เรียกเสียงฮือฮาในแวดวงตลาดหุ้นตั้งแต่ต้นปี เมื่อ “ต๊อบ เถ้าแก่น้อย” หรือ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ วัย 36 ปี ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN และครอบครัว ที่ประกอบด้วย ณัชชัชพงศ์ พีระเดชาพันธ์ และ อรพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ซึ่งเป็นพี่ชายและพี่สาวของ “ต๊อบ” ทยอยขายหุ้น TKN ระหว่างวันที่ 20-22 มกราคม รวมแล้ว 11.75 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.85% ของหุ้นทั้งหมด มูลค่ารวม 138.31 ล้านบาท

ความเคลื่อนไหวที่คึกคักของหุ้น TKN ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนำหุ้น TKN ขึ้นบัญชีหุ้นที่ต้องซื้อขายด้วยเงินสด (Cash Balance – ผู้ซื้อหุ้นนี้ต้องใส่เงินสดเต็มจำนวนไว้กับโบรกเกอร์ถึงจะซื้อหุ้นนี้ได้ และเมื่อทำการสั่งซื้อหุ้นก็จะมีการหักเงินออกจากบัญชีทันที) ระหว่างวันที่ 25 มกราคม – 5 มีนาคม 2564 เนื่องจากพบการซื้อขายสูงผิดปกติในช่วงที่ผ่านมา

ท่ามกลางการคาดเดาหนาหู จิระพงษ์ สันติภิรมย์กุล รองกรรมการผู้จัดการ TKN ได้ออกมาสยบข่าวลือว่า การขายหุ้นของครอบครัวพีระเดชาพันธ์ เป็นการทำรายการบนกระดานปกติในช่วงที่ราคาปรับตัวขึ้น ไม่ได้เป็นการขายหุ้นเพื่อเปิดทางให้พันธมิตรเข้ามาถือหุ้นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมจำนวนหุ้นทั้งหมดแล้ว ครอบครัวพีระเดชาพันธ์ก็ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ TKN อยู่นั่นเอง

 

“ต๊อบ อิทธิพัทธ์” จากเด็กติดเกมส์สู่เจ้าของแบรนด์สาหร่ายพันล้าน

ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน “ต๊อบ” คือวัยรุ่นที่เป็นแรงบันดาลใจแห่งยุคเลยก็ว่าได้ จากเด็กที่ผลการเรียนย่ำแย่ แต่ชอบเล่นเกมส์จนทำเงินจากเกมส์ได้สูงสุดเดือนละ 4 แสนบาท ต่อมาด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี ประกอบกับครอบครัวมีหนี้สินกว่า 40 ล้านบาท “ต๊อบ” ในวัย 18 ปี จึงต้องพลิกชีวิตไปขายเกาลัดซึ่งเป็นสิ่งที่เขาชอบรับประทาน

เกาลัดสร้างรายได้งามให้ “ต๊อบ” จนสามารถขยายร้านไปได้กว่า 30 สาขา ขณะเดียวกัน เขาก็เอา “สาหร่าย” มาวางขายควบคู่ไปด้วย เพื่อตอบโจทย์สาวออฟฟิศที่ต้องการรับประทานของว่างที่ไม่อ้วน ปรากฏว่าท้ายสุดกลับเป็นสาหร่ายที่ทำรายได้สูงกว่า

จากจุดนั้น “ต๊อบ” จึงขายร้านเกาลัดออกทีละแห่ง ได้เงินมาราว 6 ล้านบาท นำไปสร้างโรงงานผลิตสาหร่ายยี่ห้อ “เถ้าแก่น้อย” วางขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จนสาหร่ายเถ้าแก่น้อยขึ้นแท่นเป็นสินค้าขายดี

ส่วน “ต๊อบ” ก็เป็นที่รู้จักในฐานะ “วัยรุ่นพันล้าน” สร้างฐานะและบริษัทให้มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถนำ TKN เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และทำการซื้อขายวันแรกในเดือนธันวาคม 2558

นอกจากสินค้าขึ้นชื่ออย่างสาหร่ายที่ส่งขายไปกว่า 40 ประเทศทั่วโลกแล้ว TKN ยังมีหลายบริษัทย่อยที่แตกไลน์ทำธุรกิจอื่นๆ ทั้ง “เถ้าแก่น้อยแลนด์” ไว้เป็นช่องทางกระจายสินค้าแบบ B2C (เจ้าของธุรกิจถึงผู้บริโภครายย่อย) “ฮิโนยะ เคอรี่” แฟรนไชส์ข้าวแกงกะหรี่จากประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งสินค้าเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

“ถ้าถามว่าความยากของคนที่จะเริ่มธุรกิจคืออะไร สำหรับผมแล้วคือ ‘ความอยาก’ ถ้าไม่มีแล้วก็ไม่อยากเสี่ยง ไม่อยากเหนื่อย การไม่มีแพชชั่นหรือความอยากเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการเป็นเจ้าของกิจการ ถ้ามีปุ๊บ เดี๋ยวทุกอย่างมาเอง และทุกครั้งที่เราเผชิญความยากในแต่ละอย่าง ถ้าเราอยากจะทำ เราก็จะกระตือรือร้นที่จะสืบหาว่าใครเก่งด้านนั้นด้านนี้ พยายามที่จะเข้าไปคุย แพชชั่นจะไดรฟ์เราเอง” “ต๊อบ” เคยกล่าวไว้

 

วิกฤตโควิด ทำรายได้ TKN ทรุด

รายได้ของ TKN อยู่ในช่วงขาขึ้นแทบจะตลอด โดยเฉพาะปี 2560-2562 ที่ TKN ทำรายได้เกิน 5 พันล้านบาททุกปี ไล่ตั้งแต่ 5,283.13 ล้านบาท 5,697.41 ล้านบาท และ 5,297.33 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิกลับลดลง คือ 608.44 ล้านบาท 459.18 ล้านบาท และ 366.24 ล้านบาท

แต่ TKN ก็ยังเดินหน้าได้ดีต่อเนื่อง เพราะตลาดหลักคือตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย อย่าง จีน ที่เป็นแฟนสินค้าเถ้าแก่น้อยอย่างเหนียวแน่น

จนกระทั่งโควิด-19 มาเยือนในปี 2563 ซึ่ง TKN ก็ได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้

TKN มีรายได้รวม 9 เดือนแรกของปี 2563 อยู่ที่ 3,114.78 ล้านบาท ตีเป็นรายได้สุทธิจากการขายที่ 3,100 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขอย่างหลังลดลง 19% (จาก 3,850 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562

รายได้สุทธิจากการขาย 9 เดือนแรกของปี 2563 ที่ 3,100 ล้านบาท มีสัดส่วนการขายในประเทศ 31% ตีเป็น 961 ล้านบาท และส่งออกต่างประเทศ 69% ตีเป็น 2,139 ล้านบาท ซึ่งตลาดต่างประเทศแบ่งได้เป็นตลาดจีน 40% หรือ 1,229 ล้านบาท และตลาดต่างประเทศอื่นๆ 29% หรือ 909 ล้านบาท

เมื่อแยกย่อยลงไปอีก พบว่ารายได้จากการขายในประเทศลดลง 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนรายได้จากการขายในตลาดต่างประเทศลดลง 5% ในจำนวนนี้ ตลาดจีนเติบโตลดลง 9% ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกากลับเติบโตขึ้นกว่า 35% ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถหนุนให้สัดส่วนรายได้จากการขายในตลาดต่างประเทศอยู่ในภาวะทรงตัวได้

ตัวเลขสัดส่วนที่ลดลง เป็นผลสำคัญจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน เพราะแม้สินค้าของ TKN จะขายในประเทศ แต่กลุ่มลูกค้าหลักคือนักท่องเที่ยว ขณะที่ตลาดต่างประเทศนั้น ตลาดหลักของ TKN คือจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักก่อนใคร

กลยุทธ์หนึ่งในการแก้เกมเพื่อกู้รายได้ของ TKN จึงเป็นการอิงกับการเติบโตของตลาดชานมในเมืองไทย ด้วยการเป็นพันธมิตรกับแบรนด์ชานม “ฉุน ชุ่ย เฮ้อ” จากไต้หวัน เปิดตัวเครื่องดื่มชานมยี่ห้อ “จัสท์ ดริ้งค์” วางขายในเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยใช้ร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ที่มีกว่าหมื่นสาขาทั่วประเทศ เป็นช่องทางกระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภค

แม้จะเผชิญวิกฤต แต่ “ต๊อบ” เคยให้สัมภาษณ์ตั้งเป้าว่า จะพา TKN ทะยานสู่รายได้หมื่นล้านบาทให้ได้ภายใน 5 ปี

กลยุทธ์การเทขายหุ้นที่สร้างความฮือฮาเมื่อไม่กี่วันก่อน จึงอาจเป็นการถอยเพื่อเดินหมากรุกหนักต่อไปก็เป็นได้

 

อ้างอิง : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, เว็บไซต์ TKN

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน