จากกรณีมีการขาย “ห่วงรัดจู๋” เพื่อให้อวัยวะเพศใหญ่ขึ้น เป้าตุง และคงการแข็งตัว ในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ ซึ่งถือว่ามีอันตรายเพราะทำให้องคชาติเน่าและไม่อาจแข็งตัวได้อีก ยังพบว่ามีการขายยารักษาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ “ซิเดกรา” ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) กันอย่างโจ๋งครึ่ม โดยมีทั้งการขายยาแบบเดี่ยวและเป็นแพ็กเกจคู่กับห่วงรัดเป้า

วันนี้ (18 ต.ค.) นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า อภ.เคยแจ้งตำรวจและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปแล้วถ กรณีมีการแอบอ้างขายยาซิเดกราทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งเข้าใจว่าขณะนี้คงอยู่ในระหว่างกระบวนการตรวจสอบของทางเจ้าหน้าที่อยู่ อย่างไรก็ตาม ค่อนข้างมั่นใจว่าที่ขายอยู่ในอินเทอร์เน็ตหรือทางโซเชียลมีเดีย ไม่น่าจะเป็นยาซิเดกราของ อภ.จริง น่าจะเป็นยาปลอมที่ทำเลียนแบบผลิตภัณฑ์มากกว่า ซึ่งเท่าที่ได้รับรายงานถือว่า ทำได้ใกล้เคียง แต่ไม่เหมือน โดยที่ขายทางอินเทอร์เน็ตจะมี 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เลียนแบบทั้งกล่องผลิตภัณฑ์ และกลุ่มที่เลียนแบบเฉพาะตัวยา แล้วใส่ถุงขาย ซึ่งการขายยาทางอินเทอร์เน็ตถือว่าอันตรายและผิดกฎหมาย เพราะไม่เห็นยาจริงและไม่มีเภสัชกรแนะนำเรื่องการใช้ยา

“ขอยืนยันว่า อภ.ไม่มีการขายยาซิเดกราทางอินเทอร์เน็ตแน่นอน เพราะยาดังกล่าวถือเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องขายโดยเภสัชกรเท่านั้น และจะขายได้ต้องมีใบสั่งแพทย์ สำหรับการผลิตและจำหน่ายยาซิเดกราของ อภ.นั้น เมื่อผลิตแล้วจะกระจายยาไปใน 3 ช่องทางคือ 1.โรงพยาบาลสั่งซื้อ 2.ผู้แทนจำหน่าย และ 3.ลูกค้ามาซื้อจากร้านค้าปลีกของ อภ.เอง แต่ยืนยันว่าการจำหน่ายต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น จึงขอเตือนประชาชนว่าไม่ควรซื้อยาใดๆ ทั้งสิ้นทางอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดีย เพราะอาจได้รับอันตรายได้” นพ.นพพร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการป้องกันยาซิเดกราปลอม นพ.นพพร กล่าวว่า อภ.ผลิตยาซิเดกราขึ้น โดยมีราคาถูกกว่า เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงง่ายขึ้น ลดปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งผลปรากฏว่าก็สามารถลดการลักลอบนำยาเสมริมสมรรถภาพทางเพศจากต่างประเทศมาจำหน่ายได้ส่วนการปลอมยาซิเดกรานั้นเชื่อว่า หากเป็นยารักษาสมรรถภาพทางเพศตัวอื่นๆ ที่มีราคาแพงแล้วนำมาปลอมขายราคาถูกคนอาจจะไม่เชื่อ เลยนำยาของ อภ.มาปลอมจำหน่ายมากกว่า ส่วนข้อสงสัยว่าจะมีการหลุดรอดของยาจริงจากระบบหรือไม่นั้น ตรงนี้ก็ประสานให้ทาง อย.ช่วยตรวจสอบต้นตอการจำหน่ายทางอินเทอร์เน็ตชัดๆ ว่า เป็นยาของเราหลุดออกมาจริงหรือไม่ หลุดมาจากไหน จากผู้แทนจำหน่าย หรือคนของ อภ.เองหรือไม่ หรือเป็นการปลอมยาขึ้น แต่ อภ.ค่อนข้างมั่นใจว่าน่าจะเป็นยาปลอมมากกว่า เพราะจากสต๊อกยาก็ไม่มีความผิดปกติแต่อย่างใด

นพ.นพพร กล่าวว่า การปลอมยารักษาสมรรถภาพทางเพศถือว่ามีอันตรายมาก เพราะยาปลอมจะมีทั้งรูปแบบที่ผสมยารักษาสมรรถภาพทางเพศแบบเล็กน้อย และมีแบบผสมมากขนาด 200 มิลลิกรัม เป็นต้น ซึ่งการรับยาเกินขนาดถือว่าอันตราย นอกจากนี้ ยังเสี่ยงรับอันตรายจากกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน สารพิษตกค้างด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน