจเลือดหาเชื้อ HIV อย่างสม่ำเสมอ เพราะเป็นได้เสมอ ติดได้เสมอ นี่คือเรื่องจริงที่เจอในคลินิกทุกวันนี้ 50% ของผู้ป่วยรายใหม่ คือ กลุ่มชายรักชาย และแม้จะบอกว่าป้องกันทุกครั้งก็ยังติด (จากงานวิจัย ขนาดกลุ่มทดลองที่ให้ความรู้เรื่องการป้องกันเป็นอย่างดีโอกาสติดก็ยังสูงเกือบครึ่งในหนึ่งปี) คงไม่ต้องบอก ใช่ไหมว่า ถ้าติดขึ้นมาแล้ว รักษาได้ก็จริง แต่ต้นทุนลำพังค่ายาตลอดชีวิต ก็คิดคำนวนมูลค่าไม่ถูกแล้วแต่ ยังไงรีบตรวจ รีบเจอก็รักษาได้ แข็งแรงได้ เป็นแรงและพลังให้ประเทศได้นะครับ

9. เมื่อถึงเวลา ถึงอายุขัย โปรดไปให้ไปอย่างสงบ อ้างอิงจาก ข้อมูลในสหรัฐฯ โครงการประกันสุขภาพ ต้องจ่ายเงินไปไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือ 5 หมืานล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นค่ารักษาในช่วง 2 เดือนสุดท้าย ก่อนคนไข้เสียชีวิต โดยประมาณกันว่า ร้อยละ 20-30 ของค่าใช้จ่ายทางการแพทย์เหล่านี้ อาจไร้ประโยชน์ในด้านการรักษา (ด้วยเวลาอันน้อยนิดผมยังหาข้อมูลในไทยไม่เจอ แต่เท่าที่จำได้ก็มีการเก็บข้อมูลเหมือนกันประมาณว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนคนหนึ่งตลอดชีวิต ถูกใช้ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย ราว 30 เปอร์เซนต์ ซึ่งข้อนี้ คงต้องพูดกันในรายละเอียด
อีกว่าแค่ไหน อย่างไร หรือจุดไหน ที่เราใช้ไปอย่างเปล่าประโยชน์ รักษา, ยื้อ ต่อไปเพื่อความสบายใจเท่านั้น ซึ่งไม่ง่ายเลย บทบาทของหมอในเรื่องนี้ก็สำคัญมาก…)

10. สุดท้ายแล้ว จาก 9 ข้อ คิดว่าข้อนี้เป็นข้อเดียว ที่ทุกคนมีสิทธิ์ทำได้ เท่าๆ กัน ก็คือการช่วยกัน ส่งเสียงให้ผู้มีอำนาจรู้ทีเถอะว่าสุขภาพของประชาชน นั้นสำคัญมากกกก. เพราะนี่คือ พื้นฐานของสุขภาพสังคม สุขภาพทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ สำคัญ กว่า …. และ จุด ๆ ๆ ช่วยผมเติมเอาก็แล้วกัน

 

ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊กเพจ “ก้าว”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน